xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาประเทศไทย End Game บุหรี่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทีม Avengers ได้เผด็จศึกธานอสในภาพยนตร์ไปเรียบร้อยแล้ว ถึงเวลาที่ประเทศไทยก็ต้อง End Game หรือเผด็จศึกกับบุหรี่บ้าง ซึ่ง ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ฝากให้ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 "Tobacco and Lung Health" ให้ร่วมกันคิดถึงมาตรการ End Game

ทำไมถึงต้อง End Game

ดร.สุปรีดา ระบุว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถลดอัตราการบริโภคยาสูบลงได้อย่างต่อเนื่อง แต่ช่วงทศวรรษหลังอัตราการลดการบริโภคยาสูบกลับฝืดลง จึงต้องหามาตรการใหม่ๆ มากระตุ้นในเรื่องของการลดการบริโภคยาสูบ ซึ่งขณะนี้ในระดับโลกเองก็มีการประชุมและพูดถึงเรื่องของการ End Game บุหรี่ขึ้นมาเช่นกัน เพื่อหามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมจากมาตรการที่ทำอยู่ เพื่อให้เกิดการลดการบริโภคยาสูบลงได้มากที่สุด

แล้วประเทศไทยควรเผด็จศึกแล้วหรือไม่

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า หากดูจากอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทย โดยผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่เก็บข้อมูลในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ล่าสุดปี 2560 พบว่า มีคนไทยสูบบุหรี่ทั้งสิ้น 10.7 ล้านคน คิดเป็น 19.1% เพศชายมีอัตราการสูบบุหรี่ 37.7% ผู้หญิง 1.7% หรือเพศชายสูงกว่าเพศหญิง 22 เท่า ขณะที่อัตราการเสียชีวิตยังอยู่ที่ 55,000 รายต่อปี ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งกำไรจากภาษีบุหรี่ก็ไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เสียไป โดยบุหรี่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่ภาระโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นอันดับหนึ่ง ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องช่วยเหลือคนอีก 10.7 ล้านคนที่ยังติดบุหรี่อยู่ให้เลิกให้ได้ เพราะส่งผลต่อสุขภาพแน่นอน รวมถึงประชากรอีกจำนวนมากที่ไม่สูบบุหรี่ ให้ไม่กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะเยาวชน และไม่เกิดผลกระทบสุขภาพจากการรับควันบุหรี่มือสองและมือสาม

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ในงานประชุมวิชาการบุหรี่ฯ จึงอยากมาชวนให้ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมกันคิดว่า จะ End Game บุหรี่อย่างไร ซึ่งหากเราคิดที่จะ End Game ก็จะช่วยให้เราเกิดมาตรการควบคุมบุหรี่ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น แต่ประเด็นสำคัญ คือ จะต้องมาตั้งเป้าหมายกันก่อนว่า จะลดอัตราการสูบบุหรี่ลงให้เหลือเท่าไร ซึ่งแน่นอนว่าให้ลดลงเป็นศูนย์คงเป็นเรื่องยาก อาจจะตั้งที่ 5% หรือ 15% ก็แล้วแต่ประเทศจะเลือกเป้าหมายอย่างไร จากนั้นจึงมาหามาตรการเพิ่มเพื่อจะไปถึงเป้าหมาย

"มาตรการที่จะใช้ End Game ต้องมาดูก่อนว่าประเทศมีการใช้มาตรการอะไรไปแล้วบ้าง และยังเหลือมาตรการอะไรอีกบ้างที่จะพาเราไปถึงจุดจบได้ เช่น สิงคโปร์มีการขยายอายุการห้ามสูบบุหรี่ออกไป ซึ่งประเทศไทยนำมาใช้ได้ โดนขยับอายุคนห้ามสูบบุหรี่ออกไปทุกปี อย่างไทยกำหนดห้ามสูบบุหรี่ต่ำสุด คือ 20 ปี ก็เพิ่มเป็น 21 ปี แล้วปีถัดไปก็ขยับไปที่ 22 ปี เพิ่มไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งที่คิดว่าจะป้องกันคนอีกรุ่นได้ ซึ่งถือเป็นมาตรการที่รุนแรง ดังนั้น การเมืองก็ต้องมีเจตจำนงที่แรงพอที่จะผลักดันด้วย หรืออาจจะใช้มาตรการจำกัดผลิตภัณฑ์ยาสูบให้มีการตลาดลดลงเรื่อยๆ เป็นต้น" ดร.สุปรีดา กล่าว

