xs
xsm
sm
md
lg

"ถุงยางอนามัย" เข้าข่ายขยะติดเชื้อ ต้องห่ออย่างดีก่อนทิ้ง ห้ามทิ้งลงชักโครก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมอนามัย ชี้ "ถุงยางอนามัย" เข้าข่ายขยะติดเชื้อ ต้องห่ออย่างดีก่อนทิ้งถังขยะ ชี้เชื้อเอชไอวีไม่ทนสภาพแวดล้อม การติดเชื้อผ่านถุงยางใช้แล้วเป็นเรื่องยาก เชื่อโรงแรมมีระบบคัดแยกก่อนส่งท้องถิ่นกำจัดตามระบบ ย้ำห้ามทิ้งลงชักโครกทำท่ออุดตัน ระบบบำบัดน้ำเสียอาจพังได้

วันนี้ (18 มิ.ย.) นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีพบถุงยางอนามัยลอยเกลื่อนคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งโรงแรมระบุว่ามีการจ้างเอกชนมาจัดเก็บ แต่ไม่รู้นำไปทิ้งแบบไหน ว่า ถุงยางอนามัยเข้าข่ายเป็นขยะติดเชื้อ เนื่องจากการใช้งานมีการสัมผัสทั้งภายนอกและภายใน คือ ภายในสัมผัสกับอวัยวะเพศชาย ส่วนภายนอกสัมผัสกับคู่นอน มีการปนเปื้อนสารคัดหลั่ง คือ น้ำอสุจิ ซึ่งบางคนอาจมีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อเอชไอวี เป็นต้น แต่โอกาสการติดเชื้อโดยการสัมผัสถุงยางอนามัยที่ใช้แล้วเป็นไปได้ยาก เพราะการติดเชื้อเอชไอวีจะเป็นการติดต่อโดยตรงจากคนสู่คน เช่น การมีเพสศัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือรับเชื้อถ่ายทอดผ่านเลือด เป็นต้น ดังนั้น การเจอถุงยางอนามัยในลำรางสาธารณะจึงไม่ต้องกังวลว่า จะเกิดการติดเชื้อ เพราะเชื้อไวรัสไม่ทนต่อสภาพแวดล้อมภายนอก

นพ.ดนัย กล่าวว่า การกำจัดถุงยางอนามัยที่ใช้แล้ว ควรห่อด้วยกระดาษที่ไม่ใช้แล้ว หรือกระดาษทิชชู เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนกับขยะอื่นๆ สามารถทิ้งได้ตามถังขยะทั่วไป หรือจะทิ้งเป็นขยะติดเชื้อก็ได้ ซึ่งคิดว่าทางโรงแรมจะมีระบบการคัดแยกขยะอยู่แล้ว ส่วนการส่งไปกำจัดหรือบำบัดนั้น ก็จะนำส่งทางท้องถิ่นดำเนินการ เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยขยะทั่วไปก็อาจนำไปฝังกลบหรือนำไปเผาในส่วนของเตาเผาขยะทั่วไป โดยถุงยางอนามัยนั้นทำมาจากยางพารา แม้จะใช้เวลานานในการย่อยสลายแต่ก็น้อยกว่าถุงพลาสติก หรือหากทิ้งเป็นขยะติดเชื้อก็จะถูกส่งไปยังเตาเผาขยะติดเชื้อ

"การทิ้งถุงยางอนามัย ไม่ควรทิ้งลงไปในระบบของห้องน้ำหรือระบบสิ่งปฏิกูล โดยเฉพาะชักโครก เพราะจะทำให้เกิดการอุดตันของเส้นท่อ ข้อต่อท่อต่างๆ และเมื่อไปถึงระบบบำบัดน้ำเสียก็เสี่ยงทำให้ระบบอุดตันได้อีก เพราะอาจไปเกี่ยวกับตัวปั๊มต่างๆ ดังนั้น ทางศูนย์การค้า โรงแรม หรืออาคารสาธารณะต่างๆ จึงมักขอความร่วมมือไม่ให้ทิ้งขยะลงในชักโครกหรือระบบสิ่งปฏิกูล เช่น ถุงยางอนามัย ผ้าอนามัย แม้กระทั่งกระดาษทิชชู เพราะมีความเหนียว ใช้เวลาในการย่อยสลาย ก็จะลงไปสะสมทำให้เกิดการอุดตันได้" นพ.ดนัย กล่าว

นพ.ดนัย กล่าวว่า ส่วนที่มีการปรากฏถุงยางอนามัยในลำรางสาธารณะ ไม่แน่ใจว่ามีระบบการจัดเก็บขยะอย่างไร แต่หากมาจากการทิ้งลงไปในชักโครก หมายความว่าระบบของห้องน้ำไม่ได้ผ่านการบำบัดน้ำเสียหรือไม่ แต่ตรงไปยังลำน้ำสาธารณะเลย ซึ่งการทิ้งขยะลงในสิ่งแวดล้อมก็มีกฎหมายหลายฉบับในการควบคุม ทั้ง พ.ร.บ.อาคาร พ.ร.บ.การสาธารณสุข รวมถึง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งขึ้นกับทางท้องถิ่นที่ดูแลว่า เหตุการณ์แบบใดจะใช้กฎหมายตัวใด

ขอบคุณภาพจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก นาย อร่อย อูมามิ



กำลังโหลดความคิดเห็น