xs
xsm
sm
md
lg

เปิดลงทะเบียน "ผู้ป่วย" ใช้กัญชาทางเน็ต 13-21 พ.ค. ยืนยันตัวตนก่อนพ้นนิรโทษ วางแผนดูแลไม่ให้ขาดยา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภากาชาดไทย ร่วม อย. เปิดลงทะเบียน "ผู้ป่วย" ใช้กัญชาทางอินเทอร์เน็ต 13-21 พ.ค. อำนวยความสะดวกคนเตรียมเอกสารแจ้งครอบครองไม่ทัน หลังพ้นช่วงนิรโทษ จะประสานมาตรวจสอบเอกสารภายหลัง พร้อมช่วยได้ข้อมูลระดับประเทศมีคนต้องการใช้กัญชามากน้อยแค่ไหน ส่งต่อหมอใช้กัญชาดูแล ประสาน อภ.ให้สารสกัดกัญชากลุ่มโรคจำเป็น ขาดยาไม่ได้ก่อน

วันนี้ (13 พ.ค.) ที่ห้องประชุม 1205 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ในงานแถลงข่าว "การลงทะเบียนการใช้กัญชาทางอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้ป่วยก่อนสิ้นวันนิรโทษกรรม" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า การแจ้งครอบครองกัญชาโดยไม่ต้องรับโทษ จะสิ้นสุดตามกฎหมายในวันที่ 21 พ.ค. 2562 ซึ่งเหลืออีกประมาณ 10 วัน ซึ่งหากยังไม่มาแจ้งครอบครองอาจกลายเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนให้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว รพ.จุฬาฯ สภากาชาดไทย จึงร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ และจิตอาสาภาคประชาชน พัฒนาระบบลงทะเบียนการใช้กัญชาทางอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้ป่วยขึ้น คือ www.cbd-oss.org ซึ่งจะมีการกรอกข้อมูลทั้งบัตรประชาชน ใบรับรองแพทย์ โดยข้อมูลหลักฐานต่างๆ จะถูกเก็บเป็นความลับ

"เราไม่ใช่องค์กรทางกฎหมายที่จะอนุมัติการครอบครอง แต่เป็นการอำนวยความสะดวก เพราะสามารถลงทะเบียนจากที่ไหนก็ได้ สามารถทำเองที่บ้านได้ หรือหากเป็นผู้สูงอายุที่ทำไม่เป็น ก็สามารถให้ลูกหลานที่ใช้อินเทอร์เน็ตช่วยเหลือในการลงทะเบียนได้ ซึ่งหลังจากลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตระหว่างวันที่ 13-21 พ.ค. 2562 แล้ว ก็จะส่งข้อมูลให้แก่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นการผ่อนปรนว่า ขณะนี้มีความบริสุทธิ์ใจที่จะแสดงตัวเรียบร้อย แต่ขั้นสุดท้ายจะต้องมีหลักฐานมาแสดงว่า ป่วยจริง คือ มีใบรับรองแพทย์ ซึ่งสามารถขอได้ทั้งจากคลินิก รพ.เอกชน หรือ รพ.ใกล้บ้าน" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ผู้ที่เคยแจ้งครอบครองกับทาง อย.แล้ว ก็สามารถลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตได้ เพราะการลงทะเบียนนี้จะช่วยให้ได้ข้อมูลทั่วประเทศไทยว่า ขณะนี้มีคนป่วยใช้กัญชาอยู่กี่คน มีคนป่วยในอนาคตที่มีข้อจำกัดรักษาแผนปัจจุบันและต้องใช้กัญชาแน่ๆ เท่าไร รู้ว่าไทยมีความต้องการใช้กัญชากี่ตันต่อเดือนต่อปี เพื่อพยายามจัดเตรียมกัญชาใช้ทั่วประเทศไทยอย่างถูกต้อง สะอาดบริสุทธิ์ และมีการใช้โดยวิชาการพร้อม

