xs
xsm
sm
md
lg

กอปศ.เสนอยกร่างสมรรถนะศึกษานิเทศก์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กอปศ.เสนอยกเครื่องศึกษานิเทศก์ หวังช่วยแก้คุณภาพการศึกษาลดลง เผยร่างพัฒนา 4 ด้าน 15 สมรรถนะย่อย ชี้ปัจจุบันมี 5 พันคนจำนวนน้อย พร้อมเตรียมทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายขอให้ความสำคัญดันออกมา

วันนี้ (21 พ.ค.) รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังประชุม กอปศ. ที่มี ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ.เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงข้อเสนอต่อรัฐบาลที่ยังขาดอยู่ โดย กอปศ.เห็นว่าศึกษานิเทศก์ (ศน.) เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แต่หลังจากเปลี่ยนระบบการศึกษาเมื่อปี 2542 ทำให้มีจำนวน ศน. ลดลง และ ศน.ที่มีอยู่ก็ไม่ได้มีโอกาสทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ส่วนใหญ่ไปทำงานโครงการตามนโยบาย ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาลดลง เพราะครูไม่ได้รับการช่วยเหลือ ดังนั้น กอปศ.จึงอยากให้ ศน.กลับมามีความเข้มแข็งอีกครั้ง ให้มีจำนวนที่เพียงพอ และได้รับการพัฒนาและการสนับสนุนอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการครูและอาจารย์ ของ กอปศ. ได้ยกร่างสมรรถนะของ ศน.ทั้งหมด 4 ด้าน 15 สมรรถนะย่อย ได้แก่ 1. เป็นผู้นำการเรียนรู้ 2.เป็นผู้นำด้านการคิดและการปฏิบัติตน 3.เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายที่ท้าทาย และ 4.การสนับสนุนอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ซึ่งผู้ที่เป็น ศน.จะต้องเป็นครู ที่มีความโดดเด่น เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องมาก่อน และได้รับการพัฒนามาตามลำดับ เช่น เป็นผู้ช่วยหัวหน้าหมวดวิชา หัวหน้าหมวดวิชา เป็นต้น ปัจจุบันมี ศน. ประมาณ 5,000 คน ครึ่งหนึ่งอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) ถือว่ามีจำนวนน้อยมาก จริงๆแล้วโรงเรียนควรมี ศน.ประจำโรงเรียน โดยอาจจะให้ ศึกษานิเทศก์ 1 คน ดูแลโรงเรียน 5-10 โรงเรียน เป็นต้น

ด้าน รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ กรรมการ กอปศ. กล่าวว่า กอปศ.ได้พิจารณาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยนำสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาทบทวนความเข้าใจ โดยจะเสนอแนะในเชิงนโยบาย ว่า ระดับนโยบายต้องกำหนดเรื่องนี้ออกมา โดยแนวทางการพัฒนาคุณภาพในอนาคตต้องเปิดกว้างกว่าเดิม มีความหลากหลาย เหมาะสมกับระบบการศึกษา ระดับการศึกษา ประเภทและลักษณะของสถานศึกษานั้นๆ หัวใจสำคัญต้องเริ่มต้นที่โรงเรียน ในการประกันคุณภาพของสถานศึกษาที่ต้องนำองค์ประกอบต่างๆมาทบทวนเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และการประเมินคุณภาพ ซึ่งมีกลไกการประเมินระดับชาติจากส่วนกลางเป็นครั้งคราวตามความจำเป็น ไม่ใช่ประเมินทุกปี
 

ทั้งนี้ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา( สมศ.) และ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ต้องปรับวิธีการประเมินที่มุ่งเน้นให้มีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับหลักสูตร ฐานสมรรถนะ อย่างไรก็ตาม ทั้ง กอปศ.และคณะกกรมการกฤษฏีกา เห็นตรงกันว่า วัฒนธรรมคุณภาพ เป็นหัวใจสำคัญ เรื่อง จิตวิญญาณความเป็นครู น้ำใจ และการคิดถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ เขียนไว้ในกฎหมายไม่ได้แต่ต้องช่วยกันทำ ซึ่งจะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นเรื่อยๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น