กรมสุขภาพจิต พบผู้ป่วยเข้ารับบำบัดติด “กัญชา” เพิ่มขึ้น มักมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง ชี้สารทีเอชซีกระตุ้นโรคจิตเวช ส่วนซีบีดีลดวิตกกังวล ซึมเศร้า การใช้ต้องมีสัดส่วนเฉพาะ จ่อร่วมงานวิจัยต่างๆ ดูสารสกัดกัญชามีผลต่อโรคจิตเวชหรือไม่ พร้อมศึกษาแก้อาการสั่นเรื้อรังจากยาจิตเวช และตำรับยาศุขไสยาสน์ช่วยผู้ป่วยจิตเวชนอนหลับ
วันนี้ (28 พ.ค.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลผู้เข้ารับการบำบัดอาการทางจิตเวชใน รพ.จิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ พบว่า มีจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดการเสพติดกัญชาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2560 มีจำนวน 2,127 คน ปี 2561 มีจำนวน 2,612 คน ส่วนปี 2562 เพียงแค่ 4 เดือนแรก มีแล้ว 1,468 คน แบ่งเป็น ม.ค. 484 คน ก.พ. 335 คน มี.ค. 375 คน และ เม.ย. 274 คน เข้ามาด้วยอาการหูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง หัวเราะคนเดียว เป็นต้น ทั้งนี้ จากข้อมูลเชิงวิชาการ พืชกัญชามีสารสำคัญหลายตัว อย่างสารทีเอชซีจะมีฤทธิ์กระตุ้นโรคทางจิตเวช แต่ก็มีสารที่เป็นประโยชน์อย่างซีบีดี มีข้อมูลว่าช่วยลดความวิตกกังวล ซึมเศร้า การเคลื่อนไหวผิดปกติที่เป็นผลมาจากการใช้ยารักษาโรคจิตเวชในสมัยก่อน เป็นต้น แต่ย้ำว่าต้องมาในรูปแบบของการเป็นยา และมีสูตรเฉพาะที่เหมาะสม เพราะบางโรคบางอาการต้องการเฉพาะสารซีบีดี บางโรคต้องมีสัดส่วนของซีบีดี ทีเอชซี ในปริมาณที่แตกต่างกัน และต้องใช้ภายใต้การควบคุมของจิตแพทย์
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า เรารู้แล้วว่าสารสกัดในกัญชามีประโยชน์ สิ่งที่กรมฯ ดำเนินการอยู่มี 2 ส่วน คือ 1.เข้าไปขอร่วมในโครงการวิจัยทางการแพทย์ของหน่วยงานต่างๆ ที่ทำอยู่ขณะนี้เพื่อต้องการทราบว่าการใช้สารสกัดกัญชาเพื่อรักษาโรคหนึ่งๆ นั้นมีผลกระทบกับกับโรคทางจิตเวชอย่างไรหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้กัญชาในเมืองไทยยังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เลยไม่ได้มีการเก็บข้อมูลทางด้านจิตเวชมากเท่าที่ควร และ 2.กรมฯ จะศึกษาเรื่องการใช้สารสกัดกัญชารักษาอาการสั่นเรื้อรังรักษาไม่หาย ที่เป็นผลมาจากการใช้ยารักษาโรคทางจิตเวชสมัยก่อน และร่วมศึกษาตำรับยาศุขไสยาสน์กับผู้ป่วยจิตเวช ช่วยเรื่องการนอนหลับ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเขียนโครงการ