xs
xsm
sm
md
lg

เตือนอย่าเชื่อใช้โปรแกรมวิเคราะห์ "ไข้เลือดออก" จาก "ใบหน้า"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมควบคุมโรค เตือนอย่าเชื่อคนอ้างใช้โปรแกรมวิเคราะห์ใบหน้าบอกอาการป่วย "ไข้เลือดออก-ไข้หวัดใหญ่" ย้ำไม่ใช่วิธีมาตรฐาน ชี้ผู้ป่วยมีไข้หน้าแดง เป็นโรคอื่นๆ ได้ หากเจ็บป่วยควรมาพบแพทย์ พร้อมสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง

วันนี้ (1 มิ.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีกระทู้ในเว็บไซต์พันทิพเชิญชวนให้ส่งใบหน้าทางไลน์ฟรี เพื่อใช้โปรแกรมวิเคราะห์ใบหน้าเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกหรือไข้หวัดใหญ่ ว่า การใช้โปรแกรมวิเคราะห์ใบหน้าเพื่อวินิจฉัยการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ไม่ใช่วิธีมาตรฐาน เพราะผู้ป่วยที่มีอาการไข้และหน้าแดง ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออกอย่างเดียว อาจเป็นโรคอื่นๆ ได้ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ เพราะอาจทำให้ได้รับการรักษาล่าช้า อาการอาจรุนแรงขึ้น เป็นเหตุสำคัญทำให้มีโรคแทรกซ้อนและเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ หากเจ็บป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้อง และได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 (สคร.) จังหวัดนครราชสีมา ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) บุรีรัมย์ เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ต่อไป

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะ อาการที่พบหลักๆ มี 4 เรื่อง คือ 1.มีไข้สูงฉับพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาเจียน 2.อาจมีผื่น จุดเลือดขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ หรือถ่ายอุจจาระสีดำ 3.มีภาวะช็อกช่วงไข้ลด มือเท้าเย็น ชีพจรเต้าเร็วและเบา และ 4.ตับโตมักกดแล้วเจ็บบริเวณชายโครงขวา ซึ่งขอแนะนำว่า ถ้ามีไข้สูง 2-3 วัน ไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง หากแพทย์ให้กลับมารักษาตัวที่บ้านก็ไม่ต้องกังวล เพราะส่วนใหญ่โรคไข้เลือดออกหายได้เอง หากไม่เข้าสู่ภาวะช็อก

"ภาวะช็อกจะมีเพียงบางรายเท่านั้น ซึ่งจะมีอาการในช่วงไข้ลด โดยผู้ป่วยจะมีอาการซึม กระสับกระส่าย ชีพจรเต้นเร็ว มือเท้าเย็น บ่นปวดท้อง อาจมีเลือดกำเดา อาเจียนปนเลือด หรือถ่ายปนเลือด หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต้องรีบกลับไปพบแพทย์ที่เดิมให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีภาวะอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด ภาวะติดสุรา ธาลัสซีเมีย หรือมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน เป็นต้น" นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน เป็นช่วงที่มีการระบาดของโรค เพราะเป็นฤดูที่เหมาะสมต่อการเพาะพันธุ์ของยุงลาย จึงขอให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำต้องปิดฝามิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ นอกจากนี้ขอให้ป้องกันการถูกยุงกัด โดยทายากันยุง และนอนในมุ้ง เป็นต้น ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย


กำลังโหลดความคิดเห็น