xs
xsm
sm
md
lg

เด็กเล็กติดเกมต้องโทษพ่อแม่เต็มๆ/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


และแล้วองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ประกาศสำเร็จเสียที หลังจากเงื้อง่าค้างคามานานและล่วงเลยมาหลายปี !

เว็บไซต์ Variety และ Polygon เผยว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 ที่ประชุมองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ดำเนินการพิจารณาคู่มือแนวทางจำแนกโรคฉบับใหม่ “International Classification of Diseases” ICD-11 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เพิ่มอาการ “ติดเกม” เข้าไปตั้งแต่มีการเผยแพร่ฉบับร่างครั้งแรกเมื่อปี 2561 แต่ครั้งนั้นถูกระบุไว้ให้อยู่ในหมวดหมู่ความผิดปกติทางจิต แต่ล่าสุดที่ประชุม WHO ได้ลงมติรับรองพฤติกรรมติดเกม เป็นอาการป่วยเป็นที่เรียบร้อย โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้บรรจุอาการผิดปกติในการเล่นเกม หรือการติดเกม เป็นโรคชนิดหนึ่ง เพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหานี้ และเตรียมการรับมืออย่างทันท่วงทีในอนาคต โดยให้นิยามอาการติดเกม ไว้ว่า เป็นรูปแบบพฤติกรรมเล่นเกมที่ขาดการควบคุม ให้ความสำคัญกับเกมมากกว่ากิจกรรมอื่น จนถึงขั้นเลือกเล่นเกมก่อนความสนใจหรือกิจวัตรประจำวัน และยังคงเล่นต่อเนื่อง หรือมากขึ้นแม้จะมีผลเสียตามมา

โดยระบุว่าพฤติกรรมติดเกมที่ถือว่าเป็นอาการป่วย จะต้องมีความรุนแรงมากพอต่อการส่งผลให้เกิดความบกพร่องทางด้านบุคลิกภาพส่วนตัว, ครอบครัว, สังคม, การศึกษา การทำงาน หรือประสิทธิภาพด้านอื่น ๆ และต้องมีอาการแสดงให้เห็นชัดอย่างน้อย 12 เดือน

ก่อนหน้านี้มีความพยายามคัดค้านจากกลุ่มอุตสาหกรรมวิดีโอเกมทั่วโลก เช่น องค์การซอฟท์แวร์เพื่อความบันเทิงของสหรัฐ (ESA) หรือทางฝั่งประเทศเกาหลีใต้ที่มีวิดีโอเกมเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ก็ได้ยื่นจดหมายทักท้วงอย่างเป็นทางการ แสดงความกังวลว่ามตินี้จะตีตราเกมเป็นสิ่งเลวร้ายทั้งวงการนักพัฒนาและอีสปอร์ต จนอาจสร้างความเสียหายหลายพันล้านดอลลาร์ต่อเศรษฐกิจของพวกเขาในระยะยาว แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล และน่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเกมมิใช่น้อย

แต่สำหรับคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง น่าจะเข้าข่ายเป็นข่าวดี !

ปัจจุบันปัญหาเด็กติดเกมกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติและระดับโลก ซึ่งเป็นปัญหาที่คนเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองหนักใจเป็นอย่างมาก
ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสไปพูดคุยและบรรยายกับพ่อแม่ผู้ปกครองในหลายงานและหลายสถานการณ์ มีคำถามที่พ่อแม่ผู้ปกครองประสบและทุกข์ใจแทบจะทุกที่ที่ดิฉันไปร่วม ก็คือลูกติดเกม มีแทบจะทุกวัย และสภาพปัญหาก็แตกต่างกันไป

แต่ที่ดิฉันสนใจเป็นพิเศษและอยากนำมาเล่าสู่กันฟังก็คือ กรณีของลูกติดเกมซึ่งมีอายุเพียง 5 ขวบ หรือระดับชั้นอนุบาลสอง

ที่จริงก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้ยินว่าหนูน้อยช่วงปฐมวัยติดเกม แต่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

คำถามก็คือทำไมหนูน้อยวัย 5-6 ขวบ ถึงติดเกม ?