นายอภิวัฒน์ เฟื่องฟู ทีมพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ต กล่าวว่า การลงทะเบียนสามารถเข้าได้ 2 ทาง คือ 1.การสแกนคิวอาร์โคด และ 2.เข้าเว็บไซต์โดยตรง โดยการกรอกข้อมูลจะมี 5 ขั้นตอน คือ 1.กรอกข้อมูลส่วนบุคคล โดยกดเลือก "ยื่นเอกสารใหม่" จะมีให้กรอกคำนำหน้า ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน จังหวัดที่พักอาศัยปัจจุบัน ภาพบัตรประชาชน ซึ่งจะมีระบบเข้ากล้องอัตโนมัติ สามารถถ่ายบัตรประชาชนแล้วอัปโหลดได้ทันที ซึ่งหากกรอกข้อมูลผิดหรือไม่ครบถ้วน จะไปขั้นต่อไปไม่ได้ 2.กรอกข้อมูลอาการผู้ป่วย มี 3 ช่อง โดยช่องแรกเลือกโรคหรืออาการป่วย หากหาโรคไม่เจอ ให้เลือกอื่นๆ และระบุชื่อโรค พร้อมบอกรายละเอียดโรค 3.กรอกข้อมูลใบรับรองแพทย์ จะมีให้เลือก 6 ใบรับรองแพทย์ และใส่ชื่อผู้ประกอบวิชาชีพ เลขประกอบวิชาชีพ และถ่ายภาพรูปใบรับรองแพทย์เพื่ออัปโหลด แต่หากไม่มีใบรับรองแพทย์ ให้เลือกอันสุดท้าย 4.กรอกข้อมูลการครอบครอง คือ ปริมาณที่ต้องใช้ ประเภทกัญชาที่ครอบครอง กรอกรายละเอียดกัญชาที่ครอบครอง เช่น เป็นขวดหรือรูปแบบต่างๆ ของบรรจุภัณฑ์ ปริมาตรต่อซีซี ต่อต้น เท่าไร เป็นต้น และ 5.การยืนยันข้อมูลการลงทะเบียน ระบบจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่กรอกเป็นอัตโนมัติ เพื่อตรวจสอบดูว่า ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องก็ย้อนกลับไปแก้ไข

"ส่วนคนที่เคยแจ้งครอบครองกับ อย.แล้วก็สามารถอัปโหลดใบรับแจ้งครอบครองของ อย.เข้าระบบได้ เมื่อลงทะเบียนครบทั้งหมด จะได้เลขรหัส 4 ตัว ซึ่งจะได้ 1 รหัสต่อ 1 คน คนอื่นจะไม่ทราบ โดยให้เอาเลขรหัสนี้มากรอกในหน้าแรกที่เข้าสู่เว็บไซต์ โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และใส่รหัส 4 ตัวเป็นรหัสยืนยัน เพื่อเข้ามาดูข้อมูลว่า กรอกครบหรือไม่ ส่งยืนยันแล้วหรือไม่ได้ตลอดเวลา โดยข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับทางราชการ" นายอภิวัฒน์ กล่าว

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้แจ้งครอบครองกัญชาประมาณหมื่นราย แจ้งเข้ามาเยอะขึ้น โดยส่วนกลางตกประมาณวันละ 200 กว่าราย ทั้งนี้ ระบบการแจ้งครอบครองปัจจุบันก็มีความสะดวก สามารถไปแจ้งได้ทุกจังหวัด ใช้เอกสารไม่มาก แต่การลงทะเบียนทางออนไลน์ เป็นเรื่องที่สภากาชาดไทยช่วยอำนวยความสะดวกในการมาแจ้งข้อมูลไว้ก่อนในคนที่ไม่สามารถมาได้ทันหรือเตรียมเอกสารได้ทันในวันที่ 21 พ.ค.นี้ เช่น ลงทะเบียนไว้ก่อนแล้วไปหาใบรับรองแพทย์ เป็นต้น ซึ่งหลังจากวันที่ 21 พ.ค. อย.จะประสานเพื่อมาตรวจสอบว่า หลักฐานครบทั้ง 3 องค์ประกอบหรือไม่ ทั้งข้อมูลส่วนตัว อาการป่วย และใบรับรองแพทย์ ซึ่งหลักฐานทั้งหมดจะต้องครบ จึงไม่ต้องรับโทษ

