กรมการแพทย์ ร่วม อภ. ม.แม่โจ้ และมทร.ล้านนา ลงนามปลูก "กัญชา" คุณภาพ จ่อยื่น อย.อนุมัติเร็วๆ นี้ มั่นใจปลาย ก.ค.ลงมือปลูกต้นแรก เผยปลูกสูงสุดได้ 3,000 ต้น ช่วยได้น้ำมันกัญชาถึง 9 แสนซีซี ทั้ง 3 สูตร รับอาจได้สูตรทีเอชซีสูงก่อน เหตุใช้กัญชาสายพันธุ์ไทย ต้องรอพัฒนาสายพันธุ์ซีบีดีสูง หวังปลดล็อกกัญชงนำซีบีดีมาใช้ได้ ด้าน อภ.ทำร่างเกณฑ์รับซื้อดอกกัญชาแห้ง
วันนี้ (8 มิ.ย.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผศ.พาวิน มโนชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชงเพื่อใช้ทางการแพทย์
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯ ห่วงว่าจะมีสารสกัดกัญชาที่ได้มาตรฐานไม่พอใช้ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ใช้อยู่กัน คือ น้ำมันกัญชาใต้ดิน ที่ไม่มั่นใจว่า ได้มาตรฐานหรือไม่ จึงเป็นเหตุให้ช่วงที่ผ่านมาพบผู้ป่วยจากการใช้กัญชาเข้าโรงพยาบาล ดังนั้น จึงต้องทำให้มีคนปลูกกัญชาที่ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น มีการสกัดที่ได้มาตรฐาน จึงนำมาสู่การลงนามความร่วมมือแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูก โดย ม.แม่โจ้ และมทร.ล้านนา มี อภ.เป็นผู้ผลิต ซึ่งจะมีการทำมาตรฐานการรับซื้อสารตั้งต้น เมื่อได้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชา กรมการแพทย์จะได้ใช้อย่างสบายใจ ซึ่งขณะนี้ก็มีการอบรมบุคลากรทางการแพทย์ไปจำนวนมากแล้ว โดยผู้ผ่านการอบรมรุ่นที่ 2 เข้าใจว่าไก้ส่งรายชื่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขึ้นทะเบียนแล้ว นอกจากนี้ จะเริ่มเปิดหลักสูตรออนไลน์ช่วง ต.ค.นี้ ซึ่งเตรียมหลักสูตรไว้แล้ว เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ กรมฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบในกระบวนการขออนุญาตแบบครบวงจร ทั้งการปลูก ผลิต และใช้ ต่อทาง อย.และคณะกรรมการยาเสพติด คาดว่าจะยื่นขอได้ภายใน มิ.ย.นี้ เมื่อมีการประชุมพิจารณาใน ก.ค. หากอนุมัติ คิดว่าปลายเดือน ก.ค.ก็จะเริ่มปลูกได้ โดยการปลูกจะเน้นสายพันธุ์ไทย เพราะอยากใช้อะไรที่เป็นของไทยเราเอง ซึ่งสายพันธุ์ไทยมีทีเอชซีสูง ทำให้รุ่นแรกๆ จะยังไม่ได้ซีบีดีมากนัก ก็จะได้ตำรับทีเอชซีสูงเหมือนในใต้ดิน ซึ่งก็สามารถนำมาศึกษาทางคลินิก
"ย้ำว่าการจะใช้สารสกัดกัญชาแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ได้ประโยชน์ มี 4 โรค คือ ลมชักในเด็ก ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ปวดทนไม่ได้ และผลกระทบจากคีโม แต่ทั้งหมดไม่ใช่ทางเลือกแรก 2.น่าจะได้ประโยชน์ แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน และ 3.ต้องศึกษาวิจัย แต่ที่ผ่านมายังพบการไปใช้ผิดประเภท เช่น นอนไม่หลับ ปวดนิดหน่อย ก็ใช้ ซึ่งจริงๆ แล้วยานอนหลับ ยาแก้ปวดที่ราคาถูกกว่าก็มี จึงพยายามเตือนว่า อย่าใช้มั่ว ถ้าจะไม่มีข้อบ่งชี้จริงๆ และถ้ามีข้อบ่งชี้ก็ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ว่าต้องใช้ปริมาณเท่าไร เพื่อใช้สารสกัดที่ได้มาตรฐาน" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า อภ.