xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สั่งเก็บข้อมูลผลข้างเคียง "น้ำมันกัญชา" หลังพบใช้เกินขนาดจนเข้า รพ. ย้ำใช้กันเองเสี่ยงติดยา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมการแพทย์ ยัน "น้ำมันกัญชา" รักษา 39 โรค ยังไม่มีข้อมูล เบื้องต้นใช้ได้ 4 โรค สั่ง สบยช.เก็บข้อมูลเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากการใช้ "กัญชา" รักษาโรค หลังพบคนไข้ใช้เกินขนาดจนเข้าห้องฉุกเฉิน ย้ำใช้กันเอง จะยิ่งดื้อยา เพิ่มโดสมากขึ้นจนเกิดการติดยา ต้องรักษาฟื้นฟูกว่า 4 เดือน ด้าน อย.จ่อเก็บข้อมูลผลกระทบจากกัญชาเป็นระบบ

วันนี้ (23 พ.ค.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีการให้ข้อมูล "น้ำมันกัญชา" เอามาใช้รักษาได้สารพัดโรคถึง 39 โรค ทางโซเชียลมีเดีย ว่า ขณะนี้ยังไม่มีเอกสารทางการแพทย์ยืนยันว่าสามารถรักษาได้ ที่ยืนยันได้มีแค่ 4 โรคเท่านั้น คือ 1.โรคลมชักในเด็กบางชนิด ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้แล้ว 2.คลื่นไส้อาเจียนรับยาเคมีบำบัด ที่ใช้ยาแก้ไม่ได้แล้ว 3.ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ที่ดื้อยาแล้ว และ 4.ปวดประสาทที่ใช้ยาแก้ปวดอื่นไม่ได้แล้ว มี 4 โรคนี้ที่พบว่า ได้ประโยชน์ นอกเหนือจากนั้นน่าจะยังต้องศึกษาวิจัยทั้งนั้น ทั้งโรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ซึ่งแพทย์สามารถสั่งจ่ายได้ แต่ต้องมีการติดตามและเก็บข้อมูลผลลัพธ์ ซึ่งอยากให้รูปแบบเป็นเช่นนี้ และไม่อยากให้คนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการใช้กัญชามาต่อว่ากัน อาจจะต้องหาเอกสารหลักฐานมากขึ้น เพราะเราทราบดีว่า กัญชามีประโยชน์และโทษ และกัญชาไม่ใช่ยาครอบจักรวาลรักษาทุกโรค โทษยังมีอยู่มาก และยังเป็นยาเสพติดอยู่ ใช้มากไปหรือไม่มีข้อบ่งชี้ อาจไม่เหมาะสม

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีการใช้น้ำมันกัญชาเกินขนาดจนเข้าห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล ตรงนี้ถือเป็นหยอดของภูเขาน้ำแข็ง จริงๆ ยังมีปัญหาอยู่อีกมาก จากการไปเยี่ยมสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) หรือ รพ.ธัญญารักษ์ พบว่ายังมีคนไข้จากการใช้กัญชาที่ต้องบำบัดรักษา ฟื้นฟู บำบัด ซึ่งใช้เวลา 3-4 เดือน และไปเจอเคสอายุไม่ถึง 20 ปีด้วยซ้ำ ซึ่งเขาบอกว่า ใช้แล้วหลอน ซึ่งกรมฯ กำลังให้ สบยช.วางระบบว่า จะมีการเฝ้าระวังอาการข้างเคียง หรืออาการถอนพิษ อาการขาดกัญชา ทั่วประเทศว่า มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มากน้อยแค่ไหน

