สถาบันประสาทฯ เตรียมวิจัย "น้ำมันกัญชา" บรรเทาอาการลมชักในเด็ก-กล้ามเนื้อหดเกร็งผู้ป่วยปลอกหุ้มประสาทอักเสบ ส่วนกลุ่มพาร์กินสัน สมองเสื่อมมีโรคจิต และปวดเส้นประสาทใบหน้า ต้องวิจัยเทียบยาจริงยาหลอก ย้ำแค่บรรเทาอาการไม่ได้รักษาให้หายขาดได้ เล็งวางเกณฑ์จ่ายยากัญชา
พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวถึงการศึกษาการใช้น้ำมันกัญชารักษาโรคทางระบบประสาท ว่า การศึกษาจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.การใช้กัญชารักษาโรคที่มีงานวิจัยรองรับแล้วว่ามีประโยชน์ คือ ลมชักในเด็กที่ดื้อต่อการรักษา และภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกหุ้มประสาทอักเสบส่วนกลาง ในส่วนนี้ไม่ใช่การวิจัยศึกษาเปรียบเทียบ แต่จะเป็นการให้ยากัญชาในผู้ป่วย ร่วมกับการใช้ยารักษาปัจจุบันควบคู่กันไป เพื่อดูประสิทธิภาพในการบรรเทาโรคและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น
พญ.ทัศนีย์ กล่าวว่า และ 2.กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ ซึ่งควรมีข้อมูลวิชาการสนับสนุนหรือวิจัยเพิ่มเติม ในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผลเพื่อสนับสนุนการนำมาใช้ โดยจะศึกษาวิจัยใน 3 โรค คือ โรคพาร์กินสันที่ควบคุมอาการไม่ได้ , โรคสมองเสื่อมที่มีโรคจิตหรือภาวะทางจิตร่วมด้วย และปวดเส้นประสาทใบหน้า โดยทั้ง 3 โรคจะต้องมีการนำเข้าสู่กระบวนการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบเคสผู้ป่วยที่ได้รับยาจริง ยาหลอก ก่อนจะนำมาแปรผล และสรุปผล
"ทั้ง 2 กลุ่มเป็นการศึกษาเพื่อดูประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการจากโรค ยังไม่ใช่เรื่องการรักษาให้หายขาดจากโรค เหมือนกรณีผู้ป่วยเนื้องอกในสมอง จะมีอาการปวดมากๆ เราให้ยาพาราเซตามอลก็เพื่อลดอาการปวด ไม่ได้ไปแก้ปัญหาเนื้องอกในสมองซึ่งเป็นต้นเหตุ การรักษาต้นเหตุ คือ ต้องตัดเนื้องอกออก เป็นต้น สำหรับยากัญชาที่ใช้จะมีสูตรที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละโรค ตอนนี้ยังไม่สามารถกำหนดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้าสู่โครงการได้ เพราะยังไม่ทราบว่า น้ำมันกัญชาที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะจัดสรรให้มีจำนวนเท่าไร เพราะที่ระบุว่าล็อตแรก 2,500 ขวดก็ไม่ได้ให้สถาบันประสาทวิทยาแห่งเดียว แต่จะกระจายให้หลายหน่วยงาน หากทราบรายละเอียดตรงนี้ก็จะสามารถกำหนดให้ชัดเจนและเดินหน้าโครงการได้ โดยจะไม่เริ่มจนกว่าจะได้ยามา เบื้องต้นคาดว่าน่าจะ ก.ค.หรือ ส.ค." พญ.ทัศนีย์ กล่าว
พญ.ทัศนีย์ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่กังวล คือ อภ.จะผลิตยาให้ได้อย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ถ้าได้ล็อตแรกล็อตเดียวแล้วไม่มีอีกเลย คนไข้จะไม่ได้ยาในระดับที่สูงเพียงพอ เกิดการขาดยา ต้องหยุดยา จะมีผลต่อประสิทธิภาพการรักษา อาจทำให้เกิดการแปรผลลำบาก แต่ตอนนี้ทางกรมการแพทย์ได้มีการทำเอ็มโอยูกับหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ฯลฯ เพื่อเพาะปลูกกัญชาและส่งให้ อภ.ผลิต ทั้งนี้ สถาบันประสาทฯ ได้ตั้งคลินิกเฉพาะผู้ป่วยที่รักษาด้วยกัญชา แยกจากคลินิกเฉพาะทางด้านอื่นๆ เพราะปัจจุบันกัญชายังจัดเป็นยาเสพติดประเภท 5 ต้องมีการควบคุม ทั้งการได้มา การเก็บรักษา และการจ่าย คนไข้เอายาไปกี่ขวด กลับมาแล้วต้องตรวจสอบ แต่ยังไม่ได้หารือกันว่า อาจจะต้องถึงขั้นนำขวดยามาคืนด้วยหรือไม่ เพราะตามปกติ หากเป็นยาเสพติดประเภทอื่น เช่น มอร์ฟีน เวลาจะเบิกขวดใหม่ต้องเอาขวดเก่ามาคืน กัญชาก็อาจจะอิงตามมาตรฐานเบิกจ่ายมอร์ฟีน ซึ่งอยู่ระหว่างหารือวางหลักเกณฑ์