กอปศ.ฉายภาพปัญหาโครงสร้าง ศธ.เกิดจากการผูกขาดงานบริหารที่ส่วนกลาง การให้จังหวัดเป็นจุดยุทธศาสตร์ยังไม่ถึงเป้าหมาย ขาดความต่อเนื่อง ยังมีปัญหาการโยกย้ายที่อนากคนต้องรับ ชี้องค์กรหลักต้องปรับบทบาทเป็นฝ่ายสนับสนุน เพื่อลดความซ้ำซ้อน
วันนี้ (14 พ.ค.) ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมกอปศ. ว่า ที่ประชุมพิจารณาผลการดำเนินการของกอปศ. ซึ่งได้ดำเนินการ และมีผลสัมฤทธิ์ปรากฎออกมา คือ การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... และพ.ร.บ.ระดับรอง 3 ฉบับ ทั้งนี้กอปศ. จะรวบรวมเรื่องทั้งหมดไว้ในรายงานกอปศ. ซึ่งจะชี้แจงข้อมูลทั้งหมดที่ได้พบ รวมถึงแนวทางที่คิดว่าควรต้องดำเนินการต่อ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์
ด้าน นายชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ในฐานะประธานอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เปิดเผยภายหลังประชุมกอปศ. ว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณา การปรับโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องมาระดับหนึ่ง โดยสรุปลักษณะปัญหา โครงสร้างของศธ. พบว่า ผูกขาดการบริหารงานอยู่ที่ส่วนกลางค่อนข้างมาก การกระจายอำนาจ ความรับผิดชอบและงบประมาณ ลงไปสู่สถานศึกษาอยู่ในจุดที่ควรแก้ไข ขณะที่ระบบการบริหารการศึกษา ซึ่งมอบให้จัดหวัดเป็นจุดยุทธศาสตร์ ยังไม่สามรถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย นโยบายยังขาดความต่อเนื่อง เมื่อมีความเปลี่ยนแปลง ทำให้ประสิทธิผลต่ำ
ทั้งนี้ ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริง คือ ศธ. ยังใช้บุคลากร 4-5 แสนคน ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่ใหญ่มาก เมื่อมีคนมากจำเป็นต้องสร้างระบบธรรมาภิบาลที่ดี แต่ก็พบว่า มีปัญหาในการโยกย้าย ดังนั้นการทำงานในอนาคตจึงควรพิจารณาถึงจำนวนผู้เรียนที่ลดลง และปรับให้เหมาะสมกับการทำงาน โดย กอปศ.มองว่า ถ้าจะปรับโครงสร้างควรมีหลักคิดในเรื่องการแบ่งอำนาจหน้า การจัดการศึกษาในจังหวัด ที่จะต้องมีการถ่วงดุล ส่วนองค์การหลักต่าง ๆ ควรมีบทบาทสนับสนุนการจัดการศึกษา ลดความซ้ำซ้อน โดยควรมีระบบสารสนเทศกลาง หรือบิ๊กดาต้า ใช้ในการวางแผนงานเชิงยุทธศาสตร์ ขณะที่การบริหารงานบุคคลควรมีลักษณะเดียวกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ทำหน้าที่ ในการวางกฎเกณฑ์เข้าสู่ตำแหน่ง แต่กระบวนการสรรหาและบรรจุแต่งตั้ง ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายชัยยุทธ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาการปฏิรูปการศึกษาที่มีมาตั้งแต่พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 คือ การพยายามส่งเสริมการเป็นนิติบุคคลของสถานศึกษา แต่ยังมีอุปสรรค เป็นที่มาให้มีการผลักดันแนวคิดให้สถานศึกษามีความเป็นอิสระใน 4 ด้าน คือ การบริหารงานทั่วไป การบริการงานวิชาการ งานบุคคล และงบประมาณ โดยมองว่าสภาพปัญหาที่ผ่านมา การให้อิสระในการบริหารจัดการหรือความเป็นนิติบุคคล เป็นการให้แบบลอย ๆ ไม่ได้แบ่งแยกตามศักยภาพและความเหมาะสมของโรงเรียนแต่ละกลุ่ม ขณะเดียวกันยังมองกลไกที่มีผลกระทบต่อความคล่องตัว ทั้งสายการบริหารงานทำให้มีการสั่งการงานจำนวนมากลงไปที่โรงเรียน ส่งผลให้ความอิสระในการมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนลดน้องลง
“กอปศ. เสนอมาตรการ ในการไปสู่ความอิสระของสถานศึกษา ในส่วนของทางด้านวิชาการ ควรมีการตั้งสถาบันเพื่อดูแลหลักสูตร มีช่องทางช่วยเหลือโรงเรียนในการพัฒนางานวิชาการให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ส่วนงบฯ ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... ซึ่งได้เสนอให้รัฐบาลไปแล้ว มีการเปิดช่องทาง อิสระให้โรงเรียนสามารถหารายได้มากขึ้น เปิดช่องทางทบทวนความเหมาะสมในการเป็นอิสระตามความพร้อมของโรงเรียน รวมถึงคำนวณงบฯให้เหมาะสมกับความอิสระเพื่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ” นายชัยยุทธ กล่าว