xs
xsm
sm
md
lg

ล้วงลึกปลูก “กัญชา” กับอาจารย์ “วิเชียรกีรตินิจกาล”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โดย..สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ใกล้ถึงเวลาเก็บเกี่ยวเข้าไปทุกที กับการปลูก “กัญชา” ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อนำมาผลิตเป็นสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ โดยคาดว่าปลาย ก.ค.นี้ ก็จะสามารถสกัดเป็น “น้ำมันกัญชา” ใช้หยดใต้ลิ้นออกมาได้ 2,500 ขวด

แต่การปลูกกัญชาของ อภ.ต่างมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการปลูกที่โอเวอร์เกินไปหรือไม่ ทำไมต้องสวมชุดอวกาศ ทั้งที่จริงแล้วการปลูกกัญชานั้นง่ายมาก รศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์พืชมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาและควบคุมการปลูกกัญชาให้แก่อภ. พร้อมมาไขทุกข้อสงสัย

ทำไมไม่ใช้สายพันธุ์ไทย

รศ.ดร.วิเชียร กล่าวว่า จริงๆ ต้องบอกว่าสายพันธุ์ไทยไม่ได้แย่ และยังดีด้วย แต่ว่ายังไม่ได้มีการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์ไทยมีสารทีเอชซีสูง จึงไม่เหมาะที่จะใช้ในการปลูกเพื่อเอาสารซีบีดีที่สามารถรักษาโรคลมชักในเด็ก และการรักษาแต่ละโรคก็จะต้องมีสัดส่วนสารที่ชัดเจน ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การปลูกให้ได้สารสำคัญที่ต้องการ ดังนั้น สายพันธุ์จึงต้องรอการปรับปรุงพันธุ์ก่อน จึงสามารถนำมาปลูกได้ ซึ่งตนก็อยู่ระหว่างการศึกษาและปรับปรุงพันธุ์ไทยให้มีสารซีบีดีสูงขึ้น รวมถึงอาจปรับปรุงให้เหมาะกับการรักษาแต่ละโรคด้วยซ้ำว่า ต้องการใช้สารแต่ละตัวในสัดส่วนมากน้อยเท่าใด ส่วนการปลูกครั้งแรกของ อภ.จึงต้องใช้พันธุ์ผสมก่อน คือ พันธุ์อินดิกาผสมกับซาติวา และความยากคือทุกต้นจะต้องได้สารสำคัญสูงเท่ากัน

สวมชุดอวกาศโอเวอร์ไปหรือไม่

รศ.ดร.วิเชียร กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องสวมชุดคลุมก็เพื่อป้องกันการติดโรคและแมลง เนื่องจากการปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ต้องมีความปลอดภัย ไม่มีโรค ไม่ใช้สารเคมี แต่กัญชาเป็นพืชที่มีโรคและแมลงชื่นชอบ ก็ต้องป้องกันตรงนี้ ยิ่งเป็นพันธุ์ผสมเขาก็เหมือนฝรั่งที่มาเมืองไทย มีความเปราะบาง ก็ต้องดูแลอย่างดี ไม่ให้ติดโรคและแมลง มิเช่นนั้น อาจจะมีแมลงติดเข้ามากับเส้นผม หรือมีเชื้อโรคที่ติดมากับรองเท้าได้ ซึ่งการปลูกและการดูแลนั้น เราจะใช้วิธีการป้องกันตั้งแต่แรกเริ่ม คือ มีการควบคุมแสงยูวี อุณหภูมิต่างๆ เพื่อไม่ให้เชื้อที่มีอยู่ในอากาศเจริญเติบโตได้ คนที่จะเข้าไปก็ต้องสวมชุดป้องกัน เพราะการเปิดประตูย่อมหมายถึงมีโอกาสที่จะเกิดการติดโรคและแมลงขึ้นได้

สู้โรคและแมลงด้วยวิธีธรรมชาติ

รศ.ดร.วิเชียร กล่าวว่า แม้จะมีการควบคุมป้องกันโรคและแมลงตั้งแต่แรก แต่ก็ยังพบการโรคและแมลงติดเข้ามา ซึ่งเท่าที่ดูแลก็พบมีหลายโรค เช่น โรครากเน่า ซึ่งมาพร้อมกับระบบปลูกโดยน้ำ ซึ่งเชื้อโรครากเน่ามาจากดินที่ติดมากับรองเท้า จึงต้องมีการเปลี่ยนรองเท้าก่อนเข้า ดังนั้น การแค่ลืมหยิบรองเท้าเข้ามาโรคก็สามารถเข้ามาได้ทันที ส่วนแมลงก็มีพบอย่างเพลี้ยอ่อนและไรแมงมุม (Spider Mite) เป็นต้น ซึ่งอาจติดกับเส้นผมเข้ามาการสวมชุดคลุมจึงไม่ได้โอเวอร์แต่อย่างใด

การดูแลรักษานั้น หากเป็นการปลูกโดยทั่วไปที่บอกว่าง่าย ก็ใช้เพียงยาฆ่าแมลง ใช้สารเคมีก็เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากเราปลูกแบบเกรดทางการแพทย์หรือเมดิคัล เกรด ก็ต้องปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีเลย ซึ่งผมก็ใช้วิธีทางธรรมชาติมาต่อสู้กับเชื้อโรคและแมลงที่เข้ามา เช่น ใช้นมฆ่าโรค ใช้มังคุดฆ่าโรค รวมถึงการใช้สมุนไพรและการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อสู้กับโรค ทำให้โรคและแมลงอยู่ไม่ได้ ซึ่งการติดโรคจะกระทบสารสำคัญ เพราะเหมือนคนที่เป็นโรค ก็จะโทรมลง ระบบต่างๆ เพี้ยนไป” รศ.ดร.วิเชียร กล่าว

