xs
xsm
sm
md
lg

หมอ จวกธุรกิจยาสูบพูดไม่หมด ชี้ 80% ติด "บุหรี่ไฟฟ้า" มากกว่าแผ่นแปะนิโคติน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หมอ จวกธุรกิจยาสูบ พูดงานวิจัยไม่หมด ชี้ "บุหรี่ไฟฟ้า" ช่วยเลิกบุหรี่ แต่ 80% กลับติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน ขณะที่แผ่นแปะนิโคตินติดแค่ 5% เตือนอย่าเชื่อผลิตภัณฑ์ทำลายสุขภาพ เผยบุหรี่ยังใช้เวลา 40 ปีถึงพิสูจน์ว่าอันตราย ก่อมะเร็งปอด บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งใช้ไม่ถึง 10 ปี ต้องพิสูจน์อีกยาว

พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานแถลงข่าววันงดสูบบุหรี่โลก เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้าเริ่มรุกคืบเข้ามามากขึ้น และมีการให้ข้อมูลผิดๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนมานำเสนอประชาชน โดยเฉพาะข้อมูลวิจัยที่เอามาพูดไม่หมด เช่น งานวิจัยที่คนชอบอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ เมื่อเทียบกับวิธีดั้งเดิม คือ แผ่นนิโคติน ซึ่งเพิ่งออกมาเมื่อปี 2562 แต่ถ้าลองไปอ่านงานวิจัยจริงๆ จะพบว่า ทำให้คนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าลดสูบบุหรี่มวนได้จริง แต่ 80% ยังคงใช้บุหรี่ไฟฟ้าและไม่สามารถเลิกได้ ขณะที่เมื่อเทียบกับวิธีปกติ พบว่า ยังต้องใช้แผ่นนิโคตินต่อเนื่อง มีไม่ถึง 5%

"นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นของต่างประเทศ ระบุตรงกันว่า บุหรี่ไฟฟ้า เป็นประตูแรกที่ทำให้เยาวชนมาสูบบุหรี่มวนมากขึ้น ซึ่งทางบริษัทยาสูบ พยายามตั้งกลุ่มเครือข่ายขึ้นมาให้ข้อมูลที่บิดเบือนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนกฎหมายที่ห้ามจำหน่ายและนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการขายได้ ซึ่งทุกอย่างคงต้องดูกันยาวๆ โดยเฉพาะเยาวชน เราไม่อยากให้เยาวชนหันไปลองผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งมีบทเรียนจากต่างประเทศแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา 1 ปี เด็กมัธยมสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 78% ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดแบบนี้ในประเทศไทย เพราะรู้อยู่แล้วว่า เด็กเริ่มลองสิ่งหนึ่งก็มีโอกาสที่จะไปลองอีกสิ่ง คือ บุหรี่มวน” พญ.เริงฤดี กล่าว

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ที่ผ่านมามักมีการเคลมว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่า อย่างเรื่องความร้อนที่บอกว่าร้อนน้อยกว่าบุหรี่มวน ข้อเท็จจริง คือ บุหรี่มวนเมื่อจุดขึ้นมา ความร้อนจากควันที่เข้าร่างกายสูงถึง 600 องศาเซลเซียส แต่บุหรี่ไฟฟ้า แม้จะร้อนน้อยกว่า แต่ก็ยังร้อนสูงถึง 300 องศาเซลเซียส ซึ่งยังสามารถเผาทำลายเซลล์เยื่อบุการหายใจได้ ขณะที่สารเคมีจากบุหรี่ไฟฟ้า ต้องบอกว่า อาจจะร้ายกาจกว่าบุหรี่มวน เพราะพบสารเคมีที่ไม่เคยพบในบุหรี่มวนเลย เช่น ตัวทำละลายน้ำยา "โพรไพลีน ไกลคอล" ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหนัก สารปรุงแต่งกลิ่นรสและสี ซึ่งไม่เคยถูกออกแบบให้เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ จึงยังไม่มีใครรู้ว่าจะมีพิษมากน้อยแค่ไหน เกิดโรคอะไรเร็วช้าแค่ไหน แต่ทางการแพทย์ถือว่ามีพิษแน่ๆ

รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า การที่เรามาพูดกันได้ทุกวันนี้ว่า บุหรี่มวนมีพิษภัย เพราะเราใช้เวลาเรียนรู้กว่า 40 ปี องค์ความรู้ต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นภายในเวลา 5 ปี อย่างตอนปี 1960 แพทย์ชาวอังกฤษศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่เป็นต้นเหตุของมะเร็งปอด และออกมาแถลงข่าว ปรากฏว่า ไม่มีคนเชื่อ แม้แต่รัฐบาลอังกฤษก็บอกว่า สติแตก ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ เพราะคนอังกฤษเวลานั้นเป็นมะเร็งปอดมากขึ้น จากการเป็นยุคอุตสาหกรรมใหม่ ที่มีควันไอเสียมาก แต่ท้ายที่สุดแพทย์คนนี้ทำงานวิจัยต่อเนื่อง จนกระทั่งได้รับรางวัลโนเบล เพราะเป็นคนแรกที่บอกว่า บุหรี่เป็นต้นเหตุของการเกิดมะเร็งปอด ความรู้เหล่านี้ใช้เวลาถึง 40 ปี นับประสาอะไรกับบุหรี่ไฟฟ้า

"ทำไมจึงเชื่อคนที่ผลิตธุรกิจ เจ้าของธุรกิจ ที่ไม่เคยทำผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อประชนเลย เช่น ธุรกิจยาสูบ ทำไมเราเชื่อคนง่าย ทำไมไม่รอดูเวลาอีก 5-10 ปีก็ไม่สาย ถ้าเราดูระยะยาวแล้วว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกพิสูจน์ด้วยระยะทางและระยะเวลาแล้ว ออกมาว่าคนที่ใช้มัน 10-20 ปีไม่เกิดผลกระทบสุขภาพเลย จะเอามาใช้มันก็ไม่สาย แต่ผมคิดว่า ณ ตอนนี้ ขณะใช้มาแค่ 5 ปี งานวิจัยตีพิมพ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าต้องบอกว่าเต็มไปหมด ไม่มีรายงานไหนที่ออกมาว่า ปลอดภัยเลย” รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น