xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ได้ปลอดภัย 100% "บริจาคเลือด" คัดกรองเข้ม เทียบเท่าสากล แต่มีช่วงตรวจหาเชื้อเอชไอวีไม่พบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สธ. - สภากาชาดไทย แจงติดเชื้อเอชไอวีจากการรับบริจาคเลือดได้ แต่เกิดได้น้อย ย้ำคัดกรองเข้ม ตรวจแล็บมาตรฐานสากล แต่ไม่มีอะไรปลอดภัย 100% เหตุมีช่วงตรวจหาเชื้อไม่พบ หลังเพิ่งมีความเสี่ยง ระบุเอชไอวีอยู่ที่ 5-7 วัน ตับอักเสบบี 24-27 วัน อักเสบซี 3-5 วัน ย้ำคนบริจาคต้องพูดความจริง อย่าหวังใช้บริจาคเลือดมาตรวจเชื้อ หากเพิ่งมีเพศสัมพันธ์แบบเสี่ยง ควรเว้นบริจาค 3 เดือน

วันนี้ (10 พ.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีข่าวหนุ่มรักษาลูคีเมีย ที่ รพ.บำรุงราษฎร์ แต่ติดเชื้อเอชไอวีจากการรับโลหิต ซึ่งได้รับมาจากศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย เมื่อปี 2547 หรือ 15 ปีก่อน ว่า จริงๆ แล้ว การบริจาคโลหิต จะมีมาตรฐาน เช่น ต้องมีการคัดกรองผู้มาบริจาคโลหิตว่า ไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี รวมถึงมีการตรวจเชื้อต่างๆ ของโลหิตที่บริจาคตามมาตรฐาน แต่บางส่วนอาจจะมีจุดอ่อน ซึ่งเราจะบอกว่า โลหิตที่บริจาคมีความปลอดภัย 99.99% จึงอาจมีหนึ่งในแสน ที่อาจเจอช่วงระยะที่ตรวจหาเชื้อไม่พบ ทำให้อาจมีการผิดพลาดได้บ้าง แต่ สธ.พยายามดูอย่างเต็มที่ ซึ่งมาตรฐานทุกวันนี้ก็ดีกว่ามาตรฐานในอดีต และคิดว่าปัญหาเหล่านี้คงจะลดลง อย่างการตรวจหาเชื้อเอชไอวี เมื่อก่อนจะดูจากแอนติบอดี แต่ทุกวันนี้เราดูที่แอนติเจน จะทำให้ตรวจดูได้ปลอดภัยมากขึ้น

ด้าน น.ท.หญิง พญ.อุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า กรณีดังกล่าว มีการสืบค้น ตรวจพิสูจน์ และหารือกันแล้วอย่างละเอียด ซึ่งล่าสุด รพ.ก็ออกคำชี้แจงมาแล้วว่า จะให้การช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่รับการบริจาคโลหิตแล้วตรวจพบภายหลังว่า มีการติดเชื้อ สามารถเกิดได้ แต่น้อยมาก ในช่วง10 ปีที่ผ่านมามีรายงานน้อยมาก แต่เรียนว่า ในทางการแพทย์ไม่มีอะไร 100% แต่ก็พยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุดและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระบวนการรับบริจาคโลหิตของสภากาชาดไทย จะมีการประชาสัมพันธ์ มีแบบสอบถามเพื่อคัดกรองความเสี่ยง สัมภาษณ์เพื่อคัดกรองความเสี่ยงโดยเจ้าหน้าที่ คนอาจจะรำคาญว่า ถูกถามจุกจิก แต่เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยง เพราะอาจจะมีบางอย่างที่คนไม่นึกถึง เช่น เจาะหู ทำฟัน เป็นต้น

