มูลนิธิผู้บริโภค แฉอาหารเสริมอ้างลดน้ำหนัก-เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ในตลาดออนไลน์ เจอใส่สารอันตรายเพียบ ทั้งไซบูทรามีน ซิลเดนาฟิล ส่ง อย.เอาผิดแล้ว จี้ลงโทษขั้นสูงสุด ตลาดออนไลน์ต้องนำสินค้าออก พร้อมสั่งแบน ติดแบล็กลิสต์ห้ามเข้ามาขายอีก
วันนี้ (13 มิ.ย.) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) แถลงข่าวผลตรวจสอบยาอันตรายในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก เพิ่มสมรรถภาพเพศชายจากห้องออนไลน์ ว่า จากการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอ้างช่วยลดน้ำหนัก 15 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับผู้ชายอ้างเสริมสมรรถภาพทางเพศ 10 ตัวอย่าง โดยซื้อจากตลาดออนไลน์ 4 แหล่ง คือ Lazada, Shop at 24, We mall, Shopee, Watsons และ 411estore เมื่อ มี.ค. 2562 พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักมีการผสมไซบูทรามีน , ฟลูออกซิทีน , เฟนฟลูรามีน และ บิซาโคดิล โดยมีอยู่ 3 ยี่ห้อคือ 1.ยี่ห้อ S-Line จาก Lazada 2.ยี่ห้อ ชะหลิว 2 (CHALIEW2) จากเว็บไซต์ Lazada และ 3.ยี่ห้อ เดลี่ บาย เอ็นคิว (DELI By NQ) จาก Lazada โดยยี่ห้อ S-Line เคยตรวจพบเมื่อครั้งที่แล้วด้วย ส่วนชะหลิวตรวจสอบครั้งที่แล้วไม่เจอ แต่ครั้งนี้ซึ่งล็อตนัมเบอร์เดียวกันกลับเจอ
น.ส.สารี กล่าวว่า ส่วนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างเสริมสมรรถภาพเพศชาย พบสารต้องห้ามใน 7 ยี่ห้อ คือ 1.ยี่ห้อ ดราโค (DRACO) จาก Shopee พบซิลเดนาฟิล 2. แซต 4 (Z4) ยี่ห้อ เพลย์ส (PLAYS) จาก Watsons พบซิลเดนาฟิล 3.โมชา (MO CHA) จาก Shopee พบทาดาลาฟิล 4.โซคูล (So Kool) จาก We mall พบซิลเดนาฟิลและทาดาลาฟิล 5.โอเอ็มจี (OMG) จาก 411estore พบซิลเดนาฟิลและทาดาลาฟิล 6.ชูว์ (CHU) จาก Lazada พบซิลเดนาฟิลและทาดาลาฟิล และ 7.ไวทัลแมกซ์ ไวทอลิตี รีบอร์น (Vitalmax, Vitality Reborn) จาก Lazada ตรวจพบ ซิลเดนาฟิลและทาดาลาฟิล
"ผลตรวจสอบทั้งหมดนี้ได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพิกถอนทะเบียน และดำเนินการตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว และขอให้มีการลงโทษสูงสุดตาม พ.ร.บ.อาหาร มาตรา 25(1) อาหารไม่บริสุทธิ์ โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตามมาตรา 25 (2) จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 - 100,000 บาท นอกจากนี้ ตัวที่พบไซบูทรามีน ซึ่งยกระดับเป็นสารต้องห้ามก็ขอให้ลงโทษสูงสุด โทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี ปรับตั้งแต่ 5 แสน - 2 ล้านบาท ผู้ใดขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 - 20 ปี ปรับตั้งแต่ 4 แสน - 2 ล้านบาท ครอบครองจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 5 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 2 หมื่น - 1 แสนบาท และขอเรียกร้องให้ตลาดออนไลน์ปลดสินค้าผิดกฎหมายออก และขึ้นแบล็กลิสต์ห้ามนำสินค้ามาจำหน่าย 3 ปี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มพบ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกร่างหลักเกณฑ์การคุ้มครองผู้บริโภค และเตรียมลงนามความร่วมมือกับตลาดออนไลน์ภายใน ก.ค.นี้" เลขาธิการ มพบ.กล่าว
น.ส.สารี กล่าวว่า สิ่งนี้ไม่ใช่อาหารเสริม เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ต่างจากการฆ่าคนตาย เพราะกินแล้วถึงตายก็มี เฉพาะที่มีตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการคือเสียชีวิต 4 ราย ดังนั้นบรรดาพริตตี้ ดารา นักแสดง ที่มีอิทธิพล และอาศัยเครดิตในหน้าที่การงานมาโน้มน้าวผู้บริโภค ทั้งที่บางคนใช้จริง บางคนไม่ได้ใช้ ขอให้ระมัดระวัง นอกจากจะดูว่าผลิตภัณฑ์ที่เจ้าของเอามาให้รีวิวมีการใช้ถ้อยคำโฆษณาที่ได้รับอนุญาตแล้วหรือยัง ผู้บริโภคก็ต้องระมัดระวังด้วย อย่าเพิ่งเชื่อเพียงแค่มีเลขสารบบของอย.แล้ว แต่ให้ดูถ้อยคำโฆษณาด้วย หากเคลมว่าลดน้ำหนัก เสริมสมรรถภาพทางเพศ แสดงว่าไม่ตรงไปตรงมา เพราะอาหารเสริมจัดอยู่ในประเภทอาหารห้ามเคลมสรรพคุณ ไม่มีผลในการลดน้ำหนักหรือรักษาโรค