อภ.เก็บเกี่ยวดอกกัญชาตัวเมียแล้ว หลังซูมชัดๆ ด้วยแว่นกำลังขยาย 100 เท่า สี "ไตรโคม" ของดอกมีสารสำคัญแล้ว เผยเตรียมผึ่งให้แห้ง ก่อนนำไปผลิตสารสกัด "น้ำมันกัญชา" ระดับเมดิคัลเกรด ใช้หยดใต้ลิ้น เพื่อดำเนินการวิจัยร่วมกรมการแพทย์ใน ก.ค.นี้
วันนี้ (19 มิ.ย.) นพ.โสภณ เฆมธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการปลูกและสกัดกัญชา ว่า ขณะนี้ต้นกัญชาเจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่ พร้อมเก็บเกี่ยวนำเข้าสู่กระบวนการผลิตแล้ว โดยวันนี้ได้เริ่มเก็บเกี่ยวดอกกัญชาตัวเมีย พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการสกัดผลิตเป็นน้ำมันหยดใต้ลิ้น โดยล็อตแรกนี้จะทยอยส่งให้กรมการแพทย์นำไปใช้รักษาผู้ป่วยในโครงการรักษาด้วยช่องทางพิเศษ (Special Access Scheme : SAS) และเก็บข้อมูลการวิจัยควบคู่กันไป ในกลุ่มโรคที่สารสกัดกัญชาได้ประโยชน์ในการรักษาโดยมีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนชัดเจน ได้แก่ ผู้ป่วยภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากในเด็กและโรคลมชักที่ดื้อยา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทที่ใช้วิธีการรักษาอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล
นพ.โสภณ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการศึกษาวิจัยเชิงลึก ที่ต้องมีการศึกษาวิจัยทั้งทางห้องปฏิบัติการ การวิจัยทางพรีคลินิก และการวิจัยทางคลินิก กับผู้ป่วยกลุ่มโรคที่สารสกัดกัญชาน่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ แต่ต้องมีข้อมูลทางวิชาการเพิ่มในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผล อาทิ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวล ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายรวมทั้งกลุ่มโรคที่สารสกัดกัญชาอาจ มีประโยชน์ เช่น การรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ทั้งนี้ สารสกัดน้ำมันกัญชาที่สกัดได้ในครั้งนี้จะนำไปใช้กับกับผู้ป่วยผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนนิรโทษกรรมไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีความจำเป็นต้องใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกรที่ผ่านการอบรมของกรมการแพทย์
ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา อภ. กล่าวว่า ลักษณะของกัญชาที่มีความเจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่นั้นจะมีไตรโคมที่มีลักษณะคล้ายเรซิ่นใสเมื่อมีความสมบูรณ์เต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น พร้อมเก็บเกี่ยว โดยไตรโคมเป็นส่วนสำคัญที่สุดของต้นกัญชา ที่สะสมสารสำคัญของกัญชาที่ประกอบด้วย THC และ CBD และสารอื่นๆ อีกกว่า 400 ชนิด สำหรับขั้นตอนในการเก็บเกี่ยวนั้น ก่อนที่จะมีการเก็บเกี่ยวองค์การฯจะต้องมีการตรวจสอบสีของไตรโคม ด้วยแว่นขยายไม่น้อยกว่า 100 เท่า เพื่อให้เกิดความแม่นยำ จากนั้นนำไปผึ่งให้แห้งภายในห้องสะอาดที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นที่เหมาะสม จากนั้นนำไปสกัดด้วยกระบวนการมาตรฐานตามหลักเกณฑ์และวิธีการผลิตยาที่ดีหรือ GMP ( Good Manufacturing Practice ) ผลิตเป็นสารสกัดน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น ทยอยส่งให้กรมการแพทย์ภายในเดือนกรกฎาคมนี้