แพทยสภา แนะญาติผู้ป่วยร้องเรียน หลังพบ "หมอ" รพ.เอกชน พูดจาไม่ดี ให้กลับไปบอกลาญาติ จนตรอมใจเสียชีวิต เหตุไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะพิจารณาได้ทันที แนะสื่อสารความทุกข์ข่าวร้าย ให้ระมัดระวัง เหตุคนไข้แต่ละรายเครียดไม่เท่ากัน
วันนี้ (14 พ.ค.) พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีญาติผู้ป่วยโรคมะเร็งไปร้องต่อ นายเชาวน์ มีขวด รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และทนายความอาสา ถูกแพทย์ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งพูดจาไม่ดี ว่า โรคที่เป็นอยู่รักษาไม่หาย ให้กลับไปบอกลาญาติได้เลย ทำให้ผู้ป่วยตรอมใจและเสียชีวิต ว่า เรื่องนี้ญาติผู้ป่วยสามารถร้องเรียนมาที่แพทยสภาได้ว่าพฤติกรรมนั้นถูกต้องหรือไม่ เพื่อที่แพทยสภาจะได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาต่อ ว่าก่อนหน้านี้มีการพูดคุยกันอย่างไร แล้วหลังจากนั้นมีกระบวนการอย่างไร เพราะประโยคสั้นๆ นั้นยังไม่สามารถตอบได้ว่า เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร เรื่องนี้แพทยสภาไม่สามารถหยิบยกมาพิจารณาได้เอง เพราะเป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันสองคน แพทยสภาจะหยิบยกได้ในสิ่งที่มีความประจักษ์ชัด เช่น การโฆษณา เรื่องมาตรฐานการรักษา เป็นต้น
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวว่า เรื่องการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ในนามส่วนตัวเห็นว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อน โดยเฉพาะการสื่อสารเรื่องความทุกข์ เข้าใจว่าแพทย์อาจจะมีเวลาจำกัดทำให้มีเวลาสื่อสารน้อย ยังไม่สมบูรณ์ แต่ขอให้ระมัดระวังการสื่อสารโดยเฉพาะการสื่อข่าวร้ายกับผู้ป่วยให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายและสภาวการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการสื่อข่าวร้ายทางการแพทย์นั้นมีจำนวนมาก แต่มีปัญหาในทำนองดังกล่าวไม่มาก สะท้อนว่าส่วนใหญ่สื่อสารได้ดี อย่างไรก็ตาม ขอให้แพทยท์ระมัดระวังเรื่องการสื่อสาร เพราะผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะมีความเครียดไม่เท่ากัน พยายามให้เวลามากขึ้นเท่าที่เป็นไปได้ เราเข้าใจว่าภาระงานที่มากก็เป็นข้อจำกัด ซึ่งแพทยสภากำลังขับเคลื่อนเรื่องของช่วงเวลาทำงานที่เหมาะสม เพื่อให้แพทย์สามารถมีเวลาสื่อสารที่เหมาะสมได้
“ในเหตการณ์เดียวกัน ข้อเท็จจริง คือ แพทย์ ผู้ป่วย และญาติมองแตกต่างกันได้ หลายสถานการณ์ความเจ็บป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลในโรงพยาบาล แต่หลายสถานการณ์ความเจ็บป่วยการอยู่ท่ามกลางคนที่รักก็ดีที่สุด แต่ทั้งแพทย์ ญาติ และคนไข้ สิ่งที่ดีที่สุด คือ การสื่อสารให้ตรงกัน คงตอบยากว่าใครถูก ใครผิด หรือที่เข้าใจนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะแต่ละรายไม่เหมือนกัน สำหรับญาติผู้ป่วยก็พยายามขอข้อมูลโรคให้มากที่สุดจากแพทย์ ส่วนแพทย์ก็พยายามให้ข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะนอกจากเราจะดูแลสุขภาพร่างกายแล้วอาจจะต้องดูแลทางด้านจิตใจด้วย เรื่องการสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญ” เลขาธิการแพทยสภา กล่าว