xs
xsm
sm
md
lg

“ของเล่นเด็ก” ใครว่าไม่สำคัญ/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เป็นเรื่องปกติที่เรามักจะเห็นเด็กผู้หญิงตัวน้อยอุ้มตุ๊กตาแสนน่ารักไปในที่ต่างๆด้วยกันเสมอ และยังพูดคุยเล่นด้วยราวกับเป็นพี่น้องกัน หรือเห็นเด็กผู้ชายวัยซนหยิบเอาหุ่นยนต์ 2 ตัวมาสู้กันส่งเสียงดังปึงปัง ซึ่งถ้าให้เดาคงกำลังจินตนาการว่าอยู่ในสมรภูมิสงครามอวกาศที่ไหนสักแห่ง

ของเล่นถือเป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความสุขและพัฒนาการในด้านต่างๆสำหรับเด็กๆมาทุกยุคสมัย ไม่ว่าเทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้าและมีช่องทางในการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นหลากหลายมากมายเพียงใด ก็ยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่ของเล่นในรูปแบบเดิมๆสำหรับเด็กๆได้ แน่นอนว่าไม่เคยมีคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่ว่างเว้นจากเสียงเรียกร้องของลูกๆให้ซื้อหาของเล่นที่ตัวเองชื่นชอบมาให้เลยก็ว่าได้

ของเล่นรูปแบบเดิมๆในที่นี้หมายถึง “Physical Toys” หรือสื่อกลางที่ทำให้เด็กๆสามารถสนุกกับการเรียนรู้ด้วยการเล่นโดยได้ใช้ประสาทสัมผัสหลายส่วนพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสการมองเห็น และการได้ยินเสียง ซึ่งนอกจากได้ฝึกฝนการใช้กล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสในส่วนต่างๆแล้ว ยังเป็นการจำลองสถานการณ์ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ความคิดและพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตในด้านต่างๆควบคู่กันไปได้อย่างเหมาะสม

โดยพื้นฐานแล้วของเล่นทุกประเภทมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็กๆมี “พัฒนาการด้านร่างกาย” ที่ดี ของเล่นที่ต้องใช้กำลังและการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น การขว้างหรือเตะลูกบอล การขี่จักรยานแบบใช้เท้ายันพื้น สามารถช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้แข็งแรงเพื่อช่วยควบคุมการทรงตัวและรองรับการเติบโตของร่างกายในแต่ละช่วงวัย ขณะที่การเล่นของเล่นที่ใช้การสัมผัสหยิบจับและอาศัยนิ้วมือในการควบคุม เช่น การปั้นดินน้ำมัน การเล่นตัวต่อประเภทต่างๆ สามารถช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กที่ช่วยควบคุมนิ้วมือให้ทำงานที่มีความละเอียดอย่างการวาดรูป เขียนหนังสือ หรือการเย็บปักทักร้อยได้เป็นอย่างดี

พร้อมกันนั้นของเล่นทุกประเภทยังช่วยให้เด็กๆมี “พัฒนาการทางสติปัญญา” ไปในทิศทางที่เหมาะสม เนื่องจากส่วนใหญ่มักเป็นการจำลองรูปแบบ วิธีการหรือสถานการณ์ต่างๆที่เด็กจะต้องพบเจอในการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ ทักษะความสามารถในการจำแนกขนาด รูปทรง รูปร่าง วัสดุและสีสันของสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งของต่างๆ ของเล่นประเภทเกมกระดาน จิ๊กซอว์ โมเดลหรือตัวต่อประเภทต่างๆ นั้นยังช่วยเด็กๆพัฒนาทักษะความสามารถในการคิด การวางแผน การนับเลข การทำตามแบบแผนและลำดับขั้นตอน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อีกทั้งยังเสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กๆได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ของเล่นยังมีส่วนช่วยในเรื่องของ “พัฒนาการด้านจิตใจ” ได้อีกทางหนึ่ง เด็กส่วนมากมักสะท้อนตัวตนและความสนใจของตัวเองผ่านของเล่นที่ตัวเองเลือก ของเล่นบทบาทสมมติสามารถช่วยให้เด็กเกิดจินตนาการและความภูมิใจ มีความมั่นใจในตัวเองว่าจะสามารถเป็นสิ่งที่ต้องการได้ เช่นเดียวกับของเล่นที่ต้องอาศัยเวลาและทักษะความสามารถในการประกอบขึ้นมา เป็นการฝึกฝนการใช้ทั้งพลังความคิด ความตั้งใจ สมาธิ ความอดทนและความพยายามในระดับสูงเพื่อให้สำเร็จได้ตามเป้าหมาย