"ถ้าเป็นทางการแพทย์แผนปัจจุบันไม่อยากให้ใช้กัญชาเอง ตอนนี้เราทยอยอบรมแล้วมีหมอ เภสัชกร ซึ่งจะระบุไว้เลยว่ามีอยู่จังหวัดไหนบ้าง คนไข้ที่จะใช้ก็ไปปรึกษาได้ เช่น ถ้ารักษามะเร็งกับหมอคนไหนก็ปรึกษาหมอคนนั้นก่อนเลย ซึ่งกรมกำลังปฏิรูปการรักษามะเร็งของ รพ.มะเร็งในสังกัดกรมฯ ให้รักษามะเร็งแบบบูรณาการ ส่งแพทย์และเภสัชกรมาอบรมทั้งหมด ซึ่งมาทีเดียวได้ครบทั้งหมด จะมีสมุนไพรหรืออะไรก็มาปรึกษาได้ ซึ่งแพทย์จะบอกว่าตัวนี้ดีไม่ดีอย่างไร ใช้คู่กันได้หรือไม่ ไม่อยากให้ปิดและไปใช้เอง ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าสารสำคัญในนั้นมีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร มีสารอื่นอีกหรือไม่" นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สรายุทธ บุญชัยพานิชวัฒนา ผอ.สบยช. กล่าวว่า การใช้น้ำมันกัญชาเองมีโอกาสเสพติดได้ เนื่องจากเมื่อเริ่มใช้เองในปริมาณน้อยๆ แล้วรู้สึกว่าอาการดีขึ้น นอนหลับดีขึ้น หายปวด แต่ใช้ไปแล้วจะเกิดภาวะดื้อยา คือ หยดปริมาณเท่าเดิม แต่ไม่หาย ก็ต้องใช้มากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเกิดอาการติดยา ซึ่งกัญชามีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการหลอนประสาทและจิตประสาทได้ ยังมีคุณสมบัติเป็นยาเสพติด โดยออกฤทธิ์ในลักษณะการกระตุ้นประสาท คือ กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง อวัยวะต่างๆ กระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัว หัวใจเต้นเร็ว อาจลุกลี้ลุกลน กระสับกระส่าย ไม่นิ่ง และมีฤทธิ์กดประสาท เช่น ง่วง ซึม หรือรับรู้อะไรลดลง

"การจะใช้ต้องมีข้อบ่งชี้จริงๆ ไม่ควรไปริไปลอง คือ รักษาโรคตามวิธีปกติมาตรฐานก่อน แล้วไม่หาย ถ้าไปใช้กัญชาก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งกำลังอบรมแพทย์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยผู้ป่วยพิจารณาได้ว่า อาการนี้ ข้อบ่งชี้ประมาณนี้ ใช้ยาทั่วไปไม่หาย มีอาการมากน้อยหรือรุนแรงปานกลาง อายุเท่านี้ ดูจากหลายปัจจัย ต้องใช้น้ำมันกัญชาหรือไม่ ใช้น้ำมันกัญชาส่วนผสมเท่าไร ควรต้องหยดเท่าไร ห่างกันกี่ชั่วโมง เหมือนหาหมอแล้วได้ยามาว่า ยาชนิดนี้ควรกินอย่างไร ห้ามกินร่วมกับอะไร เป็นต้น ดังนั้น การไปคิดว่า กัญชาเป็นทางออก เป็นยาสารพัดประโยชน์แล้วเอาไปใช้เอง ย้ำว่า อันตราย ไม่สมควร" นพ.สรายุทธ กล่าวและว่า ส่วนการใช้กัญชาแล้วเกิดอาการผิดปกติให้รีบมาพบแพทย์ เช่น รู้สึกหวิวเหมือนจะเป็นลม ใจเต้นเร็ว ใจสั่นๆ งงมึนบ้านหมุน หรืออาการทางจิตใจ เช่น อารมณ์ฉุนเฉียวขึ้น วิตกกังวลเกินเหตุ มีความสุขมากกว่าปกติ

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้กัญชา เป็นการรายงานด้วยวาจาจากกลุ่มแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ ยังไม่ได้มีการรายงานอย่างเป็นระบบ จึงยังไม่ทราบจำนวนที่ชัดเจน อยู่ระหว่างประสานขอให้มีการเก็บข้อมูลและรายงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งเรื่องนี้ตนได้รายงานต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปลัด สธ. และเลขาธิการ อย.ทราบแล้ว ทันทีที่กลับจากการประชุมองค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ เรียนว่าแม้จะไม่พบว่า การใช้นำมันกัญชามีผลข้างเคียงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็มีอันตราย เพราะแต่ละคน แต่ละโรคจะมีข้อจำกัดการใช้แตกต่างกัน ยิ่งกรณีที่มีการสกัดกันเอง เราไม่อาจทราบว่า มีปริมาณสารสำคัญแต่ละตัวมากน้อยแค่ไหน เพราะสารที่นำมาสกัด การผสมสารอื่นในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ทั้งหมดย่อมมีผลต่อการใช้ และผลจากการใช้แต่ละคนไม่เหมือนกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น