กรมแพทย์แผนไทย สภาเกษตรกรฯ มทร.อีสาน ม.เกษตรฯ ลงนามร่วมกันปลูก "กัญชา" ใน 4 ภูมิภาค เพื่อผลิตเครื่องยากัญชากลางให้แพทย์แผนไทย-หมอพื้นบ้านใช้ปรุงตำรับยาที่มีกัญชาผสม 16 ตำรับ ชูปลูกด้วยออร์แกนิค ได้เมดิคัลเกรด ใช้สายพันธุ์ไทย "หางกระรอก" ปลูกทั้งในโรงเรือนและกลางแจ้ง ภายใต้พื้นที่ปิด
วันนี้ (4 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพททย์ทางเลือก นพ.มรุต จิรเศรษฐสิร อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ว่าที่ร้อยตรี สมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน และ รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
นพ.มรุต กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นความร่วมมือในการปลูกกัญชา เพื่อส่งผลิตเป็นเครื่องยากัญชากลางตามกฎหมายให้แก่กรมฯ โดยแบ่งเป็น 4 ภูมิภาค คือ 1.ภาคเหนือ ปลูกโดยสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ จ.ลำปาง ส่งมอบให้แก่ รพ.สมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่ เป็นผู้ผลิต 2.ภาคกลาง ปลูกโดยสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ จ.กาญจนบุรี ส่งให้ผลิต 2 แหล่ง คือ รพ.ดอนตูม จ.นครปฐม และ รพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี และปลูกโดยศูนย์พันธุกรรมวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ส่งให้กองยาแผนไทยและสมุนไพร 3.ภาคอีสาน ปลูกโดย มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร และ ม.เกษตรศาสตร์ จ.สกลนคร ส่งให้ รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นผู้ผลิต และปลูกโดยสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ จ.บุรีรัมย์ ส่งให้แก่ รพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ และ 4.ภาคใต้ โดยสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ จ.สุราษฎร์ธานี ส่งให้ รพ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้ หลังจากผลิตเป็นเครื่องยากัญชากลาง แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ที่จะใช้ก็ให้ติดต่อประสานมายังกรมฯ เพื่อกระจายเครื่องยากลางไปให้ใช้ในการปรุงตำรับยาที่มีกัญชาผสม 16 ตำรับ คาดว่าทั้งปีจะต้องใช้กัญชาทั้งหมด 11 ตัน อย่างไรก็ตาม สำหรับสมุนไพรอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบของตำรับยาที่มีกัญชาผสมทั้ง 16 ตำรับ เกษตรกรสามารถปลูกได้เลย แต่จะต้องปลูกด้วยระบบออร์แกนิค ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนของกลางที่ขอจาก ป.ป.ส. บางส่วนที่ทีมีคุณภาพดีสามารถนำมาใช้ปรุงยาได้ แต่ยังมีจำนวนน้อย ดังนั้น จึงร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาว่า จะสามารถสกัดโลหะหนักที่ออกได้หรือไม่ นอกจากนี้ วันที่ 5 มิ.ย. จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างกรมแพทย์แผนไทยฯ กรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และป.ป.ส. ถึงการใช้กัญชาของกลางว่าจะมีการแบ่งสรรกันอย่างไร
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า กัญชาที่จะนำมาปลูกเป็นสายพันธุ์ไทย คือ สายพันธุ์หางกระรอก โดยจะปลูกแบบออร์แกนิค ซึ่งต้องได้มาตรฐานทางการเกษตรที่ดี (GAP) และมาตรฐานทางการแพทย์หรือเมดิคัล เกรด ไม่มีสารพิษสารเคมีตกค้าง ซึ่งจะปลูกทั้งในโรงเรือนที่มีการควบคุมปัจจัยต่างๆ และการปลูกนอกโรงเรือนควบคู่กันไป แต่เป็นแบบพื้นที่ปิด เพื่อวิจัยไปด้วยในการเปรียบเทียบความแตกต่างการปลูกระหว่างสองแบบว่า มีการเจริญเติบโตและสรรพคุณทางยาหรือสารสำคัญแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร สำหรับการปลูกจะใช้พื้นที่ 2x2 เมตรต่อต้น ดังนั้น 1 ไร่น่าจะปลูกได้ประมาณ 400 ต้น ทั้งนี้ สภาฯ มีความพร้อมในเรื่องของเกษตรกรที่จะมาปลูก ซึ่งเป็นอาสาสมัคร เพราะเป็นการผลิตให้เปล่า ไม่มีการซื้อขาย โดยขณะนี้มีเมล็ดกัญชาหลายสายพันธุ์อยู่ประมาณ 20 กิโลกรัม
รศ.ดร.โฆษิต กล่าวว่า ขณะนี้โรงเรือนมีความพร้อมประมาณ 90% แล้ว คาดว่าจะเริ่มปลูกได้ใน มิ.ย.นี้ เบื้องต้นมีเมล็ดพันธุ์ที่ยื่นครอบครองเอาไว้ 3-4 กิโลกรัม และจะสามารถเก็บใบกัญชาส่งได้ประมาณ 2 พันกิโลกรัม ในอีก 4 เดือนข้างหน้า