xs
xsm
sm
md
lg

สร้างพลเมืองดิจิทัลให้คงความเป็นมนุษย์ /ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) ได้รับการพูดถึงบ่อยมากในสังคมโลกช่วงนี้ รวมถึงในบ้านเราด้วย ขณะที่คนรุ่นเราปฏิเสธไม่ได้ว่ากำลังอยู่ในช่วงรอยต่อแห่งการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย หรือประมาณกลางเก่ากลางใหม่ ที่มีคนรุ่นใหม่ที่เป็น Digital Native กำลังเข้ามาแทนที่

Marc Prensky นักการศึกษาชาวอเมริกัน ผู้ให้คำนิยามคำว่า Digital Native คือผู้ที่เกิดมากับโลกดิจิทัล และเรียกคนรุ่นเรา ๆ ว่า Digital Immigrant

Digital Native คือกลุ่มประชากรคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาในยุคดิจิทัล จะเป็นกลุ่มที่เข้าใจการใช้งานดิจิทัล และเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี หรือเรียกว่าเป็นธรรมชาติของเขา โดยไม่ต้องทำความเข้าใจหรือเรียนรู้มากเหมือนกลุ่มคนรุ่นพ่อแม่ พวกเขาเติบโตขึ้นมาโดยมีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นโทรศัพท์เครื่องแรก และใช้งาน Google ตั้งแต่ยังเด็ก ประมาณว่าเกิดมากับเทคโนโลยีรอบตัว

จากสถิติของ International Telecom Union เมื่อ พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีกลุ่ม Digital Native อยู่ราว 4.38 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 6.3 ของประชากรทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 42.3 ของกลุ่มประชากรอายุ 15-24 ปี และแนวโน้มก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

นั่นหมายความว่า เด็กยุคนี้และนับจากนี้กำลังเติบโตขึ้นมาเป็น พลเมืองดิจิทัล

และก็หมายความว่าคนรุ่นเราขึ้นไปต้องมีส่วนร่วมต่อการวางรากฐานให้กับพลเมืองดิจิทัลรุ่นต่อไปด้วย

เวลาพูดถึงความเป็นพลเมืองดิจิทัลในความหมายทางวิชาการ จะหมายถึงพลเมืองที่มีความสามารถในการใช้อินเทอร์เน็ตในโลกดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ และปลอดภัยด้วย เนื่องจากพวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลโดยไร้ข้อจำกัดเชิงภูมิศาสตร์ เข้าร่วมชุมชนที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน สร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าพวกเขาก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ ๆ เช่น การสอดแนมความเป็นส่วนตัว อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่ความสุ่มเสี่ยงต่อการรับมือบนโลกออนไลน์ เช่น การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ , Hate Speech ฯลฯ ที่เต็มไปด้วยภัยออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบ

ดังนั้น พลเมืองดิจิทัลจึงต้องตระหนักถึงโอกาสและความเสี่ยงในโลกดิจิทัล พัฒนาทักษะและความรู้ที่จำเป็นในโลกใหม่ และเข้าใจถึงสิทธิและความรับผิดชอบในโลกออนไลน์ โดยมีทักษะที่สำคัญ 8 ประการ ได้แก่

1. ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง (Digital Citizen Identity) ความสามารถในการสร้างและบริหารจัดการอัตลักษณ์ที่ดีของตนเองไว้ได้อย่างดีทั้งในโลกออนไลน์และโลกชีวิตจริง

2. ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ (Screen Time Management) ความสามารถในการบริหารเวลาในการใช้อุปกรณ์ยุคดิจิทัล รวมไปถึงการควบคุมเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างโลกออนไลน์ และโลกชีวิตจริง

3. ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management) สามารถมีดุลพินิจในการบริหารจัดการข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลออนไลน์เพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัวทั้งของตนเองและผู้อื่น

4. ทักษะในการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี (Critical Thinking) ความสามารถในการวิเคราะห์แยกแยะระหว่างข้อมูลที่ถูกต้อง และข้อมูลที่ผิด ข้อมูลที่มีเนื้อหาดีและข้อมูลที่เข้าข่ายอันตราย ข้อมูลติดต่อทางออนไลน์ที่น่าตั้งข้อสงสัยและน่าเชื่อถือได้

5. ทักษะในการรับมือกับการคุกคามบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying Management) ความสามารถในการรับรู้ และรับมือการคุกคามข่มขู่หรือรังแกกันบนโลกออนไลน์

6. ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์ (Cybersecurity Management) ความสามารถในการป้องกันข้อมูลด้วยการสร้างระบบความปลอดภัยที่เข้มแข็ง และป้องกันการโจรกรรมข้อมูลหรือการโจมตีทางออนไลน์ได้

7. ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานมีการทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ (Digital Footprints) ความสามารถในการเข้าใจธรรมชาติของการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล ว่าจะหลงเหลือร่อยรอยข้อมูลทิ้งไว้เสมอ รวมไปถึงเข้าใจผลลัพธ์ ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อการดูแลสิ่งเหล่านี้อย่างมีความรับผิดชอบ

8. ทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม (Digital Empathy) ความสามารถในการเห็นอกเห็นใจ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นบนโลกออนไลน์

คำถามคือ แล้วทักษะเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
จริงอยู่ว่าทักษะเหล่านี้ เด็กควรได้รับการปลูกฝังมาจากสถาบันครอบครัวเป็นเบื้องต้น และเมื่อเข้าสู่รั้วโรงเรียนก็ควรจะต้องมีแนวทางให้ครูบาอาจารย์ได้บรรจุสิ่งเหล่านี้ให้กับลูกศิษย์