นพ.สุรโชค กล่าวว่า การลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต กลุ่มที่แจ้งครอบครองกัญชากับ อย.แล้วก็สามารถลงทะเบียนได้ เพื่อให้ได้ข้อมูลว่า มีผู้ป่วยเท่าไร เป็นโรคที่จำเป็นต้องใช้กัญชาเท่าไร เพื่อจัดกลุ่มว่า คนไหนจำเป็นแค่ไหน ซึ่งส่วนใหญ่ที่แจ้งมาขณะนี้ยังเป็นโรคที่ไม่ควรต้องใช้ ส่วนกลุ่มจำเป็นต้องใช้ตาม 4 โรค เท่าที่แจ้งครอบครองมามีไม่ถึง 100 คน และอีกกลุ่มที่อาจจะต้องใช้ เช่น โรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ มะเร็งระยะสุดท้าย ก็มีพอสมควร ทั้งนี้ เพื่อวางระบบในการไปหาแพทย์ที่ผ่านการอบรมใช้กัญชา ทำความเข้าใจว่า โรคที่เป็นนั้นจำเป็นต้องใช้กัญชาหรือไม่ โดยต้องอธิบายผลดีผลเสีย และจัดกัญชาที่ถูกกฎหมายให้กลุ่มที่จำเป็นต้องใช้และขาดยาไม่ได้เป็นอันดับต้นๆ ก่อน โดยจะประสานกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งน่าจะได้สารสกัดกัญชาในอีก 2 เดือน จะได้ไม่ต้องไปขวนขวายหาจากใต้ดิน

"สิ่งสำคัญ คือ การมีใบรับรองแพทย์เพื่อรู้ว่าเป็นโรคอะไร เพื่อให้คนไข้รู้ตัวก่อนว่าป่วยจริงหรือไม่ และรู้ว่ากัญชามีประโยชน์และโทษ ซึ่งคนปกติดีไปใช้อาจรับความเสี่ยงจากโทษของกัญชา ต้องรู้ว่าเป็นโรค เมื่อระบุโรคมาก็จะดูว่า โรคนั้นเหมาะสมไม่เหมาะสมอย่างไร วางว่าเขาอยู่พื้นที่ไหน ควรไปหาแพทย์ที่มีความรู้ทั้งแผนปัจจุบันและเรื่องกัญชา ก็จะทำให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หลายโรคที่มาแจ้งเป็นโรคที่ไม่ควรใช้ เช่น อัมพฤกษ์อัมพาต เป็นต้น หรืออย่างคนที่มีโรคหัวใจ โรคมีความเสี่ยง ซึ่งไม่ถึงกับห้าม แต่เวลาใช้ควรระวัง ถ้าใช้ปริมาณมากกัญชาจะทำให้ความดันเลือดลดลง คนไหนเส้นเลือดตีบอยู่แล้ว เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ไม่ได้ ทั้งสมอง หัวใจ" นพ.สุรโชค กล่าวและว่า กัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ กัญชาจึงต้องได้ปริมาณที่เหมาะสม ปลอดภัย ไม่มีสารพิษ ยาฆ่าแมลง ต้องรู้สรรพคุณ โดย อย.มีการติดตามประสิทธิภาพของยา

ศ.กิตติคุณ นพ.วงศ์กุลพัทธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการสภากาชาดไทย กล่าวว่า วันที่ 15-16 พ.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารสภากาชาดไทย ซึ่งจะมีการนำประเด็นเรื่องสภากาชาดไทยจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาการใช้กัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทยอย่างไร เข้าที่ประชุมด้วย โดยยึดหลักว่า จะทำอย่างไรให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เนื่องจากสภากาชาดไทยมีเป้าหมายเพื่อดูแลประชาชนที่ทุกข์ยากด้อยโอกาส อีกทั้งยังมีกาชาดจังหวัดที่กระจายอยู่ทั่วประเทศท่จะดำเนินการในเรื่องนี้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น