ภาคประชาชน ร่วมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายการถึงยากัญชาของผู้ป่วย ด้านการปลูก/ผลิต/แปรรูป และด้านการวิจัย ย้ำควรมีสิทธิได้รู้ข้อมูลการรักษา การเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ แพทย์แผนไทยมีความรู้รักษา ควรให้กัญชาอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพ
วันนี้ (25 มิ.ย.) ในการประชุมระดมความเห็น “รู้ทันกัญชา คลายปมปัญหา เดินหน้าเพื่อประชาชน” จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้มีข้อเสนอจากภาคประชาชน เรื่อง การเข้าถึงยาของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญและไม่ควรถูกปิดกั้น โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยใช้การรักษาแบบอื่นไม่ได้ผลแล้ว และมีหลักฐานทางการแพทย์ว่าการใช้กัญชาอาจได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม กัญชาควรถูกมองเป็นยาที่มีทั้งประโยชน์และโทษ ต้องใช้เมื่อมีข้อบ่งใช้อย่างระมัดระวัง
ทั้งนี้ มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ 1.ผู้ป่วยมีสิทธิในการได้รับข้อมูลด้านการรักษาด้วยกัญชา และต้องสามารถเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้ 2.ส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาหมอชาวบ้าน ในการรักษาด้วยกัญชา 3.ควรมีระบบควบคุม ป้องกันไม่ให้เกิดการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม 4.ควรให้กัญชาเป็นยาที่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ขณะที่ ด้านการปลูก ผลิต แปรรูป มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ 1.ให้ผู้ป่วยสามารถปลูกกัญชาได้ ทั้งนี้ อาจปลูกได้โดยการรวมกลุ่มหรืออยู่ในรูปของวิสาหกิจชุมชนที่เกิดขึ้นจริง โดยมีกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่เหมาะสม เช่น ชุมชนสีขาวปลอดยาเสพติด จึงจะให้ปลูกกัญชาได้ 2.พัฒนาสายพันธุ์ไทย และพัฒนาวิธีการปลูกที่มีคุณภาพมาตรฐาน ที่ชุมชนสามารถปลูกและนำไปใช้ได้ โดยร่วมมือกับกรมแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัย 3.พัฒนาโมเดลการปลูกที่เหมาะสมในชุมชน เช่น การให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นศูนย์กลางการปลูก ผลิต และใช้อย่างปลอดภัยในพื้นที่ และพัฒนาโมเดลของการรวมกลุ่มในพื้นที่เขตเมือง
4. ให้รัฐบาลเร่งสนับสนุนและเร่งผลักดัน การรวมกลุ่มของผู้ป่วยหรือวิสาหกิจชุมชนในการเพาะปลูกกัญชาอย่างจริงจัง และควบคุมอย่างรัดกุมในทุกๆขั้นตอน 5.ควรให้ความรู้ด้านการผลิต สกัด และใช้กัญชา โดยหน่วยงานของรัฐให้แก่ผู้ต้องการปลูก ผลิต แปรรูป ที่ได้รับอนุญาตพร้อมทั้งจัดระบบรับซื้อจากภาคประชาชนอย่างครบวงจร เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาที่ง่ายและราคาถูก และปรับปรุงตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม 6. มีศูนย์กลางกระจายความรู้ให้ประชาชนที่ปลูกเพื่อการค้าและกระจายศูนย์ควบคุมไปพร้อมๆกันเพื่อป้องกันการใช้หรือจำหน่ายที่ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ควรกระจุกอำนาจการควบคุมหรือจำหน่ายอยู่ที่ใดที่หนึ่ง
ด้านการศึกษาวิจัย มีข้อเสนอดังนี้ 1.วิจัยทางคลินิก ในการรักษาโรคที่ยังไม่รับรอง เช่น เบาหวาน ความดัน ซึมเศร้า สะเก็ดเงิน โรคตา 2. การทดสอบทางห้องปฏิบัติการ ในการพิสูจน์เอกลักษณ์ของกัญชา ปริมาณสารสำคัญและสารปนเปื้อนที่อาจมีในกัญชา ทีราคาเหมาะสม 3. วิจัยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม