xs
xsm
sm
md
lg

พื้นฐาน-อาชีวะร่วมทำหลักสูตรระยะสั้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สอศ.-สพฐ.ร่วมมือเดินหน้าสะพานเชื่อมโยง 5 สายสร้างความเข้มแข็งการศึกษาพื้นฐานอาชีวะ ระบุภายในเดือนมิ.ย.อศจ.-เขตพื้นที่ฯ จะร่วมทำหลักสูตรระยะสั้นที่เหมาะกับพื้นที่

วันนี้ ( 14 มิ.ย.) ที่โรงแรมอมรินทร์ ลากูน จ.พิษณุโลก สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "สะพานเชื่อมโยงการศึกษาพื้นฐานกับการจัดการอาชีวศึกษา" โดยมี ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานร่วม มีประธานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัด ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถามศึกษา (สพป.) เข้าร่วมกว่า 250 คน

ดร.บุญรักษ์ กล่าวว่า หลังจากที่สอศ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน เพื่อเชื่อมโยงการจัดการการศึกษา และกำหนดนโยบายและเป้าหมายในการผลิตและพัฒนากำลังคนร่วมกัน และการประชุมร่วมกันวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิบัติการ เชื่อมโยงงานระหว่างกัน เพื่อเพิ่มผู้เรียนในระดับอาชีวะมากขึ้น เพราะการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเรื่องอาชีวะมีความสำคัญมาก แต่เนื่องจากการศึกษาของประเทศถูกแบ่งเป็นช่วงๆ และแบ่งการรับผิดชอบไป การเลื่อมโยงระหว่างกันไม่เกิดขึ้น ทำให้เกิดปัญหาคือไม่มีผู้เรียนที่จะป้อนเข้าสู่วิทยาลัยอาชีวะได้อย่างเพียงพอ กับตลาดแรงงาน

การประชุมครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น ให้สอศ. และสพฐ. ขับเคลื่อนพัฒนาการทำงานร่วมกัน ไม่เพียงจะตอบโจทย์พัฒนาการเรียนสายอาชีพ ในโรงเรียนสังกัด สพฐ.เท่านั้น แต่เป็นการตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือขณะนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่เห็นภาพการศึกษาอาชีวะในปัจจุบัน โลกของอาชีพจริงเขาทำอะไรกันบ้าง ฉะนั้นการส่งเสริมด้านอาชีพในห้องเรียนของ สพฐ.จึงยังไม่เกิดขึ้น

"หลังจากการประชุม ภายในเดือนมิ.ย.ประธานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัด ทั่วประเทศจะต้องเชิญ ศธจ. นั่งเป็นประธานคณะทำงานจัดทำหลักสูตรระยะสั้น มาประชุมหารือร่วมกับ ผู้อำนวยการ สพป. ผู้อำนวยการ สพม. สถานประกอบการ และหอการค้าจังหวัด เพื่อจัดทำหลักสูตรระยะสั้นที่จะต้องสอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของพื้นที่ และนำเรื่องนี้เข้ามที่ประชุม คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ผลักดันอาชีวะเข้าสู่การศึกษาขั้นพื้นฐาน"ดร.บุญรักษ์ กล่าว

ดร.บุญรักษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความยั่งยืน สพฐ.และสอศ.ได้สร้างสะพานเชื่อมโยง 5 สาย เพื่อเชื่อมโยงการทำงานไว้ด้วยกัน คือ 1.สะพานของฝ่ายบริหาร 2.สะพานของครู 3.สะพานนักเรียน 4.สะพานของผู้ปกครอง ที่ต้องสื่อสารให้ผู้ปกครองรับรู้ว่าการเรียนอาชีวะ การเรียนสายสามัญ ไม่มีอะไรที่ดีกว่า หรือเหนือกว่ากัน อยู่ที่ความเป็นตนของนักเรียนมากกว่า และ 5.สะพานเชื่อมโยงชุมชนและสถานประกอบการ ถ้าเรารีบวางระบบตรงนี้ไว้ จะเกิดความยั่งยืน เเม้ตนกับ ดร.สุเทพ จะพ้นตำแหน่งไปก็ตาม หากระบบนี้ยังอยู่ สอศ. สพฐ. และประเทศชาติ จะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

ด้าน ดร.สุเทพ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่เกิดความร่วมมือครั้งนี้ สพฐ.และสอศ. ต้องรีบดำเนินการ และต้องทำต่อเนื่อง เพราะความเข้มแข็งของอาชีวะ มี สพฐ.เป็นรากฐานที่สำคัญในการผลิตพัฒนานักเรียนที่ส่งต่อออกไปยังสายอาชีพ ดังนั้น สพฐ.ต้องวางรากฐานการเรียนสายอาชีพให้นักเรียน ซึ่งการแนะแนวให้นักเรียนในสังกัด สพฐ.ไปเรียนอาชีวะ เป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ ไม่ได้เพิ่มผู้เรียนอย่างจริงจัง ดังนั้น สพฐ.และสอศ. ต้องทำลายกำแพงที่กั้นการศึกษาระหว่างกัน และสร้างสะพานเชื่อมโยงการศึกษาร่วมกัน เพื่อตอบโจทย์ของประเทศ เพราะประเทศต้องการกำลังคนอาชีวะจำนวนมาก

ทั้งนี้ สพฐ. และสอศ. มีความตั้งใจและเอาจริงเอาจัง ต้องการให้ปฏิบัติเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ว่าจะต้องปฏิบัติงานร่วมกันให้เป็นเอกภาพ และสนับสนุนส่งเสริมให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาและโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อทำให้การจัดการศึกษาอาชีวะเป็นไปด้วยดี

"หลังจากการปฏิบัติวันนี้ สิ่งต้องทำร่วมกันคือ จะต้องมีแผนที่สะท้อนถึงความมั่นคงยั่งยืน และแผนนี้จะมอบให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คนใหม่พิจารณาต่อไป อีกทั้งผมหวังว่าผู้ที่มาเป็น เลขาธิการ สพฐ.และเลขาธิการ สอศ.คนต่อไป จะดำเนินการตามแผนนี้ต่อไป เพื่อให้แผนนี้ยั่งยืนและสอดคล้องกับนโยบายของประเทศชาติ"ดร.สุเทพ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น