พม.เปิดรับลงทะเบียนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด-6 ปี 600 บาทต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.- 31 ก.ค.นี้ หลังขยายฐานรายได้เป็นไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี คาดจะมีเด็กเข้าระบบถึง 1.5 ล้านคน จากเดิมที่มีอยู่ 6 แสนคน ชี้เด็กที่อยู่ในโครงการอยู่แล้ว จะรับต่อไป ส่วนคนที่เข้าเกณฑ์ใหม่ให้ลงทะเทียนที่้ท้องถิ่น และเด็กที่เกิดตั้งแต่ 1 ต.ค. 61-30 ก.ย. 62 ให้มาลงทะเบียนด้วย
วันนี้ (8 พ.ค.) นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นายปิติภณ โพธิ์ใต้ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ร่วมกันแถลงข่าว “โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด” ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2562 ให้สนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดตั้งแต่ 0-6 ปี จากฐานรายได้เดิม 36,000 บาท ขยายเป็นไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคนต่อปี โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 ซึ่งจะเปิดรับลงทะเบียนในวันที่ 31 พ.ค. 2562 เป็นต้นไป
นายปรเมธี กล่าวว่า การสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดตั้งแต่ 0-6 ปี จำนวน 600 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งขยายฐานรายได้เป็นไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 มีเด็กได้รับสิทธิแบ่งออกเป็น 3 กรณี ได้แก่ 1. เด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558-30 ก.ย. 2561 ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิรายเดิมจะได้รับเงินต่อเนื่องจนอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ 2. เด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558-30 ก.ย. 2561 ที่มีคุณสมบัติครบ แต่ไม่เคยได้รับสิทธิมาก่อนให้ไปลงทะเบียนที่ท้องถิ่น และ 3. เด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561-30 ก.ย. 2562 กรณีมาลงทะเบียนในปีงบประมาณ 2562 จะได้รับสิทธินับจากวันที่เด็กเกิดจนถึงอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ แต่หากลงทะเบียนหลังจากวันที่ 30 ก.ย.2562 ไปแล้ว จะได้รับเงินนับจากวันที่ลงทะเบียนเป็นต้นไป จนถึงอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
นายปรเมธี กล่าวว่า ดย.ได้ปรับปรุงระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชน ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ. 2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ให้สอดรับกับมติ ครม. พร้อมพัฒนาระบบฐานข้อมูลโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้รองรับกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2562 ซึ่งปัจจุบันมีผู้มีสิทธิจำนวน 600,000 คน และคาดว่า เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2562 จะมีเด็กได้รับสิทธิประมาณ 1,500,000 คน รวมทั้งพัฒนาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำเข้าข้อมูลแบบสมบูรณ์ เพื่อให้ อปท.สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินอุดหนุน การตรวจสอบสถานะของผู้มีสิทธิของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ในฐานะเจ้าของข้อมูล เพื่อติดตามความก้าวหน้าของกลุ่มเป้าหมาย และพัฒนาให้ผู้ยื่นคำร้องขอรับสิทธิสามารถตรวจสอบสิทธิได้ด้วยตนเอง
“พม. จะเปิดให้ผู้มีสิทธิได้ยื่นคำร้องขอรับสิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.-31 ก.ค. 2562 โดยผู้มีสิทธิที่อาศัยอยู่ใน กทม. สามารถลงทะเบียนยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานเขต และผู้ที่อาศัยอยู่ในส่วนภูมิภาค ให้ยื่นคำร้องได้ที่ อปท.ที่เด็กอาศัยอยู่ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โทร. 0-2255-5850-7 ต่อ 121, 122, 123, 147 และ 0-2651-6534 โทรสาร 0-2253-9119 หรือติดตามที่ Facebook โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด” นายปรเมธี กล่าว