น.ท.หญิง พญ.อุบลวัณณ์ กล่าวว่า เมื่อสัมภาษณ์เสร็จจะดูประวัติเดิมว่า อนุญาตให้บริจาคโลหิตในวันนั้นได้หรือไม่ หากผ่านแล้วเข้าสู่กระบวนการบริจาคโลหิต ก็จะนำโลหิตที่ได้ไปตรวจ ซึ่งมี 2 วิธี คือ 1.ซีโรโลยี ด้วยน้ำยาที่มีความไวสูงสุด หากมีการติดเชื้อภูมิในร่างกายก็จะเกิดขึ้น ทำให้สามารถหาร่องรอยต่อได้ว่า มีการติดเชื้อ และ 2.ตรวจด้วยวิธี Nucleic acid amplification test (NAT) เป็นการตรวจดูว่า มีสารพันธุกรรม ดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ หลงเหลืออยู่ในกระแสเลือดมากน้อยแค่ไหน โดยผลการตรวจจะบันทึกและส่งข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ไปยังจุดคัดโลหิตออก หากโลหิตติดเชื้อก็จะถูกคัดออก ส่วนโลหิตที่ดีจะมีการพิมพ์ฉลากผ่านระบบคอมพิวเตอร์เข้าระบบพร้อมจ่าย ดังนั้น อยากให้ประชาชนมั่นใจในระบบการรับบริจาคเลือด

“แต่ที่บอกว่า ทางการแพทย์ไม่มีอะไร 100% หมายความว่า ช่วงที่ติดเชื้อมาใหม่ๆ เช่น มีเพศสัมพันธ์เมื่อวานแล้ววันนี้มาบริจาคเลือด เชื้อที่มีในตัวยังน้อย จึงตรวจหาไม่เจอ เพราะการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จะสามารถตรวจเจอได้นั้น ต้องมีปริมาณน้อยที่สุดแค่ไหน ถ้าน้อยมากๆ ก็หาไม่เจอจริงๆ ซึ่งเราหากทราบความเสี่ยงเช่นนี้ เราก็ไม่รับการบริจาคเลือดจากบุคคลนั้นเลย แต่การตอบแบบสอบถามนี้ เป็นการขอความร่วมมือ ไม่ได้บังคับ ฉะนั้น ผู้จะบริจาคต้องตอบตามความเป็นจริง หากตอบบ่ายเบี่ยง หรือใช้การบริจาคเลือดเพื่อต้องการตรวจว่า ตัวเองติดเชื้ออะไรหรือไม่ ตรงนี้เป็นความเสี่ยง หากผู้บริจาคตอบตามจริง และคัดกรองตัวเองออกตั้งแต่แรกก็จบ” ผอ.ศูนย์บริการโลหิตฯ กล่าว

ด้าน ผศ.พญ.จารุพร พรหมวงศ์ รอง ผอ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ กล่าวว่า ต้องขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การตรวจโลหิตที่บริจาค ไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป แต่เลือดที่มีความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล ไม่ได้แปลว่า ไม่มีความเสี่ยงเลย เนื่องจากมีระยะที่ผู้บริจาคโลหิตไปมีความเสี่ยง เช่น ฉีดยาเสพติดเข้าเส้น หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ แต่เป็นระยะเริ่มต้น หรือ ระยะวินโดว์พีเรียด (window period) คือ ระยะที่มีเชื้อในเลือด แต่ระบบการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบ ซึ่งเป็นข้อจำกัดทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีที่ใดสามารถตรวจได้ เพราะเชื้อยังอยู่ในเนื้อเยื้อหรือปริมาณเลือดน้อยเกินไป จึงตรวจไม่พบ ซึ่งแต่ละเชื้อจะมีระยะเวลาตรวจไม่พบไม่เท่ากัน เช่น เอชไอวี จะอยู่ที่ 5-7 วัน ไวรัสตับอักเสบบี 24-27 วัน และไวรัสตับอักเสบซี 3-5 วัน

