กรมการแพทย์หารือ อภ. เตรียมใช้น้ำมันกัญชาสูตร "ซีบีดี" สูง ในกลุ่มผู้ป่วยลมชักในเด็กที่จำเป็นก่อน ในกลุ่มอาการชักทั้งตัวและแบบผงกหัว คาดมี 2.5 พันคน ประสานสมาคมกุมารประสาทวิทยาฯ เฟ้นเคสที่ต้องใช้น้ำมันกัญชา ให้ รพ.ละ 10 เคส ส่วนสูตร "ทีเอชซีสูง" ต้องรอหารือ สูตรหนึ่งต่อหนึ่งอาจใช้ในผู้ป่วยประคับประคอง
วันนี้ (21 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. กรมการแพทย์ หารือร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถึงการบริหารจัดการ "น้ำมันกัญชา" ที่ อภ.ผลิตขึ้นล็อตแรก จำนวน 2,500 ขวด ขนาด 5 มิลลิลิตร จะนำไปใช้กับผู้ป่วยอย่างไร มีระบบติดตามและควบคุมอย่างไร
นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า การผลิตน้ำมันกัญชาของ อภ.มีจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยทุกคนได้ ข้อสรุป คือ สถานพยาบาลที่จะใช้น้ำมันกัญชา จะต้องขออนุญาตกับ อย.ก่อน ส่วนการนำมาใช้กับผู้ป่วยต้องเป็นผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจริงๆ โดยพิจารณาว่าเข้าเกณฑ์ที่ต้องรักษาด้วยกัญชาหรือไม่ เช่น ใช้ยาหรือผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล เป็นต้น ทั้งนี้ น้ำมันกัญชาที่ผลิตแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีทีเอชซีสูง ซีบีดีสูง และสัดส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง โดยส่วนของน้ำมันกัญชาที่มีซีบีดีสูง เบื้องต้นจะใช้ในกลุ่มผู้ป่วยลมชักในเด็ก โดยรูปแบบการจัดการและหลักเกณฑ์ในการใช้ จะมีสถาบันประสาทวิทยาเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อเป็นรูปแบบตัวอย่างของโรงพยาบาลอื่นต่อไป ส่วนน้ำมันกัญชาที่มีสัดส่วนสารหนึ่งต่อหนึ่ง มีแนวโน้มจะใช้ในผู้ป่วยประคับประคอง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติและโรงพยาบาลมะเร็ง 7 แห่ง ขณะที่ทีเอชซีสูงยังต้องหารือเพิ่มเติม
พญ.อาภาศรี ลุสวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กุมารประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า การใช้น้ำมันกัญชาที่มีสารซีบีดีสูง หรือ ซีบีดีออยล์ 99% ในผู้ป่วยโรคลมชักในเด็ก มีผลการศึกษาว่า ใช้ได้ผลดีกับกลุ่มอาการชักรักษายาก คือ ชักเกร็งกระตุกทั้งตัวอย่างรุนแรง และชักแบบผงกหัวทำให้หัวแตกได้ ซึ่งจากการคำนวณแล้วผู้ป่วยโรคลมชักในเด็กทั้งประเทศมีความชุกประมาณ 25,000 ราย โดย 2 กลุ่มอาการนี้มีอยู่ประมาณ 10% หรือประมาณ 2,500 ราย แต่ซีบีออยล์หรือน้ำมันกัญชาที่มีซีบีดีสูงของ อภ.เป็นเพียงส่วนหนึ่งของจำนวน 2,500 ขวดเท่านั้น การเลือกให้ซีบีดีออยล์ กุมารประสาทวิทยาที่อยู่ในทุกโรงพยาบาลรัฐและโรงเรียนแพทย์ ซึ่งมี 37 แห่ง ภายใต้สมาคมกุมารประสาทวิทยาประเทศไทย จะมีการหารือตกลงกันถึงการเลือกเคสว่า แบบไหนถึงจะควรได้รับซีบีดีออยล์ในการรักษา เช่น ได้รับยากันชักไปแล้ว 6-7 ตัวก็ยังไม่หาย เป็นต้น และเบื้องต้นอยากให้แต่ละโรงพยาบาลดูแลประมาณไม่เกิน 10 เคส