ด้วยเหตุนี้ ของเล่นที่ดีจึงสามารถดึงดูดเด็กๆและคุณพ่อคุณแม่มาให้ความสนใจอยากที่จะหยิบจับค้นหาและใช้เวลาไปด้วยกันได้เสมอ ซึ่งช่วยลดเวลาและโอกาสที่จะต้องสูญเปล่าไปกับเกมส์หรือวิดีโอการ์ตูนบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตตามสมัยนิยม อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ก็ควรใส่ใจถึงลักษณะและรูปแบบของเล่นที่จะสามารถช่วยให้เด็กๆเกิดพัฒนาการที่ดีในทุกๆด้านพร้อมกันไปกับความรู้สึกสนุกสนานและมีความสุข โดยพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน ดังนี้

ประการแรก เด็กแต่ละช่วงวัยมีความพร้อมและความสนใจที่แตกต่างกัน ของเล่นที่ดีจึงต้องสามารถช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญาและจิตใจได้อย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัยได้ ทั้งนี้ สำหรับเด็กขวบปีแรกควรให้ความสำคัญกับของเล่นที่ช่วยกระตุ้นการมองเห็นและการได้ยิน เช่น โมบายรูปการ์ตูนที่มีสีสันสดใสแขวนเหนือที่นอนให้เอื้อมคว้าบีบกำได้และมีเสียงดนตรีคอยกล่อมเบาๆ

สำหรับเด็กเล็กหัดเดินก็ควรเน้นฝึกการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและการทรงตัวด้วยของเล่นจำพวกรถเข็นหรือรถลากจูง เมื่อโตขึ้นอาจฝึกเล่นตัวต่อประเภทต่างๆ เพื่อฝึกใช้นิ้วมือทำกิจกรรมและสร้างความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่างสมองกับส่วนต่างๆของร่างกาย แล้วจึงค่อยๆพัฒนาเลือกของเล่นประเภทที่มีแบบแผนขั้นตอนและมีความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทางความคิดและสติปัญญา

ประการที่สอง ความปลอดภัยถือเป็นปัจจัยลำดับต้นๆที่จะต้องคำนึงถึง โดยพิจารณาทั้งในส่วนของวัสดุ การประกอบและสีที่ใช้ซึ่งควรได้มาตรฐาน ไม่ควรหลุดลอก แตกหักหรือชำรุดได้ง่าย เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดบาดแผลหรือมีชิ้นส่วนที่แตกหักกระเด็นหลุดเข้าตาหรือปากของเด็กได้ ไม่แนะนำของเล่นที่มีรูปแบบที่จำลองหรือสื่อถึงความรุนแรง เช่น อาวุธปืน ดาบ หรือของมีคม ซึ่งนอกจากไม่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กแล้ว ยังอาจเกิดอันตรายจากการเล่นได้อีกด้วย

ประการที่สาม คุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็กๆได้ลองเล่นของเล่นหลายๆรูปแบบ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในหลายๆด้าน โดยเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการเลือกได้บางครั้ง เนื่องจากเด็กมักเลือกเฉพาะสิ่งที่ตัวเองชอบแต่ยังมีเหตุผลจำกัดว่ามีประโยชน์มากน้อยเพียงใด คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นที่จะต้องเป็นคนให้คำแนะนำและเลือกของเล่นให้เป็นหลัก นอกจากนี้ ในบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจใช้เวลาทำกิจกรรมของครอบครัวร่วมกันโดยการช่วยเด็กๆประดิษฐ์ของเล่นขึ้นเองก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจ

ประการสุดท้าย ของเล่นหลายแบบถูกต่อยอดมาจากตัวละครในการ์ตูนหรือเกมส์ที่เด็กๆชื่นชอบ การได้เล่นสิ่งที่มีความเกี่ยวพันกันนี้สามารถช่วยให้เด็กๆมีความสนใจและไม่ละทิ้งของเล่นชิ้นนี้ไปเร็วนัก สำหรับเด็กที่เข้าโรงเรียนแล้วการมีสังคมกลุ่มเพื่อนถือเป็นโลกเล็กๆอีกใบหนึ่งที่ต้องฝึกใช้ชีวิตทางสังคม การพูดคุย แบ่งปันและเล่นของเล่นที่มีความนิยมและเป็นที่สนใจร่วมกันสามารถช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในกลุ่มเพื่อนเด็กได้ในอีกทางหนึ่ง แต่ต้องไม่ลืมพิจารณาถึงราคาและความเหมาะสมด้วย

ถึงตรงนี้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้แล้วว่า หากลูกๆร้องขอของเล่นสักชิ้นคงไม่รีรอที่จะเลือกหามาให้อีกต่อไป เพราะของเล่นคือสื่อการเรียนรู้ดีๆที่อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด ยิ่งได้เล่นสนุกร่วมกันทั้งครอบครัวด้วยแล้ว ยิ่งช่วยเสริมสร้างความสุขซึ่งเป็นคุณค่าทางจิตใจให้กับเด็กๆได้ไม่น้อยเลยทีเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น