"แต่ละปีทั่วประเทศจะมีผู้บริจาคโลหิตประมาณ 2.6 ล้านยูนิต ความเป็นไปได้ที่จะพบความผิดปกติมีเพียง 1- 2 คนเท่านั้น และกรณีที่เกิดขึ้นถือเป็น 1 ใน ล้านคนที่จะพบได้ ผู้บริจาคส่วนใหญ่ใจบุญอยากช่วยผู้ป่วย ก็ต้องปลอดภัยในระดับหนึ่งอยู่แล้ว จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่คิดว่ามาบริจาคเลือด เพื่อหวังไปตรวจโลหิตด้วย ดังนั้น ต้องไปเน้นที่ผู้บริจาคโลหิต ที่ก่อนมาบริจาคโลหิตต้องไม่อยู่ในระยะที่แพร่เชื้อหรือตรวจเชื้อไม่พบ และมั่นใจว่า ตัวเองปลอดภัยไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง หากมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย ก็ควรเว้นการบริจาคโลหิตประมาณ 3 เดือน และผู้มาบริจาคโลหิตต้องพูดความจริงกับเจ้าหน้าที่ด้วย" ผศ.พญ.จารุพร กล่าว

ผศ.พญ.จารุพร กล่าวว่า การติดเชื้อเอชไอวี จะทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งช่วงติดเชื้อมีชีวิตปกติ แต่ในกระแสเลือดมีเชื้อเอชไอวี ส่วนผู้ที่เป็นเอดส์ภูมิคุ้มกันจะไม่มี ทำให้ติดเชื้อไวรัสและเชื้อราตัวอื่นได้ง่ายเพราะภูมิคุ้มกันไม่ดี ส่วนความผิดพลาดกรณีดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 ซึ่งขั้นตอนการตรวจระดับ DNA หรือ RNA หรือที่เรียกว่าการตรวจ NAT หาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี ยังไม่ได้มีการตรวจอย่างสมบูรณ์ เพราะเพิ่งมีการนำมาตรวจในไทย ดังนั้น ผู้ที่ได้รับเลือดในช่วงปี 2547 อาจมีความเสี่ยงได้รับเชื้อบ้าง

นายเกรียงศักดิ์ ไชยวงค์ ผู้เชี่ยวชาญนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ หัวหน้าฝ่ายตรวจคัดกรองโลหิต กล่าวว่า โลหิตทุกยูนิตที่ออกจากสภากาชาดไทย 100% ได้รับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อที่ติดต่อทางโลหิต แต่ก็ไม่ 100% ที่เราจะตรวจพบเชื้อด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยี เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการเพิ่มจำนวนเชื้อก่อน เครื่องถึงจะตรวจพบ ดังนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้บริจาคว่า ต้องมีการคัดกรองตัวเองก่อน หากจะทำบุญจริงก็ต้องเว้นระยะห่างจากระยะเสี่ยงก่อน ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีทางธนาคารเลือดที่ทันสมัยที่สุด ถือเป็นแนวหน้าในเอเชีย และขอย้ำว่าที่ผ่านมาการให้โลหิตนั้นก่อนออกจากสภากาชาดไทยโลหิตต้องปกติเท่านั้นถึงจะส่งต่อได้

นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการติดเชื้อเอชไอวีจากการรับบริจาคเลือด ว่า กรณีที่เกิดขึ้นใน รพ.เอกชนนั้น เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เกิดมานานกว่า 10 ปีแล้ว จึงไม่อาจจะลงไปตรวจสอบอะไรได้ ซึ่งจากข้อมูลต่างๆ ที่มีก็พบว่า ได้ดำเนินการตามมาตรฐาน เพียงแต่การตรวจสอบต่างๆ บวกกับเทคโนโลยีในสมัยก่อนซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีการชี้แจงแล้ว แต่ที่ผ่านมาทาง รพ.ก็ให้การดูแลผู้ป่วยรายนั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สบส.ได้มีการตรวจสอบ ติดตามมาตรฐานของสถานพยาบาลต่อเนื่องตลอดทุกปี เรื่องนี้ก็ถือเป็นตัวอย่างให้สถานพยาบาลต่างๆ เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสถานพยาบาลไม่ได้ให้การช่วยเหลือ ผู้ป่วยจะสามารถเรียกร้องการเยียวยาความเสียหายได้หรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ถ้าไม่พูดถึงกรณีนี้ แต่หมายถึงกรณีผู้ป่วยในระบบบัตรทอง ที่เข้ารับการรักษาใน รพ.ตามที่มีสิทธิแล้วได้รับความเสียหายก็สามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้ตามกฎหมายภายใน 1 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น