กรมควบคุมโรค ออกประกาศระวัง 5 กลุ่มโรคหน้าฝน ทั้งระบบทางเดินหายใจ โรคมียุงเป็นพาหะ โรคทางเดินอาหารและน้ำ โรคติดต่ออื่นๆ และภัยสุขภาพ
วันนี้ (23 พ.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตนได้ลงนามในประกาศกรมควบคุมโรค เรื่องการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2562 เพื่อให้ประชาชนเฝ้าระวังและดูแลตัวเองโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งมี 5 กลุ่มโรคที่พบได้บ่อย ได้แก่ 1.กลุ่มโรคติดต่อทางระบบหายใจ ได้แก่โรคไข้หวัดใหญ่ พบได้ในทุกอายุ พบป่วยมากในเด็กเล็ก ส่วนผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ส่วนโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อทางการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายหรือไอจามรดกัน ป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น หมั่นล้างมือ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
2.กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ ได้แก่ ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ มาลาเรีย ไข้ปวดข้อยุงลาย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ทั้งหมดป้องกันได้ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด 3.กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ อหิวาตกโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม หรือจากแมลงวันที่เป็นพาหะนำโรค ส่วนโรคไวรัสตับอักเสบเอ ติดต่อจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่ง น้ำลาย เลือดจากผู้ป่วย ทั้ง 2 โรคป้องกันด้วยการรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม อาหารค้างมื้อควรอุ่นให้ร้อนจัดก่อนรับประทาน หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ ดื่มน้ำสะอาด และฉีดวัคซีนป้องกันโรค
4.กลุ่มโรคติดต่ออื่นๆ ได้แก่ โรคมือ เท้า ปาก พบบ่อยในเด็ก ระบาดทุกปีช่วงฤดูฝนหรือเปิดเทอม ติดต่อจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วย ส่วนโรคเลปโตสไปโรซิส เชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือไชเข้าผิวหนังที่แช่น้ำนานจนอ่อนนุ่ม และ 5.กลุ่มภัยสุขภาพในฤดูฝน ได้แก่ เห็ดพิษ จึงไม่รับประทานเห็ดที่ไม่รู้จัก ส่วนอันตรายจากสัตว์มีพิษ ป้องกันโดยจัดบ้านให้สะอาด ระมัดระวังเมื่อต้องเข้าไปในที่รก ส่วนภัยจากฟ้าผ่าเมื่อฝนตกฟ้าคะนอง ให้หลบในที่ปลอดภัย เช่น อาคารขนาดใหญ่ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้งเพราะจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในโทรศัพท์มือถือได้ และขอให้ขับรถด้วยความระมัดระวัง เพราะฝนตกถนนลื่นทำให้ระยะการหยุดรถยาวกว่าปกติ การมองเห็นลดลง