ใครเป็นผู้หยิบยื่นเทคโนโลยีให้กับหนูน้อยเหล่านี้ ?

ใครเป็นผู้หยิบยื่นสมาร์ทโฟนให้กับหนูน้อยเหล่านี้ ?

ใครเป็นผู้หยิบยื่นเกมให้กับหนูน้อยเหล่านี้ ?

ถ้าไม่ใช่พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้ใกล้ชิดเด็ก แล้วเด็กจะหยิบมาเล่นเองได้อย่างไร

และเมื่อดิฉันลองสอบถามคุณแม่ท่านนั้น ก็ได้คำตอบว่าเป็นคนให้ลูกเล่นเอง คิดว่าเป็นเกมสำหรับเด็กง่าย ๆ ไม่เป็นอันตราย และให้เล่นแป๊บเดียว บางทีช่วงแม่ยุ่ง ๆ ก็จำเป็นต้องส่งมือถือให้ลูกเล่นเกมไปพลางก่อน แต่ไม่คิดว่าทำไปทำมาลูกจะติดเกมมาก ตอนนี้ถ้าไม่ได้เล่นก็จะโวยวาย ร้องไห้ บางทีก็ทำลายข้าวของ จะไม่ยอมทำอะไรเลย ก็เลยจำเป็นต้องให้เล่น เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร

และนี่คือสาเหตุส่วนใหญ่ของพ่อแม่ลูกเล็กที่หยิบยื่นสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ตให้ลูก

โดยหารู้ไม่ว่าเด็กปฐมวัยควรเริ่มเรียนรู้จากการสัมผัสจริงโดยการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 6 ได้แก่ การสัมผัส , การมองเห็น , การฟัง , การรับรู้กลิ่น , การรับรู้รส และการทรงตัว เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการตามวัยที่เหมาะสม พัฒนาการของเด็กเล็กต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยเริ่มจากการเรียนรู้จากความจริง รูปธรรมที่จับต้องได้ ผ่านประสาทสัมผัส และความรู้สึกภายใน ไม่ใช่เรียนรู้จากเทคโนโลยีที่มาจากสื่อที่ได้เพียงสัมผัสภาพและเสียง
กรณีของเด็กเล็ก เป็นเรื่องที่ปล่อยตามมีตามมีตามเกิดไม่ได้ เพราะเด็กยังอยู่ในความดูแลของพ่อแม่ ผู้ปกครองและผู้ใกล้ชิดเด็ก อยากชวนพ่อแม่ที่มีลูกเล็กได้ลองคำนึงถึงการเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัลให้ห่างไกลเทคโนโลยีด้วย

ประการแรก – ต้องปรับ Mind Set
สิ่งสำคัญก็คือ การปรับทัศนคติของพ่อแม่ผู้ปกครองก่อนว่ามือถือเป็นของมีคมสำหรับเด็กเล็ก นึกถึงเวลาที่เราใช้มีด เรายังไม่ยอมให้ลูกเล็กจับมีดหรือของมีคมเลย หรือการไม่ให้ยุ่งกับไม้ขีด ปลั๊กไฟ ฯลฯ ก็เพราะเรารู้ว่ายังไม่ปลอดภัย ยังไม่เหมาะกับเด็ก ฉะนั้น ถ้าเราปรับวิธีคิดว่าสมาร์ทโฟน หรือแทบเล็ต ก็เป็นอุปกรณ์ที่ยังไม่ปลอดภัย ยังไม่ควรให้ลูกใช้จนกว่าจะถึงวัยที่เหมาะสม

