“สุเทพ” รับตำแหน่ง เลขาธิการ กพฐ.วันแรก โละนโยบายท็อปดาวน์ เน้นฟังเสียงในพื้นที่ ย้ำการทำงานแต่ละระดับ ผอ.เขตฯต้องยึดร.ร.เป็นฐาน ผอ.ร.ร.เน้นห้องเรียน และครูต้องเน้นเด็กนร.
วันนี้ (21 พ.ค.) ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเดินทางเข้ารับตำแหน่งวันแรก ว่า ตนเข้ามารับตำแหน่งรักษาราชการแทน เลขาธิการ กพฐ. เป็นวันแรก ซึ่งเมื่อ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรมว.ศึกษาธิการ มีคำสั่งมาเช่นไรก็ต้องปฏิบัติตาม โดยการทำงานจากนี้ตั้งใจจะรับฟังผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ให้มาก เพราะเห็นชัดเจนแล้วว่า นโยบายแบบท็อปดาวน์ ที่สั่งจากข้างบนลงล่าง โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มักจะไม่ประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันยังได้มีการหารือกับ ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เบื้องต้นเกี่ยวความร่วมมือ พัฒนาความเชื่อมโยงการจัดการศึกษา โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บูรณาการประสานการจัดการศึกษาระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อที่จะเชื่อมโยงการศึกษาในทุกมิติ ทั้งด้านปริมาณในการรับสมัครผู้เรียนเข้าศึกษาต่อในสายวิชาชีพ และด้านคุณภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา
ดร.สุเทพ กล่าวต่อว่า สำหรับการทำงานหลัก ๆ ที่จะเข้ามาดำเนินการในช่วงระยะเวลาที่เหลืออีก 5 เดือน ก่อนที่ตนจะเกษียณอายุราชการ มีอยู่ 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ การเดินหน้าสนับสนุนโครงการในพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะโครงการจิตอาสา ที่ต้องเร่งดำเนินการ ขณะเดียวกันยังมีงานที่ต่อทำต่อเนื่องจากนโยบายเดิม ทั้งการพัฒนาโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล เป็นต้น และเรื่องที่คิดไว้ในใจ ว่าจะทำในช่วงที่รับตำแหน่งเลขาธิการ กพฐ. ซึ่งต้องมีการหารือกับโรงเรียน และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) หลายเรื่อง อาทิ การปฏิรูปการเรียนการสอน ที่เน้นห้องเรียนและครู ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการจัดการศึกษา ส่วนจะมีแนวทางอย่างไรนั้น คงไม่สามารถบอกได้ รอหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อน
“สัปดาห์หน้าผมจะประชุมร่วมกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ภารกิจ สภาพปัญหา วางแผนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาซึ่งต่อไปการทำงานนั้น จะต้องยึดตามนี้ คือ ในระดับพื้นที่ ผอ.เขตพื้นที่ฯยึดโรงเรียนเป็นฐาน ผอ.โรงเรียนยึดห้องเรียนเป็นฐาน และครูผู้สอนยึดนักเรียนเป็นฐาน และจะต้องมีการสร้างศูนย์ข้อมูลการบริหารระดับโรงเรียนและระดับเขตพื้นที่ฯ เพราะการพัฒนาต่างๆต้องอาศัยข้อมูล เช่น การพัฒนาเด็กรายบุคคล การยกระดับคุณภาพห้องเรียน จะพัฒนาเช่นไรต้องมีฐานเดิมเพื่อประกอบการวางแผน ซึ่งผมก็จะให้เงินแก่เขตพื้นที่ฯนำไปดำเนินการ”ดร.สุเทพ กล่าวและว่า ส่วนกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีข้อห่วงใยเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือและโซเชียลมากขึ้นทำให้เกิดปัญหาสมาธิสั้น อารมณ์ฉุนเฉียวง่ายนั้น สพฐ.จะหารือร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนในการหาแนวทางป้องกันที่เหมาะสม ส่วนตัวมองว่าต้องมีการป้องปรามและส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้การใช้มือถือและโซเชียลอย่างเหมาะสม