ดร.สุปรีดา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังต้องแก้อุปสรรคที่ขัดขวางการลดการบริโภคยาสูบลงด้วย ซึ่งอุปสรรคหลักๆ ของประเทศไทย ยังคงเป็นเรื่องของการสูบบุหรี่แบบมวนเองหรือยาเส้น เพราะเมื่อออกมาตรการทางภาษีเพื่อขึ้นราคาบุหรี่คนก็หันไปหายาเส้น ซึ่งราคาไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ก็ต้องแก้ปัญหาจุดนี้ รวมถึงเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นขึ้น เรื่องของโครงสร้างบุคลากรโดยเฉพาะระดับจังหวัด อย่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่ยังเน้นเรื่องของโรคติดต่อและการรักษาอยู่ โดยตำแหน่งที่เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอาจมีแค่คนเดียวและไม่เจริญก้าวหน้า ก็ต้องปลดล็อกในส่วนตรงนี้ด้วย

มาตรการ End Game ยังต้องฝากหลายฝ่ายในการช่วยคิด แต่เบื้องต้นที่น่าจะนำร่องได้ก่อน คือ การห้ามสูบบุหรี่ในบ้าน ซึ่งล่าสุดกฎหมายจะมีผลบังคับใช้แล้วว่า การสูบบุหรี่ในบ้านนั้นผิดกฎหมายสามารถเอาผิดได้

ทั้งนี้ ในการประชุมวิชาการบุหรี่ฯ ได้มีการแถลงข่าว "บ้านปลอดบุหรี่ ลดความรุนแรงต่อสุขภาพ" โดย นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการออก พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน คือ วันที่ 20 ส.ค. 2562 ซึ่งการสูบบุหรี่ในบ้านจะสามารถเอาผิดได้ในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว เพราะถือเป็นการอันตรายต่อสุขภาพ เมื่อมีการแจ้งมายัง พม.ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปพิสูจน์ว่า ได้รับผลกระทบจากบุหรี่จริงหรือไม่ หากจริงก็จะส่งฟ้องศาล ซึ่ง 1 คดีจะส่งขึ้น 2 ศาล คือ คดีอาญาเรื่องของการทำความรุนแรง และศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อสั่งให้ผู้สูบแยกจากผู้รับผลกระทบ และให้บำบัดรักษา เพื่อเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพ

นายเลิศปัญญา กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นการบังคับใช้ภายในครอบครัวเท่านั้น ดังนั้น หากข้างบ้านสูบบุหรี่แล้วมากระทบกับบ้านตัวเอง เช่นนี้ไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว อาจจะต้องใช้กฎหมายอื่นในการเข้ามาดูแล

สอดคล้องกับ รศ.นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ที่ระบุว่า ควรมีการใช้กฎหมายฉบับอื่นในการเอาผิด เช่น อยู่คอนโดเดียวกัน หรือยูนิตร่วมกันอย่างอพาร์ทเมนท์ อาจจะต้องใช้กฎหมายในเรื่องของการทำร้ายผู้อื่น ส่วนเรื่องของกฎหมายคุ้มครองครอบครัวฉบับใหม่นี้ บุคลากรทางการแพทย์ต้องเข้ามาช่วยเหลือในการช่วยแจ้งหากตรวจสอบพบว่า เด็กที่มารักษาหรือมารับวัคซีนมีประวัติคนในครอบครัวสูบบุหรี่ เพราะสามารถตรวจปัสสาวะเพื่อดูสารพิษที่เกิดจากบุหรี่ได้ หากเด็กได้รับผลกระทบควรแจ้ง พม.ให้ดำเนินการ มิเช่นนั้นจะเข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่

คงต้องมารอดูกันว่า หลังจากนี้จะมีมาตรการเด็ดๆ อะไรออกมาเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบอีก ซึ่งทางที่ดีต้องเร็วและไว เพราะอุตสาหกรรมยาสูบก็สู้ศึกด้วยการรุกออกนวัตกรรมหรือมาตรการจูงใจใหม่ๆ มาตลอดเช่นกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น