มีหน้าที่พัฒนาสารสกัดให้เป็นไปตามความต้องการ เพียงพอ และทันเวลา ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ อภ.จะร่างเงื่อนไขหลักเกณฑ์รับซื้อช่อดอกกัญชาแห้งทางการแพทย์ เพื่อรับซื้อวัตถุดิบจากทาง ม.แม่โจ้ และมทร.ล้านนา ซึ่งคุณสมบัติผู้ขายจะถูกต้องตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ผ่านมาตรฐาน อย. มีใบอนุญาตถูกต้อง สายพันธุ์ที่ปลูกต้องเป็นไปตามสูตรตำรับที่ต้องการ ซึ่งจะมีการผลิตสารสกัดกัญชา 3 สูตร คือ สูตรทีเอซีสูง สูตรซีบีดีสูง และสูตรอัตราส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง มาตรฐานการปลูกต้องไม่น้อยกว่ามาตรฐานการทางเกษตรที่ดี (GAP) มีการตรวจประเมินระหว่างปลูก เพื่อให้มั่นใจว่าช่อดอกที่เอามาเป็นไปตามมาตรฐานจริงๆ มีการควบคุมคุณภาพ เมื่อปลูกเสร็จมีการตรวจแล็บ ดอกแห้งต้องไม่มีสารตกค้าง มีสารสำคัญตามต้องการเพื่อทำยา โดยราคารับซื้อเป็นตามกลไกตลาด อย่างต่างประเทศจะพบว่า ราคากัญชาแห้งที่ซีลมาอย่างดีเฉลี่ยกิโลกรัมละ 7 หมื่น - 1 แสนบาท ทั้งนี้ การทำสัญญาซื้อขายอาจทำเป็นล็อตๆ ซึ่งล็อตหนึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือนในการปลูก หรืออาจทำเป็นรายปีก็ได้ ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ยังนำไปใช้กับผู้ขายรายอื่นได้ด้วยที่จะมีในอนาคต เช่น วิสหากิจชุมชนต่างๆ เป็นต้น ซึ่ง วันที่ 13 มิ.ย. จะลงนามร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร ในการปลูกกัญชาอีกด้วย
ผศ.พาวิน กล่าวว่า ม.แม่โจ้มีความพร้อม เพราะเปิดสอนด้านการเกษตรมากว่า 85 ปี มีประสบการณ์และบุคลากรก็เชี่ยวชาญด้านการปลูกพืช ซึ่งนโยบาย ม.แมโจ้ ให้ความสำคัญกับกัญชาและกัญชง จึงได้เสนอเข้าสู่สภามหาวิทยาลัยแม่โจ้และได้เห็นชอบให้ศึกษาวิจัย ร่วมมือกับเครือข่าย คือ กรมการแพทย์และ อภ. โดยในส่วนของพื้นที่ปลูกเองก็มีความพร้อม หากทำเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยให้ได้มาตรฐาน อย. อย่างการล้อมรั้ว เป็นต้น โดยวันที่ 10 มิ.ย.นี้ อย.จะไปดูนอกรอบว่า ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว หากแล้วเสร็จ ไม่เกิน 1 เดือน ก็สามารถลงมือปลูกต้นแรกได้ แต่จะเริ่มปลูกได้เมื่อไรนั้น อยู่ที่ระยะเวลาในการขออนุญาตและพิจารณาอนุญาตในการปลูกจากทาง อย.และคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษด้วย ที่จะมีการประชุมกันทุกเดือน สำหรับการปลูกนั้นจะเน้นที่พันธุ์ไทย เพื่อนำมาใช้ผลิตสารสกัดและจะยังทำการวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ไทยซึ่งปกติมีทีเอชซีสูง ให้มีสารซีบีดีสูงด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ
ศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ ม.แม่โจ้ กล่าวว่า ม.แม่โจ้มีฟาร์มกลางป่า ซึ่งได้รับอนุญาตรวม 907 ไร่ เป็นโซนที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างดี ไม่มีคนนอกเข้ามายุ่ง มีโรงเรือน 3,000 ตารางเมตร และพื้นที่ข้างนอกอีก โดยการปลูกกัญชาจะปลูกในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งการปลูกในโรงเรือนหรือกรีนเฮาส์สามารถปลูกได้ 2,600 ต้น ส่วนพื้นที่กลางแจ้งปลูกได้ถึง 13,000 ต้น และยังมีพื้นที่ที่สามารถเพาะกล้ากัญชาได้อีกประมาณ 100,000 ต้น ซึ่งเราต้องการกัญชาตัวเมีย นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังอาคารเก็บผลผลิต มีระบบห้องเย็น ประตูเข้าออกเป็นระบบสแกน การปลูกใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานทั้งหมด มีระบบควบคุมสมาร์ทฟาร์มซึ่ง ม.