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า การพัฒนาเด็กให้เป็นคนดี เก่ง และเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศไทย จะต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่ช่วงปฏิสนธิในครรภ์จนอายุ 6 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนาสูงสุด และยังเป็นรากฐานของการมีคุณภาพของคนๆ หนึ่งอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จึงเป็นโครงการที่ตอบสนองต่อการสร้างต้นทุนชีวิตให้กับเด็กที่มั่นคง ที่ผ่านมา สธ.ได้ดำเนินงานด้านการดูแลและปกป้องสุขภาพมารดา และเด็กปฐมวัย โดยสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและวางแนวทางดำเนินงานตามโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต เริ่มตั้งแต่แม่ก่อนการตั้งครรภ์ แม่จะได้รับวิตามินเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก ก่อนการตั้งครรภ์ 3 เดือนฟรี เพื่อป้องกันความพิการแต่กำเนิดของลูก
“เมื่อตั้งครรภ์จะได้รับการตรวจครรภ์ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์ ได้รับวิตามินเสริมธาตุเหล็ก ไอโอดีน โฟลิกฟรี จนถึง 6 เดือนหลังคลอด เมื่อทารกคลอดได้กินนมแม่ในห้องคลอด และสนับสนุนให้กินนมแม่ต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน ควบคู่อาหารตามวัยเด็กได้รับวัคซีนสร้างภูมิต้านทานโรค การประเมินภาวะโภชนาการและการเลือกเมนูอาหารตามวัยของลูกในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก การตรวจพัฒนาการตามวัย การตรวจสุขภาพและการรักษาพยาบาลเมื่อยามเจ็บป่วย” พญ.พรรณพิมล กล่าว
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สธ.ได้ส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ การเจริญเติบโต และการส่งเสริมพัฒนาการเด็กในสถานบริการสาธารณสุข โดยมารดาช่วงตั้งครรภ์จะได้รับสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อดูแลสุขภาพตนเองและลูกควบคู่กับการได้รับความรู้ ฝึกทักษะการเลี้ยงดูลูกตามกระบวนการโรงเรียนพ่อแม่ โดยให้ความรู้แก่แม่หรือผู้เลี้ยงดูให้ดูแลสุขภาพ โภชนาการ ดูแลสุขภาพช่องปากและส่งเสริมพัฒนาการตามกระบวนการ กิน กอด เล่นเล่า นอน เฝ้าดูฟัน และพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็กจะได้รับความรู้ตรงจากโปรแกรม ๙ ย่างเพื่อสร้างลูก เมื่อเด็กอายุ 3-5 ปี เป็นช่วงสมองส่วนบริหารพัฒนาสูงสุด ซึ่งเด็กส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและโรงเรียนระดับชั้นอนุบาล กรมอนามัย จึงได้ผลิตคู่มือการเรียนการสอน ด้านสุขภาพตาม “คำสอนพ่อ” เพื่อให้คุณครูใช้เป็นคู่มือการจัดประสบการณ์เรียนรู้แบบ STEM EDUCATION โดยบูรณาการเนื้อหา สุขภาพ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองแบบ Project approach ด้วยการลงมือทำปฏิบัติจริง นำความรู้ สู่ความคิดสร้างสรรค์ คิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสารและสร้างนวัตกรรม อีกทั้งผลิตคู่มือต้นแบบ “เลี้ยงลูกตามคำสอนของพ่อ” คุณธรรม 8 ประการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้ครอบครัวได้ใช้ในการอบรม บ่มเพาะลูก
“นอกจากนี้ กรมอนามัยได้ขับเคลื่อนมาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ปกป้องให้เด็กรับนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และกินนมแม่ควบคู่อาหารตามวัยจนลูกอายุ 2 ปี และมีการติดตามเด็กในโครงการ โดยใช้สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อตรวจสอบการเข้ารับบริการด้านสุขภาพ ดังนี้ 1) มารดาช่วงตั้งครรภ์ ฝากครรภ์ตามนัดหรือไม่ 2) มีการบันทึกน้ำหนัก ส่วนสูงและจุดกราฟโภชนาการและประเมินพัฒนาการลูกหรือไม่ 3) มีการพาลูกไปตรวจสุขภาพ ตรวจพัฒนาการ ฉีดวัคซินตามนัดหรือไม่ และ 4) ได้ใช้สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กอ่านและบันทึก การดูแลสุขภาพของแม่และลูกตามแนวทางการเลี้ยงดูเด็กตามวัยอย่างเหมาะสมหรือไม่ เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการติดตามอย่างต่อเนื่องและเติบโตเป็นเด็กไทยที่ดี เก่ง และเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว