สธ.จัดงานวันงดสูบบุหรี่โลก ปี 62 มอบรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์เพื่อสังคมปลอดบุหรี่ ด้านปลัด สธ.รับรางวัลจากองค์การอนามัยโลก ย้ำบุหรี่เผาปอด ก่อมะเร็งสารพัดชนิด ลุยเพิ่มพื้นที่สาธารณะปลอดบุหรี่ ต้องรณรงค์ต่อเนื่อง สกัดเยาวชนหันสูบมากขึ้น
วันนี้ (31 พ.ค.) ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลล์ เขตลาดพร้าว นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดงานรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2562 พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่บุคคลและหน่วยงาน ที่ส่งเสริมสนับสนุนการควบคุมการบริโภคยาสูบจำนวน 38 ราย แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.รางวัลคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดดีเด่น 13 รางวัล 2.รางวัลบุคคลหรือหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานควบคุมยาสูบของเครือข่าย 13 รางวัล หน่วยงานที่มีผลงานดีเด่นเกี่ยวกับโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน 6 รางวัล และ 3.รางวัลบุคคลหรือหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในกิจกรรมรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก 6 รางวัล
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ปีนี้องค์การอนามัยโลก ได้มอบรางวัล World No Tobacco Day Award 2019 แก่ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. ที่ส่งเสริมสนับสนุน การควบคุมการบริโภคยาสูบ ทั้งยังเป็นนักรณรงค์ที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการไม่สูบบุหรี่ มีความใกล้ชิดผู้ป่วยจากโรคเสพติดยาสูบ โดยคลุกคลีวงการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการยาสูบ เป็นผู้ก่อตั้งคลินิกโรคไม่ติดต่อทั่วประเทศ และร่วมก่อตั้งคลินิกต่อต้านการสูบบุหรี่ จนได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นด้านวิชาการ จากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากการรายงานขององค์การอนามัยโลกและกรมควบคุมโรค (คร.) จะเห็นว่า บุหรี่เป็นอันตรายและเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูบและไม่สูบ โดยปัจจุบันคนไทยกว่า 10 ล้านคนยังติดบุหรี่ ดังนั้น การรณรงค์จะต้องไม่มีวันสิ้นสุด โดยเฉพาะวัยรุ่นและเยาวชนที่มีแนวโน้มสูบบุหรี่มากขึ้น ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อส่งเสริมให้คนลดบุหรี่ อาทิ ขึ้นภาษีบุหรี่ การออกระเบียบบรรจุภัณฑ์ซองบุหรี่ การกำหนดมาตรการพื้นที่ปลอดบุหรี่ เช่น สนามบิน ศูนย์การค้า เพื่อขับเคลื่อนสังคมให้มีพื้นที่สาธารณะปลอดบุหรี่ รวมถึงร่วมมือกับภาคประชาชน ส่วนมาตรการอื่น สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้ความรู้เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ พร้อมเดินหน้าคุ้มครองสิทธิผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
วันเดียวกัน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มากกว่า 7 ล้านคนต่อปี จำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 890,000 คน มาจากการสัมผัสควันบุหรี่มือสอง ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง สำหรับประเทศไทยบุหรี่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยเฉพาะมะเร็งปอดที่มีแนวโน้มอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันข้อมูลจากทะเบียนมะเร็งประเทศไทย รายงานว่าแต่ละปีจะพบผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่ 15,288 คน เป็นเพศชาย 9,779 คน และเพศหญิง 5,509 คน
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า บุหรี่และควันบุหรี่ประกอบไปด้วยสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด จำนวนนี้เป็นสารก่อมะเร็งประมาณ 70 ชนิด บุหรี่ไม่เพียงก่อแค่มะเร็งปอด แต่ยังเป็นสาเหตุของมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งช่องปาก มะเร็งลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ ควันบุหรี่มือสองยังส่งผลต่อคนรอบข้างให้ได้รับผลกระทบด้วย โดยเฉพาะในเด็กจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว และเนื้องอกในสมอง
ด้าน นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายลาขาดยาสูบ กล่าวว่า ตนขอสนับสนุนให้คนไทยเลิกสูบบุหรี่อย่างจริงจัง เพราะตนเองก็เป็นหนึ่งในคนที่เคยสูบบุหรี่มานาน พอไปตรวจสุขภาพก็พบว่าปอดมีจุดสีขาวจำนวนมาก จึงได้เลิกสูบบุหรี่ตั้งแต่นั้นมา พอกลับไปตรวจอีกครั้งพบว่าสภาพปอดกลับมาเป็นปกติแล้ว เช่นเดียวกับสมาชิกเครือข่ายฯ หลายๆ คน ที่พอเลิกสูบบุหรี่แล้วสภาพปอดกลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้เตรียมเดินทางไปยื่นเอกสารเพื่อสนับสนุนการเลิกสูบบุหรี่ที่กระทรวงสาธารณสุขด้วย แต่ยังไม่ได้กำหนดวัน เวลา