แม่โจ้ผลิตอุปกรณ์สมาร์ทฟาร์มเอง มีกล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง พร้อมมีศูนย์ควบคุม ที่ขาดอย่างเดียวคือรั้ว ถ้ามีก็ดำเนินการปลูกได้ทันทีที่ได้รับอนุญาต
ดร.สุรพล กล่าวว่า มทร.ล้านนามีความพร้อมทั้งโรงเรือนและกลางแจ้ง โดยมีพื้นที่ 2,200 ตารางเมตรในโรงเรือน และกลางแจ้งอีก มากกว่า 300 ไร่ ถ้าปรับปรุงสภาพด้านความปลอดภัย ก็พร้อมปลูกได้ โดยพันธุ์ที่ปลูกจะเน้นพันธุ์ไทยที่ อภ.ใช้ประโยชน์ได้
เมื่อถามว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะมีการปลูกมากน้อยเท่าไร และแบ่งการปลูกอย่างไร นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี กล่าวว่า เบื้องต้นจากการคำนวณพื้นที่ปลูกในโรงเรือน อาจจะต้องปลูกได้สูงสุดถึง 3,000 ต้น ส่วนจะแบ่งให้แต่ละแห่งปลูกเท่าไรนั้น จะมาตกลงกันอีกครั้ง และในการยื่นขอ อย.ก็ต้องดูว่า จะยอมให้เราปลูกได้กี่มากน้อย อย่างไรก็ตาม หากปลูกได้ 3,000 ต้น จะสามารถนำมาสกัดเป็นสารตั้งต้นได้จำนวน 300 ลิตร จากนั้นจึงนำสารตั้งต้นไปทำให้เจือจางเป็นผลิตภัณฑ์ในอัตราส่วน 1:3 ก็จะได้น้ำมันกัญชาประมาณ 900 ลิตรหรือ 9 แสนมิลลิลิตร (ซีซี) ถ้าแบ่งขวดละ 10 ซีซี ก็จะได้ถึง 9 หมื่นขวด ซึ่งก็จะทำทั้ง 3 ตำรับ คือ สูตรซีบีดีสูง ทีเอชซีสูง และสูตรหนึ่งต่อหนึ่ง ซึ่งจะมีเทคนิคในทางเภสัชกรรม โดยทุกขวดจะต้องได้สารสำคัญเท่ากัน คือ 1 มิลลิลิตร จะต้องมีสารสำคัญ 20 มิลลิกรัม ส่วนจะมีซีบีดี ทีเอชซีเท่าไรก็แล้วแต่สูตร เช่น สูตรหนึ่งต่อหนึ่ง ซีบีดีต้องมี 10 มิลลิกรัม และทีเอชซี 10 มิลลิกรัม ใน 1 มิลลิลิตร หากทีเอชซีสูง ก็จะมีค่าได้ตั้งแต่ 15-18 มิลลิกรัม ที่เหลือเป็นซีบีดี หรือสูตรซีบีดีสูง ก็ต้องมีซีบีดีตั้งแต่ 15-20 มิลลิกรัม ทีเอชซีมีตั้งแต่ 0-5 มิลลิกรัม เป็นต้น ส่วนเมื่อนำมาใช้ 1 หยดของน้ำมันกัญชาจะต้องมีสารสำคัญ 1 มิลลิกรัม และจะทำให้คนไข้ไม่เกิดปัญหาเข้าฉุกเฉินจากการใช้มากเกินไป สำหรับการสกัดกัญชาสายพันธุ์ไทยที่มีสารทีเอชซีสูงนั้น พบว่า บางสายพันธุ์หากสกัดด้วยแอลกอฮอล์จะได้ทีเอชซี 30% ซีบีดี 1 ใน 6 หรือหากใช้คาร์บอนไดออกไซด์สกัดจะได้ทีเอชซี 60% ทั้งนี้ เชื่อว่า ทั้งสองมหาวิทยาลัยจะพัฒนาสายพันธุ์ไทยให้มีซีบีดีสูงได้ แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 6-7 รอบการปลูก ซึ่งแต่ละรอบใช้เวลา 3-4 เดือน
เมื่อถามถึงการปลูกกัญชง ศ.ดร.อานัฐ กล่าวว่า สายพันธุ์กัญชง กฎหมายไทยให้มีทีเอชซีไม่เกิน 0.3% กัญชงจากการทดสอบปลูกพื้นที่โครงการหลวงตามที่ได้รับใบอนุญาตจาก ป.ป.ส. และ อย. ซึ่งเดิมปลูกเพื่อเอาเส้นใย ปัญหาคือกัญชงปลูกในพื้นที่อากาศเย็น จะได้ทีเอชซีน้อยตามกำหนด แต่หากอากาศร้อนทีเอชซีจะสูงขึ้น ซึ่งหากปลอดล็อกกฎหมายก็จะได้ซีบีดีจากกัญชงเอามาใช้ผสมในห้องแล็บได้หรือพัฒนาในการปลูกกัญชา