รศ.ดร.วิเชียร กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังคาดว่าอาจเจอโรคในกัญชาที่อาจเป็นครั้งแรกของโลกด้วย เพราะยังไม่เคยพบรายงานการปลูกกัญชาแล้วติดเชื้อโรคดังกล่าว ซึ่งได้ตรวจสายพันธุ์และจัดการแล้ว ด้วยการใช้เชื้อจุลินทรีย์อื่น คือ บาซิลลัส สุดท้ายก็สามารถจัดการได้ ซึ่งต้องบอกเลยว่า การปลูกและดูแลกัญชาทางการแพทย์ไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างที่คนอื่นคิดหรือพูดกัน อย่างที่ปลูกในลาวก็ใช้สารเคมีทั้งนั้น

ต้องปลูกให้ได้ตัวเมีย “พรหมจรรย์” ทั้งหมด

รศ.ดร.วิเชียร เล่าอีกว่า การปลูกต้นกัญชานั้น จะต้องให้ได้เพศเมียทั้งหมด มิเช่นนั้น หากมีตัวผู้ก็จะเกิดการผสมกัน ทำให้เกิดเมล็ดขึ้น ซึ่งสารสำคัญในดอกจะเปลี่ยนไปเป็นพลังงานสร้างเมล็ดแทน จึงไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น จึงต้องปลูกให้เป็นตัวเมียทั้งหมด ซึ่งในทางเทคนิคก็สามารถทำได้ โดยปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ทำให้มีอวัยวะสืบพันธุ์ตัวผู้ แต่ไม่มีโครโมโซมตัวผู้ จึงกลายเป็นตัวเมียทั้งหมด และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็จะโคลนนิ่งให้ได้เพศเมียเหมือนเดิมในการปลูกรอบใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังการเกิดตัวผู้ด้วย เพราะหากน้ำไม่ดี แล้ง หรือร้อนไป อาจเกิดตัวผู้ขึ้นมาด้ หากเจอก็ต้องรีบทำลายทิ้งก่อนที่จะมีการผสม

รศ.ดร.วิเชียร กล่าวว่า ขณะที่การปลูกให้ได้ดอกนั้น ก็ต้องรู้จักเทคนิคการตัดแต่งให้ออกดอกด้วย เช่น ปลูกต้นเดียวให้ออกดอกขึ้นเต็ม ซึ่งการตัดทีหนึ่งจะแตกออกมาสอง ก็ขึ้นกับว่าเรามีพื้นที่เท่าไร หรือไม่อยากให้แตก แต่ต้องการปลูกให้แน่น ต้นนึงก็อาจแตกแค่สามพอ แล้วปลูก 9-10 ต้นต่อตารางเมตร ก็อยู่ที่ดีไซน์มีวิธีตัดแต่ง 6-7 วิธีก็ต้องเรียนรู้จะตัดอย่างไร สเปซแค่นี้จะตัดเท่านี้

กัญชาออกดอกดูแลแบบคนท้อง

รศ.ดร.วิเชียร กล่าวว่า ช่วงออกดอกแล้วจะแต่งกิ่งอีกไม่ได้ เพราะเหมือนภรรยาที่ตั้งครรภ์จะไปแตะทุกวันไม่ได้ เขาต้องได้รับแสงให้พอ ปรับคาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน ชนิดปุ๋ยให้พอดี ก็มีผลต่อสารสำคัญ ซึ่งช่วงเวลาเก็บเกี่ยวให้ดูจากไตรโคมหรือขนเล็กๆ บนดอกกัญชา ซึ่งจะมีสีขาว หากเปลี่ยนเป็นสีน้ำนม และเป็นสีน้ำตาลปนนิดๆ ต้องเก็บเลย เก็บหลังจากนี้ไม่ดี เพราะสารสำคัญมาแล้ว นอกจากนี้ ยังต้องอบ บ่ม ตากแห้ง ด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสม ความชื้นได้ระดับ จึงจะเอาไปใช้ได้ สารทีเอชซีซึ่งมีสภาพเป็นกรดจึงจะเปลี่ยนเป็นสารทีเอชซีที่เอาไปใช้ได้ และเพื่อไม่ให้เกิดราขึ้น

ส่งเสริมเกษตรกรปลูกกัญชาอย่างไร

รศ.ดร.วิเชียร กล่าวว่า เราตั้งใจที่จะส่งเสริมเกษตรกรในรูปของวิสาหกิจชุมชนในการปลูก เพื่อให้เขาสามารถปลูกและส่งขายให้แก่ อภ.ได้ แต่รับรองว่าหากให้ปลูกตอนนี้เจ๊งแน่นอน เพราะเสี่ยงต่อการเจอโรคและแมลง ดังนั้น ช่วงแรกนี้เราจึงขอทดลองปลูกก่อนทั้งในรูปแบบของระบบปิด และจากนี้จะทดลองการปลูกในโรงเรือน และการปลูกแบบกลางแจ้ง เพื่อให้ได้โมเดลที่สามารถเอามาใช้ทางการแพทย์ได้ ไม่มีโรคและแมลง ปลอดภัยจากสารเคมี ซึ่งเมื่อได้รูปแบบก็จะส่งต่อให้แก่เกษตรกรในการปลูกต่อไป












กำลังโหลดความคิดเห็น