ประการที่สอง – อย่าเอามือถือเป็นพี่เลี้ยง
พ่อแม่ที่รักความสบายและมักง่ายทั้งหลาย โดยใช้มือถือในการแก้ปัญหาทุกสิ่งอย่าง ต้องคำนึงว่าอย่าเอามือถือมาเป็นพี่เลี้ยง เพื่อที่ตัวเองจะได้สบาย หรือมีเวลาพักบ้าง เช่น ลูกงอแงก็ส่งมือถือให้ลูก พ่อแม่เหนื่อยก็ส่งมือถือให้ลูก ระหว่างพ่อแม่คุยกับเพื่อนก็ส่งมือถือให้ลูก ฯลฯ โดยหารู้ไม่ว่าคุณกำลังทำร้ายลูก และกำลังส่งเสริมให้ลูกติดมือถือทางตรง โปรดอย่าใช้วิธีมักง่ายในการเลี้ยงลูก

ประการที่สาม – แบบอย่างที่ดี
ต้องยอมรับว่าพ่อแม่ยุคนี้ติดมือถืออย่างมาก การบอกลูกว่าอย่าเล่นมือถือ อย่าเล่นเกมมันไม่ดี ในขณะที่พ่อแม่ก็แชตมือถือตลอดเวลา แล้วลูกจะเชื่อในสิ่งที่เห็นหรือสิ่งที่ฟังมากกว่ากัน ฉะนั้น การเป็นแบบอย่างที่ดี จะช่วยสร้างรากฐานระเบียบวินัยให้กับเด็กได้ด้วย ต้องคิดเสมอว่าพฤติกรรมของเราในวันนี้ส่งผลต่อลูกในวันหน้า ถ้าไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กก้มหน้า พ่อแม่ก็ต้องไม่มัวแต่ก้มหน้าด้วย อยากให้ลูกวิ่งเล่นนอกบ้าน ก็ต้องออกไปวิ่งเล่นกับลูกด้วย อยากให้ลูกอ่านหนังสือ ก็อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง ไม่ใช่เพียงแต่พูดว่าลูกต้องทำอะไรเท่านั้น

ประการที่สี่ – ทำกิจกรรมกับลูก
การสร้างรากฐานที่ดีให้กับลูกช่วงปฐมวัยสำคัญที่สุด การส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมที่หลากหลาย และฝึกทักษะที่จำเป็น ต้องเริ่มจากพ่อแม่ ที่ต้องทำกิจกรรมร่วมกับลูก จะเป็นกิจกรรมในบ้าน หรือนอกบ้านที่มีความเคลื่อนไหวก็ได้ รับประกันว่าลูกสนุกและมีความสุขกับพ่อแม่ ผู้ปกครองมากกว่ามือถือแน่

สิ่งสำคัญคือ ก่อนที่เด็กจะรู้จักกับสื่อดิจิทัลทั้งหลาย พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกมีทักษะทางสังคมที่ดีเสียก่อน ให้พวกเขาได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมถึงสอนให้เด็กเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น รู้จักควบคุมอารมณ์ อดทนรอคอยได้

ถ้าหากพ่อแม่ละเลยทักษะที่สำคัญเหล่านี้ และมาฝึกในภายหลังจะทำได้ยาก เพราะเด็กที่ติดสื่อดิจิทัลมีแนวโน้มจะแยกตัวและมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง เอาแต่ใจตนเองและอดทนรอคอยไม่เป็น ซึ่งเป็นผลเสียต่อพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมของเด็กด้วย
และที่น่าหนักใจไปกว่านั้นก็คือ เด็กติดเกมตั้งแต่เล็ก มีแนวโน้มจะติดเกมระดับรุนแรงเมื่อโตขึ้นด้วย
ที่สำคัญ เด็กเล็กควรมีโอกาสได้เติบโตแบบมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย เพราะถ้าเด็กติดมือถือ สิ่งที่เด็กจะขาดคือ “โอกาส” และ “ทักษะ” ที่จำเป็นอีกหลายประการ
เรื่องเด็กเล็กติดเกมหรือมือถือ ต้องโทษพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างเดียวเลย !


กำลังโหลดความคิดเห็น