xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย จี้ปลด "กัญชา" จากยาเสพติด ฝากการบ้านว่าที่ รมว.สธ. - ส.ส.ที่เคยหาเสียง ดันให้เป็นที่ยอมรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิจัย จี้ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด หนุนเดินหน้ากัญชาเพื่อการแพทย์ ฝากการบ้านว่าที่ รมว.สธ.คนใหม่ และ ส.ส. ที่เคยหาเสียง ช่วยผลักดันกัญชาให้เป็นที่ยอมรับและใช้ได้แพร่หลาย เพื่อช่วยลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็ง

ในงานเสวนา “ความก้าวหน้ากัญชาเพื่อการแพทย์” เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2562 ที่วัดโคกพระ จ.สิงห์บุรี นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า กัญชาเพื่อการแพทย์ได้รับความสนใจเป็นวงกว้างและมีความก้าวหน้ากว่า 50-60 ปีแล้ว มีงานวิจัยทั่วโลกที่เกี่ยวกับกัญชามากถึง 25,000 เรื่อง แต่ในประเทศไทยนั้นมีงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาเพียง 2 เรื่อง คือกัญชารักษามะเร็งท่อน้ำดีและ CBN รักษามะเร็งปอด น่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่มีการตื่นตัวในเรื่องนี้ มีของดีแต่เอาไปขังคุก แต่เมื่อมี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ที่เปิดโอกาสให้นำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และใช้รักษาโรคภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้ ทำให้เกิดการปลดล็อก จากนั้นกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ทำการศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์งานวิจัยจากทั่วโลกทั้งหมด 25,000 เรื่อง สรุปออกมาได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มที่ 1. กัญชาสามารถรักษาโรคได้จริง เช่น โรคเกี่ยวกับประสาท กลุ่มที่ 2. กัญชาน่าจะมีประโยชน์ช่วยระงับอาการปวดได้ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคความจำเสื่อม ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย และโรควิตกกังวล เป็นต้น และกลุ่มที่ 3 งานวิจัยที่สนับสนุนการรักษาโรคมะเร็ง หรือโรคต่างๆ ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาในห้องปฏิบัติการ ในสัตว์ทดลอง หรือทางคลินิกเพิ่มเติม

“จุดเริ่มต้นที่กัญชาได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย เกิดผลการวิจัยที่ว่ากัญชาสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ สาเหตุของโรคมะเร็งนั้นนอกจากทางพันธุกรรมแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากใช้สารพิษ หรือยาฆ่าแมลงต่างๆ ที่ใช้ในปัจจุบันด้วย ดังนั้นความยากของการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งนั้นก็มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น คุณภาพกัญชาที่จะนำมาใช้ในการผลิต กระบวนการขั้นตอนการผลิต ระดับอาการของโรค การกิน และจิตใจ และเพื่อจะลดจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้นควรทำกัญชาให้ถูกกฎหมายและการเลิกใช้สารพิษ เพราะกัญชาเป็นเหมือนแสงสว่างให้กับผู้ป่วยที่สิ้นหวัง ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น” นพ.ปัตพงษ์ กล่าว

ผศ.ดร.ภก.ธนภัทร ทรงศักดิ์ คณบดีวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า งานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาของมหาวิทยาลัยรังสิต เกิดขึ้นเมื่อสิบปีที่แล้ว โดยอาจารย์ในคณะฯ ค้นพบสาร THC ในกัญชา มีฤทธิ์ลดการลุกลามและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งทางเดินน้ำดีในหลอดทดลอง และปัจจุบันนี้ทางมหาวิทยาลัยรังสิต ได้ดำเนินการวิจัยเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนการวิจัยนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายในสัตว์ทดลองและประมวลผล นอกจากพบสาร THC ในงานวิจัยแล้ว ยังค้นพบสารที่เกิดจากการบวนการ THC คือ CBN ที่จะพบได้ในกัญชาแห้ง นักวิจัยก็เอามาทำการทดลองในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองด้วย พบว่า CBN ยับยั้งมะเร็งปอดของหนูได้ และได้ทำการศึกษาต่อยอดโดยการนำเซลล์มะเร็งมนุษย์ไปปลูกในหนูทดลอง พบว่า สารนี้มีฤทธิ์ลดการเพิ่มจำนวนของมะเร็งปอดและลดขนาดของมะเร็งปอดของมนุษย์ในหนูทดลองได้

ผศ.ดร.ภก.ธนภัทร ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยรังสิตได้รับอนุญาตในการปลูกกัญชาเพื่อการวิจัย นอกจากทางมหาวิทยาลัยรังสิตจะได้งานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาที่เป็นข้อมูลวิจัยในอนาคตแล้ว เรายังมองเห็นคุณสมบัติของกัญชาในเรื่องของมูลค่าในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เราหวังว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ขณะนี้ เดินมาถูกทางแล้วและจะได้พบแสงสว่างในอนาคต

นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ในภูมิปัญญาของไทย กัญชาถือเป็นสมุนไพร และพืชผักพื้นบ้านตั้งแต่ในหลายพันปีแล้ว แต่เมื่อปี พ.ศ. 2522 กัญชาถูกจับมาขังคุก และปัจจุบันนี้เราได้มีการปลดล็อกเบื้องต้น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ที่อนุญาตให้นำกัญชามาใช้เพื่อการรักษาทางการแพทย์ได้ ทางสถาบันจึงได้ทำการศึกษา รวบรวมตำรายาเกี่ยวกับกัญชา โดยสามารถแบ่งได้โดยสรุป ดังนี้ กลุ่ม ก. เลือกตำรับยาที่ดูแล้ว พิจารณาแล้ว มีความชัดเจน มีกรรมวิธีการปรุงที่ชัดเจน สมุนไพรหาได้ในยุคปัจจุบัน กลุ่ม ข. คือตำรับที่มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น หรือบางตำรับเขียนด้วยภาษาโบราณ จำเป็นต้องมาถอดความ มาแปลในภาษายุคปัจจุบันให้เข้าใจ ขึ้นบัญชีรอไว้ก่อน กลุ่ม ค. อ่านตำรับแล้วแปลไม่ถูก กลุ่ม ง. ตำรับยาที่มีส่วนผสมของสิ่งอันตรายที่เป็นโทษ มีส่วนประกอบของสมุนไพรที่ขึ้นบัญชีความสูญพันธ์ของ CITES เช่น ฝิ่น หรือยาเสพติดต่างๆ ในอนาคตต้องมีความชัดเจน แล้วจึงนำมารักษาได้

“ข้อดีของแพทย์แผนไทยคือ หากมีการบันทึกในคัมภีร์หรือตำราไว้ชัดเจน ทางองค์การอนามัยโลกให้สามารถนำมาใช้กับคนได้เลย ไม่ต้องผ่านการทดลองขั้นตอนหลากหลายเพื่อหาหลักประกันว่าเมื่อนำยามาใช้กับคนแล้วจะปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ช่วยรักษาได้จริง เหมือนยาแผนตะวันตก เราจึงสามารถนำกัญชามาใช้ในลักษณะยาแผนไทย หรือสมุนไพรพื้นบ้านได้อย่างรวดเร็วและเผยแพร่ถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวาง แต่ขณะนี้เรายังขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญคือกัญชาที่จะใช้ในการปรุงยา เพราะว่าไม่สามารถปลูกกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หากเราต้องใช้กัญชา เราต้องไปขอกัญชาจาก ปปส. ที่มีของกลางอยู่ แต่การจะได้มาต้องทำเรื่องเบิกของกลาง และต้องนำของกลางนั้นให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบคุณภาพ หากคุณภาพไม่ผ่านตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ตอนนี้เราจึงต้องหาวัตถุดิบในการทำให้ได้ก่อน ฝากไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในอนาคตและ ส.ส. ที่เคยหาเสียงเกี่ยวกับนโยบายกัญชา ว่าช่วยผลักดันเรื่องการใช้กัญชาเกี่ยวกับการแพทย์ ให้เป็นที่ยอมรับและใช้ได้แพร่หลาย เพื่อช่วยลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็ง นพ.ขวัญชัย กล่าว

ภก. ยงศักดิ์ ตันติปิฎก สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กล่าวว่า ขออ้างถึงเจตนารมณ์ของ ภญ.สำลี ใจดี ที่ว่า ควรปลดกัญชาออกจากประเภท พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เราควรจำแนกกัญชาให้อยู่ในพืชสมุนไพร เช่น น้ำมันกัญชาของอาจารย์เดชา สะท้อนให้เห็นว่าผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่อับจนหนทางกับการรักษาโดยการแพทย์แผนปัจจุบันหรือการแพทย์ทางตะวันตก ทำให้ผู้ป่วยต้องหาทางออกด้วยตัวเอง จึงได้มีการทดลองใช้น้ำมันกัญชาของอาจารย์เดชา และส่งผลให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น ดังนั้นสิ่งนี้จึงตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย และควรทำการศึกษา ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ในทางวิชาการ ไม่ใช่ดูแค่คุณสมบัติของยา แต่ควรดูกระบวนการใช้น้ำมันกัญชา ว่ามีการใช้อย่างไร ใช้แล้วมีอาการอย่างไร เพราะจากที่มีการพูดคุยกับผู้ป่วย มีประเด็นที่น่าสนใจ ควรมีการบันทึกสถิติ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรคที่ใช้ในการรักษา คนไข้ที่เคยรับยา กลุ่มคนที่ให้การบริการ การให้ความรู้ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยสะท้อนกลับมาให้การดำเนินการมีมาตรฐานและขั้นตอนมากขึ้น และเมื่อการรักษาได้ผลก็จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในชาติได้อย่างสูงทีเดียว



กำลังโหลดความคิดเห็น