“วัคซีนโรตา” เตรียมเป็นวัคซีนพื้นฐานประเทศในปี 63 ช่วยป้องกันโรคอุจจาระร่วงในเด็กแรกเกิด ให้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ส่วนวัคซีนไอพีดีป้องกันปอดบวมในเด็ก คาดบรรจุได้ในปี 2564
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ (บอร์วัคซีน) กล่าวถึงความคืบหน้าการเพิ่มวัคซีนโรคพื้นฐานของประเทศไทย ว่า วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรตา ขณะนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแล้ว และที่ผ่านมาก็มีการทดลองนำร่องใช้วัคซีนหลายพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อให้ทราบถึงข้อดีข้อเสีย มีข้อบกพร่องอะไรระหว่างการใช้งานหรือไม่ เช่น การขนส่ง การจัดเก็บวัคซีน คนให้วัคซีนให้อย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งก็พบว่าวัคซีนให้ผลดี โดยคาดว่าในปี 2563 จะประกาศใช้เป็นวัคซีนพื้นฐานของประเทศไทยตัวต่อไป ซึ่งวัคซีนโรตาจะให้แก่เด็กแรกเกิดทุกคนในช่วง อายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน ซึ่งจะต้องหยอดให้ครบ
นพ.ทวีกล่าวว่า วัคซีนโรตาขณะนี้มี 2 แบบ คือ แบบที่ให้เพียง 2 ครั้ง และแบบที่ให้ 3 ครั้ง ซึ่งมีประสิทธิภาพเหมือนกัน แต่การบรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานนั้นจะเลือกใช้วัคซีนชนิดใด ก็อยู่ที่การแข่งขันทางด้านราคา เพราะแม้วัคซีนชนิดแบบให้ 2 ครั้งจะสะดวกกว่า แต่หากราคาโดยรวมเท่ากับวัคซีนให้แบบ 3 ครั้ง เช่น 600 บาทเท่ากัน แต่ชนิดให้ 2 ครั้งก็จะตกโดสละ 300 บาท ขณะที่ให้ 3 ครั้งจะตกโดสละ 200 บาท ตรงนี้ก็ต้องมาพิจารณาและดูเรื่องของการแข่งขันทางด้านราคา
นพ.ทวีกล่าวว่า ส่วนในปีถัดไปหรือปี 2564 คาดว่าจะบรรจุวัคซีนไอพีดี (IPD) ได้ โดยวัคซีนดังกล่าวเป็นการป้องกันเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้จะเกาะอยู่ที่คอมนุษย์ทุกคน แต่มีมากหรือน้อยก็อาจแตกต่างกันไปตามเศรษฐานะและการดูแลตนเอง ซึ่งเมื่อเป็นหวัด ไม่สบาย โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ ที่จะไปทำลายระบบทางเดินหายใจให้เกิดการอักเสบ เชื้อดังกล่าวที่เกาะอยู่ที่คอจึงแทรกลงไปได้ ลงไปที่ปอดกลายเป็นโรคปอดบวม ซึ่งหากแย่กว่านั้นเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิต ก็จะทำให้เกิดภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งมีเชื้อนี้เป็นเชื้อหลัก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตตามโรงพยาบาลนั่นเอง
นพ.ทวีกล่าวว่า วัคซีนดังกล่าวหากฉีดให้คนแก่มักจะเรียกว่า วัคซีนป้องกันปอดบวม แต่ในเด็กมักจะเรียกว่าวัคซีนไอพีดี ซึ่งจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า วัคซีนดังกล่าวมีประโยชน์ในการป้องกันโรค แต่ที่ยังไม่ได้บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐาน เพราะการศึกษายังไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แต่จากสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ก็พบว่า ขณะนี้มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สำหรับคนไทยแล้ว จึงน่าจะได้บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานตัวต่อไปในปี 2564