หรือแม้แต่ในระดับผู้กำหนดนโยบายก็ต้องมีความตระหนักถึงความสำคัญของการสร้าง “พลเมืองดิจิทัล” และหน่วยงานด้านการศึกษาควรให้ความสำคัญกับโปรแกรมการสร้างพลเมืองดิจิทัลขึ้นมาด้วย และที่สำคัญที่สุดคือ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ทั้งครอบครัว โรงเรียน และชุมชน อย่าผลักภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แต่ด้วยข้อจำกัดของยุคสมัย ความที่พวกเขาเติบโตขึ้นมาในยุค Digital Native เติบโตมากับสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดีย ในขณะที่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และคนแวดล้อมอาจจะไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ให้พวกเขาได้

ฉะนั้น สิ่งที่คนรุ่นพ่อแม่ควรทำจึงเป็นเรื่องทักษะชีวิตที่ควรมีคู่ขนานไปกับโลกดิจิทัล

หนึ่ง - การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ (Communication)
ทักษะพื้นฐานสำคัญที่ถูกมองข้ามเสมอ แต่นี่คือทักษะที่จำเป็นของพลเมืองดิจิทัล เพราะยิ่งพวกเขาอยู่ในโลกดิจิทัลมากเท่าไหร่ ทักษะเหล่านี้ก็ยิ่งขาดมากขึ้นเท่านั้น มีหลายคนที่เก่ง ฉลาดคิด แต่ไม่สามารถสื่อสารหรือถ่ายทอดสิ่งที่คิดไปยังผู้อื่นได้อย่างชัดเจนและเหมาะสม

สอง - ทักษะการแก้ไขปัญหา (Problem Solving)
การแก้ปัญหาของเด็กในโลกออนไลน์กับชีวิตจริงมีความแตกต่างกันมาก ยกตัวอย่าง เมื่อมีการทะเลาะกันบนโลกออนไลน์อาจจะบล็อกกัน หรืออาจทะเลาะกันผ่านคีย์บอร์ด แต่ในโลกชีวิตจริงทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องฝึกให้พวกเขาใช้ไหวพริบในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งจำเป็นต้องใช้ไวพริบด้วย

สาม - ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
ความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ขาดแคลนมาก และบรรดาเจ้าของกิจการทุกวงการก็ต้องการจากพนักงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะที่นำมาซึ่งผลงานการคิดค้นสิ่งใหม่ นวัตกรรมใหม่ๆ และเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เราแตกต่างจากหุ่นยนต์ที่กำลังจะเข้ามาแทนที่

สี่ - การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Growth Mindset)
ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะความรู้ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าหยุดการเรียนรู้ ก็เท่ากับหยุดพัฒนาตัวเอง และความรู้ในยุคนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ห้องเรียนเท่านั้น มนุษย์ทุกคนถ้าไม่อยากถูกเทคโนโลยีกลืนหายไป จำเป็นต้องมีทักษะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตนเอง

ห้า - การทำงานร่วมกับผู้อื่น (Teamwork)
มนุษย์คือสัตว์สังคมที่ต้องพบปะและแลกเปลี่ยนกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน การอยู่ร่วมกัน การทำงานร่วมกัน หรือทำงานเป็นทีมเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของมนุษย์ ถ้าเราสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี จะกลายเป็นคุณสมบัติพิเศษในโลกยุคหน้ากันเลยทีเดียว

หก - การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking)
ทักษะสำคัญที่ขาดไม่ได้ ซึ่งจะนำไปสู่ทักษะอื่น ๆ คือ การคิดแบบมีเหตุมีผล เพื่อแยกแยะว่าสิ่งไหนจริงหรือลวง ก่อนที่จะนำไปสู่การตัดสินใจต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และถ้าได้ฝึกฝนบ่อย ๆ ก็จะทำให้สามารถแยกแยะถูกผิด ควรไม่ควรบนโลกออนไลน์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยคนรุ่นพ่อแม่ในการหมั่นตั้งคำถาม และชวนคิดต่อยอด เพื่อฝึกให้เขาคิด วิเคราะห์ และแยกแยะได้

เจ็ด - การเจรจาต่อรอง (Negotiation)
ในอดีตเรื่องการเจรจาต่อรองเป็นศิลปะอย่างหนึ่งของมนุษย์ เพราะในสถานการณ์ที่เสียเปรียบ แต่ถ้ามีวิธีการต่อรองที่ยอดเยี่ยม อาจทำให้เรื่องแย่ ๆ กลายเป็นเรื่องดี ๆ ไปก็มีมากมาย ความสามารถในการเจรจาต่อรองเป็นส่วนหนึ่งของความเฉลียวฉลาด ที่เด็กในโลกออนไลน์อาจขาดโอกาสในการฝึกฝน

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพลเมืองดิจิทัลที่นับวันยิ่งมีบทบาทต่อสังคมโลกอนาคต สิ่งที่คนรุ่นนี้ควรวางรากฐานคือ ต้องให้พวกเขาคงความเป็นมนุษย์ด้วย

พื้นฐานง่าย ๆ เลยคือ ความสัมพันธ์ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการรู้สึกเห็นอกเห็นใจ รู้สึกผูกพัน และรู้สึกรัก มีช่วงเวลาแห่งความสุขปกติ เช่น การนั่งคุย พบปะสังสรรค์ แชร์ความทุกข์ แบ่งปันความสุข เป็นสิ่งสำคัญในชีวิต อย่าได้ทำมันหล่นหายไป

มนุษย์ยังคงต้องมีเพื่อน ครอบครัว และคนรัก

ลักษณะพิเศษของความเป็นมนุษย์ควรจะต้องคงอยู่คู่กับพลเมืองดิจิทัล และการจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต้องเริ่มที่คนรุ่นนี้ด้วย

แล้วพวกเรามีกันแล้วหรือยัง ?


กำลังโหลดความคิดเห็น