xs
xsm
sm
md
lg

ป่วยไข้เลือดออก 2.3 หมื่น ตาย 30 สูงสุดใน 5 ปี พบเป็น "เดงกี" สายพันธุ์ร้ายสุดระบาด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมควบคุมโรค รับปี 62 ไข้เลือดออกระบาดหนัก ป่วยแล้ว 2.3 หมื่นราย ตาย 30 ราย สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในช่วงเดียวกัน สูงกว่าปี 61 ถึง 2 เท่า กทม.ป่วยสูงสุด 1.6 พันราย ตรวจสอบพบเป็นไวรัสเดงกีสายพันธุ์ 2 ระบาด ชี้มีความรุนแรงที่สุดในเดงกี 4 สายพันธุ์ เตือนอย่าซื้อยากินเอง มีไข้สูงไปพบหมอ ขอร้านยาเลี่ยงจ่ายยาเอ็นเสด

วันนี้ (5 มิ.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการระบาดของโรคไข้เลือดออก ว่า มีการคาดการณ์มาตั้งแต่ต้นปี 2562 แล้วว่า จะมีการระบาดหนัก โดยอาจมีผู้ป่วยมากถึงแสนกว่าราย ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. ถึงปัจจุบัน ประมาณ 2.3 หมื่นราย เสียชีวิตแล้ว 30 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรคว่า เสียชีวิตไข้เลือดออกหรือไม่อีก 13 ราย นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก สถานการณ์ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะปีนี้ผู้ป่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง มาตั้งแต่ ม.ค. โดยพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง คือ ภาคอีสาน โดยเฉพาะอีสานใต้ อย่าง จ.อุบลราชธานี มีผู้ป่วยเสียชีวิตติดกันหลายราย รวมถึงภาคตะวันออก กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล

"จากการตรวจสอบพบว่า โรคไข้เลือดออกที่ระบาดในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมากที่สุดใน 4 สายพันธุ์ ยิ่งหากเป็นการป่วยไข้เลือดออกครั้งที่ 2 จะยิ่งมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคมากขึ้น ดังนั้น ขอย้ำว่า หากประชาชนมีไข้สูงลอย 2 วันแล้วไม่ลด ให้รีบไปพบแพทย์ และถึงแม้ไข้จะลดแล้วก็ต้องดูว่า สภาพร่างกายผู้ป่วยเป็นอย่างไร ซึมลง ไม่มีเรี่ยวแรงหรือไม่ หากเป็นเช่นนี้ให้รีบไปพบแพทย์ซ้ำ อย่าซื้อยากินเอง หรือคิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา และขอความร่วมมือคลินิก ร้านขายยา หากเจอผู้ป่วยไข้สูง ขอให้หลีกเลี่ยงการจ่ายยากลุ่มเอ็นเสด เพราะเสี่ยงทำให้เลือดออกเสียชีวิตได้ และขอทุกฝ่ายช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วย เช่น นอนกางมุ้ง ทายากันยุง" นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารรายงานของกรมควบคุมโรค ข้อมูล ณ วันที่ 22 พ.ค. 2562 พบว่า ปี 2562 มีผู้ป่วย 22,203 ราย เสียชีวิต 28 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในช่วง 5 ปีย้อนหลังจะพบว่า ปีนี้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตสูงกว่า โดยปี 2561 ป่วย 11,704 ราย เสียชีวิต 16 ราย ถือว่าสูงกว่า 2 เท่า ขณะที่ปี 2560 ป่วย 11,062 ราย เสียชีวิต 19 ราย ปี 2559 ป่วย 17,614 ราย เสียชีวิต 16 ราย ปี 2558 ป่วย 16,171 ราย เสียชีวิต 10 ราย และปี 2557 ป่วย 8,119 ราย เสียชีวิต 4 ราย

ผู้ป่วยในปี 2562 เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุ พบว่า ช่วง 0-4 ปี ป่วย 1,513 ราย เสียชีวิต 4 ราย อัตราป่วยตาย 0.26% , อายุ 5-14 ปี ป่วย 8,988 คน เสียชีวิต 10 ราย อัตราป่วยตาย 0.11% , อายุ 15-34ปี ป่วย 8,310 ราย เสียชีวิต 10 ราย อัตราป่วยตาย 0.12% , อายุ 35-59 ปี ป่วย 2,747 ราย เสียชีวิต 4 ราย อัตราป่วยตาย 0.15% และอายุ 60 ปีขึ้นไป ป่วย 645 คน ไม่มีเสียชีวิต

จังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ กทม. 1,678 คน นครราชสีมา 1,420 คน นครศรีธรรมราช 1,050 คน อุบลราชธานี 984 คน และชลบุรี 800 คน ส่วนพื้นที่พบผู้ป่วยทั่วประเทศในระดับสีแดง มีทั้งสิ้น 389 อำเภอ พื้นที่เสี่ยง สีเหลือง 198 อำเภอ ซึ่งอำเภอที่มีผู้ป่วยมากกว่า 50 ราย คือ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ป่วย 132 ราย อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ป่วย 70 ราย อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ป่วย 94 ราย และ อ.เกาะช้าง จ.ตราด ป่วย 54 ราย



กำลังโหลดความคิดเห็น