สำนักงานอัยการสูงสุด ย้ำ "ห้องฉุกเฉิน" รพ. เป็นพื้นที่ห้ามเข้าตาม กม. บุกรุกเจอโทษจำคุก 3-15 ปี ทำร้ายร่างกายผู้ป่วยขณะรักษา เข้าข่ายเจตนาฆ่า มีโทษถึงประหาร ทั้งยังฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายได้ หากไม่มีอาจยึดทรัพย์ เตือนยกกระเช้าขอโทษแค่เรื่องส่วนบุคคล ไม่พ้นโทษตามกม.
วันนี้ (7 พ.ค.) นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวในการประชุมเสวนา เรื่อง “ปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและแนวทางแก้ไขปัญหา” จัดโดยแพทยสภา ว่า ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล เป็นพื้นที่ห้ามเข้าตามกฎหมายอยู่แล้ว หากใครฝ่าฝืนเข้าไปถือว่า เป็นการบุกรุก ถือเป็นโทษทางอาญาที่มีโทษสูงจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างทางอัยการจะมีการบรรยายพฤติกรรมว่า เป็นพฤติกรรมอุกอาจท้าทายกฎหมาย เพื่อให้ได้รับโทษสูงสุดคือ 15 ปี ยิ่งถ้ามีการทำร้ายร่างกายผู้ป่วยขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ให้การรักษาอยู่จะถือเป็นการเจตนาฆ่ามีโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต
นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการฟ้องทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายทั้งร่างกาย และทรัพย์สิน ซึ่งอุปกรณ์การแพทย์ค่อนข้างมีราคาแพงมาก หากไม่มีเงินมาชดใช้ก็จะตามยึดทรัพย์บ้าน ที่ดินก็ต้องถูกนำมาขายทอดตลาด หากไม่มีทรัพย์สินก็จะติดเพื่อยึดทรัพย์ในอนาคตจนกว่าอายุความจะสิ้นสุด ขณะนี้มีคดีใช้ความรุนแรงใน รพ.ขึ้นสู่ชั้นศาล เฉพาะที่มีการออกข่าว 4 คดี แต่ยังมีคดีในพื้นที่อื่นๆ ที่ส่งเข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง
“สำหรับพื้นที่อื่นๆ ของโรงพยาบาล แม้จะเป็นพื้นที่สาธารณที่ใครๆ ก็สามารถเข้าไปได้ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ รพ.เห็นว่า มีพฤติกรรมอันตราย อาจจะก่อความรุนแรง จำเป็นต้องเข้าห้ามปราม และเชิญออกจากพื้นที่ ถ้าไม่ทำตามจะถือเป็นการบุกรุกทันที มีโทษเช่นเดียวกับการบุกรุกห้องฉุกเฉิน ซึ่งถือเป็นความผิดทางอาญาที่ยอมความไม่ได้ แม้ว่าจะมีการยกกระเช้าขอโทษกันแล้วก็นับเป็นการขอโทษส่วนบุคคล แต่ในทางกฎหมายจะต้องมีการดำเนินคดีจนถึงที่สุด และถึงแม้ว่าจะมีการขอโทษกันในชั้นศาล ก็ช่วยเพียงพิจารณาลดลดโทษเท่านั้น แต่ไม่สามารถพ้นโทษได้” นายโกศลวัฒน์ กล่าว