สพฉ.จับมือเนคเทค ผุดนวัตกรรม OIS ระบบช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินจากต้นทางจนถึงปลายทาง สามารถเชื่อมต่อกับแพทย์อำนวยการได้ พร้อมเตรียมประสานกูเกิลเปิดระบบ AML ที่โทรศัพท์ ช่วยระบุพิกัดผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านการโทร. แม้ไม่มีแอปพลิเคชัน
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวในเวทีเสวนา “นวัตกรรมเทคโนโลยีระบบการแพทย์ฉุกเฉินยุคใหม่” ภายในการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 13 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร จะช่วยให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินประสบผลสำเร็จ เพิ่มการเข้าถึงบริการเข้าประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง แต่การพัฒนาต้องพัฒนาระบบกลางขึ้น เพื่อให้พื้นที่นำไปใช้ร่วมกันได้ หากต่างคนต่างทำก็จะไม่เป็นระบบเดียวกัน เช่น พัฒนาระบบดิจิทัลเรียลไทม์ ล่ามภาษามือ ระบบดาวเทียม ระบบวิทยุ อินเทอร์เน็ต เป็นต้น
“ปัจจุบันเราได้พัฒนาเป็นระบบ CIS ที่ประชาชนแค่โทร.ผ่านโทรศัพท์ธรรมดา ไม่ต้องผ่านแอปพลิเคชันก็สามารถรู้พิกัดผู้ป่วยได้ โดยมีความคลาดเคลื่อนเพียง 7 เมตร นอกจากนี้ ยังมีระบบ เทเลเมดิซีนในรถพยาบาลแต่ละคัน ที่จะต้องติดตั้งจีพีเอส เรียกว่าระบบปฏิบัติการ OIS ที่สามารถเชื่อมต่อกับแพทย์ดำเนินการ โดยแพทย์จะรู้ถึงสัญญาณชีพหรือคลื่นหัวใจของผู้ป่วย แพทย์จะเห็นคนไข้ผ่านกล้อง และระบบสามารถดึงลายพิมพ์นิ้วมือ เพื่อดูข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะนำข้อมูลเหล่านั้นมารักษาผู้ป่วยอย่างทันท่วงทีได้” นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันการรับเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินมีการขยายขอบเขตมากขึ้น โดยเฉพาะต่างประเทศ เช่น สหรัฐอมริกา รับเรื่องจากเสียงมาเป็นวิดีโอคอล แล้วกลายเป็นข้อมูล คนพิการ หูหนวกตาบอด สามารถเข้าถึงได้ นักท่องเที่ยวต่างชาติก็เข้าถึงด้วยการแปลภาษา สิ่งแรกที่ประเทศไทยต้องทำ คือ ระบบคอลเซนเตอร์ที่ต้องสามารถวิดีโอคอลได้ รวมถึงการทราบพิกัด อย่างต่างประเทศจะมีระบบ AML หรือการส่งพิกัดทางมือถือแบบอัตโนมัติ เช่น กรณีนักปีนเขาโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ เมื่อโทร.มาที่เบอร์ฉุกเฉินแล้วสายตัดหรือขาดการติดต่อ ระบบเดิมจะไม่สามารถทราบพิกัด แต่ AML ทำให้ทราบถึงพิกัดแบบอัตโนมัติ ซึ่งมีประโยชน์มาก โดยประเทศไทยกำลังประสานกับ GOOGLE ที่ต่อไปเพียงผู้ขอความช่วยเหลือโทร.มาที่เบอร์ 1669 แม้โทรมาแล้ว แต่ขาดการติดต่อก็จะทราบถึงพิกัดทันที
รศ.ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรมความรู้และวิศวกรรมภาษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลของผู้ป่วยในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เราได้เก็บข้อมูลผ่านกระดาษหรือไม่ เพราะหากเก็บข้อมูลในกระดาษเพียงอย่างเดียวจะทำให้ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนข้อมูลลดลง ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนมาเป็นระบบดิจิทัล ที่ผ่านมาจะเห็นว่าข้อมูลของผู้ป่วยผู้บาดเจ็บจะมีความสำคัญที่สุด ถ้าเรามีการเก็บอย่างถูกต้องแม่นยำ ก็จะทำให้การบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเกิดสึนามิ การส่งข้อมูลต่างๆ จะมาจากหลายภาคส่วนและส่งมาที่ส่วนกลาง จุดสำคัญ คือ มีการส่งข้อมูลผ่านกระดาษเป็นส่วนใหญ่ เมื่อข้อมูลมาส่วนกลางทำให้ข้อมูลส่วนใหญ่มักไม่ตรงกันหรือคลาดเคลื่อน การจัดการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่มีการตรวจสอบความถูกต้องอย่างแม่นยำก็จะช่วยในการให้บริการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ดร.ธีรวัฒน์ อิสสริยะกุล ผู้จัดการส่วนบริหารความปลอดภัยและมาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ระบบเอไอหรือหุ่นยนต์ จะเข้ามามีบทบาทหลักในการทำงานของทุกภาคส่วน ทุกอย่างกำลังจะเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งระบบการแพทย์ฉุกเฉินก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะหลายประเทศได้มีการเปิดใช้บริการ 5G แล้ว ซึ่งระบบนี้ จะมีความเสถียรและสามารถรับส่งข้อมูลระดับใหญ่ได้ ต่อไประบบนี้ก็จะมาช่วยแพทย์ทำการผ่าตัดทางไกลได้ ซึ่งประเทศไทยต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปีถึงใช้ได้ นอกจากนี้ ต้องระวังการรั่วไหลของข้อมูล ซึ่งปีที่ผ่านมา สิงคโปร์เคยทำข้อมูลประชาชนรั่วไหลออกมากว่า 1.5 ล้านคน จนทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ หรือการปล่อยไวรัสเรียกค่าไถ่ ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วย จึงไม่สามารถนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน มารักษายังโรงพยาบาลได้ เพราะข้อมูลถูกโจมตี จนต้องส่งไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง หรือเวเนซุเอลา ที่ไฟฟ้าดับทั้งประเทศนาน 1 สัปดาห์ สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ถ้าเกิน 24 ชั่วโมง หรือ 48 ชั่วโมง ก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้
ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำความปลอดภัยในการใช้ “Internet of medical things” ดังนี้ 1.ตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัย 2.หากไม่มีความจำเป็นใช้อินเทอร์เน็ตก็ให้ปิด ไม่จำเป็นต้องเปิดตลอดเวลา 3.อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เมื่อเราได้รับเครื่องมาแล้ว ควรตั้งรหัสผ่านให้ทั้งหมด และ 4.ควรจะมีการอัปเดตซอฟต์แวร์ตลอดเวลา เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นมาจากระบบเดิมของเครื่องมือช่วยชีวิต
ดร.กิตติ วงศ์ถาวรวราวัฒน์ หัวหน้าทีมนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้เราได้นำระบบสื่อสารและสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉิน โดยการใช้ระบบ ITEMS 3 (OIS) Operation Information System ที่ติดตั้งระบบกับศูนย์รับแจ้งเหตุ หน่วยปฏิบัติการโรงพยาบาล และรถปฏิบัติการ เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ทำงานแบบ real time มาใช้ออกปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินตั้งแต่ต้นทางที่รับส่งผู้ป่วยจนถึงปลายทางในการนำส่งผู้ป่วย โดยเราได้เริ่มทดลองใช้จังหวัดอุบลราชธานี โดยระบบนี้มีความสำคัญอยู่ที่ในขณะที่เรามีการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ทีมแพทย์ที่ไม่ได้อยู่บนรถจะสามารถให้คำแนะนำหรือให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านการ Monitor จากระบบได้ OIS ได้
นอกจากนี้ ระบบยังสามารถบอกให้ทราบถึงตำแหน่งจุดเกิดเหตุ ชุดปฏิบัติการที่ออกช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินคือชุดอะไร และรถฉุกเฉินกำลังแล่นไปที่ไหน ซึ่งเราจะรู้ถึงข้อมูลทั้งหมด ทั้งนี้เราต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ยังมีความคุ้นชินกับระบบอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ หากที่จังหวัดอุบลราชธานีมีความสำเร็จแล้วเราก็จะขยายระบบนี้ไปทั่วประเทศ ทั้งนี้ข้อดีของระบบ OIS จะทำให้แพทย์เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรถและสามารถช่วยในการตัดสินใจเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น