xs
xsm
sm
md
lg

บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของ “เครือเจริญโภคภัณฑ์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2562 สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ได้จัดสัมมนาประจำปี “PIM Work-based Education Forum ครั้งที่ 7” เรื่องบทบาทของเอกชนกับการพัฒนาที่ยั่งยืน : Work-based Education for Sustainability เรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์และความยั่งยืน 3 มิติ ที่เป็นความร่วมมือกันของภาคธุรกิจและภาคการศึกษา

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะผู้บริหาร หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านยุทธศาสตร์ความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนเครือเจริญโภคภัณฑ์ถ่ายทอดเรื่องราว “บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์” ท่ามกลางผู้เข้าฟังประมาณ 200 คน ซึ่งเป็นอาจารย์ นักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่เป็นเครือข่ายทางวิชาการกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) โดย ดร. ธีระพล ได้กล่าวถึงเรื่องราว “บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์” ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ไม่มีต้นไม้ใหญ่ต้นใด ที่ไม่เริ่มต้นจากการเป็นต้นไม้ขนาดเล็ก

ปัจจุบันเครือเจริญโภคภัณฑ์มีอายุ 98 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ผ่านวิกฤติมามากมาย ไม่ต่างจากบริษัทอื่น ๆ ที่เริ่มจากการเป็นต้นไม้ขนาดเล็ก แนวคิดหรือนโยบายในการทำธุรกิจหลายประการก่อเกิดขึ้น เพื่อช่วย แก้ปัญหาที่เป็น Pain Point ของสังคม

ไม่มีต้นไม้ใหญ่ต้นไหนที่ไม่เริ่มจากการเป็นต้นไม้เล็ก ๆ แต่ต้นไม้จะโตขึ้นมาได้มี 2 ส่วนที่สำคัญ

ส่วนที่ 1 เมล็ดพันธุ์ที่ดี – คือการฝัง DNA เข้าไป นั่นก็คือ การพัฒนา “คน” เพราะคนคือรากฐานสำคัญ

ส่วนที่ 2 ดินดี – เครือฯ มี “3 ประโยชน์” เป็นค่านิยมองค์กร ที่ยึดโยงคนซีพีทุกคนไว้ด้วยหลักการ 3 อย่าง คือ การทำธุรกิจของเครือฯ จะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน ต้องสร้างประโยชน์ให้ประชาชน สุดท้ายถึงจะเป็นประโยชน์ที่จะเกิดต่อองค์กร เพราะฉะนั้นการทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ ไม่ต่างอะไรกับการที่มีดินดี ไปอยู่ที่ไหนก็ต้องทำให้ที่นั่นดี

“ด้วยเครือฯ ซึ่งเป็นบริษัทธุรกิจใหญ่ เป็นธุรกิจทางด้านอาหารที่ถูกจัดอยู่ในอันดับ 4 ของโลก จึงมีความคาดหวังของสังคมต่อภาคเอกชน ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่โลกใบนี้ เพราะฉะนั้นในการทำธุรกิจของเครือฯ จะทำเพียงมิติเดียวคือการสร้างรายได้ ไม่ได้ แต่จะต้องทำธุรกิจให้ “สมดุล” คือต้องคำนึงถึงสังคม และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับเศรษฐกิจด้วย”

การสร้างหัวใจแห่งความยั่งยืนในใจทุกคน

การทำธุรกิจทุกวันนี้ไม่สามารถทำคนเดียวได้ เปรียบเสมือนต้นไม้ที่จะต้องพึ่งพากัน ให้ร่มเงาทั้งต้นไม้เล็กและต้นไม้ใหญ่ สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี ก็จะเกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะการทำงานกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งการเข้ามาทำงานในองค์กรของพวกเขา ไม่ได้มองบริษัทไหนให้เงินเดือนสูงสุด แต่มองถึงว่าบริษัทไหนเป็นบริษัทที่ดีหรือเป็นคนดีที่ทำเพื่อสังคม ได้มีโอกาสตอบแทนให้กับสังคมบ้าง โลกทุกวันนี้มีความเปลี่ยนแปลง เราทุกคนจึงต้องปรับตัว

“โลกในยุคแห่งความยั่งยืน เราจะต้องเปลี่ยนไปฟังเสียงคนอื่น ไม่ว่าคนตัวเล็กหรือตัวใหญ่ก็ตาม”

จุดเริ่มต้นของความยั่งยืน คือการดำรงชีวิตในแบบ caring คือการแคร์ซึ่งกันและกัน เป็นการสร้างความยั่งยืนด้วยหัวใจ คือการฟังเสียงคนอื่น การสร้างความยั่งยืนในหัวใจของคนในองค์กรมีหลายมิติ การปลูกฝังหัวใจแห่งความยั่งยืน อย่างเช่น คนรุ่นก่อนได้ปลูกฝังเรื่องของความทันสมัย เป็นการเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาสินค้า

การเรียนรู้ในแบบ work-based education คือการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่ใช่แค่เรียนรู้จากในตำรา เช่น กรณีซองใส่เมล็ดพันธุ์ผักเจียไต๋ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดธุรกิจของซีพี เริ่มต้นที่ถนนทรงวาด มีจุดเด่นที่ชนะคู่แข่ง คือ มีการเขียนวันหมดอายุ ถ้าเห็นว่าหมดอายุแล้ว สามารถนำมาเปลี่ยนใหม่ได้ เป็นการสร้างคุณภาพให้กับสินค้า เราถูกปลูกฝังมาเช่นนี้ ถือเป็นการสร้างคนเพื่อสร้างสินค้า ปลูกฝังด้านคุณภาพ และคุณธรรมให้กับคนตั้งแต่นั้นมา

การขับเคลื่อนความยั่งยืนทำคนเดียวไม่ได้

ทั่วโลกได้ตั้งเป้าหมายความยั่งยืนร่วมกันที่เรียกว่า UN SDGs มีทั้งหมด 17 ข้อ โดยตั้งให้บรรลุเป้าหมายในปี 2030 ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก หากทำคนเดียวอาจจะไม่ทัน แต่ถ้าทุกคนช่วยกันทำก็จะทัน เพราะฉะนั้นการที่จะบรรลุเป้าหมายได้ เป็นการสร้าง Force for Sustainable Life Chain ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็ไม่สามารถทำคนเดียวได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน

ยกตัวอย่าง กรณีหมอกควันทางภาคเหนือ 90% มาจากไฟที่เกิดขึ้นในป่า และอีก 10% เป็นไฟที่มาจากการปลูกข้าวโพด ในฐานะเอกชน ขั้นแรก เราไม่รับซื้อข้าวโพดจากบนภูเขาที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และขั้นต่อมา คือการทำระบบ Traceability หรือ การตรวจสอบย้อนกลับว่า ข้าวโพดทุกเม็ดรับซื้อมาจากแหล่งใด ที่มีเอกสารสิทธิ์หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยใช้กลไกทางการตลาดเข้ามาช่วยลดการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จนทุกวันนี้กล่าวได้ว่า 100% ซีพีไม่ได้รับซื้อข้าวโพดจากภูเขาและที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความคาดหวังมาคู่กับขนาดขององค์กร เราจึงได้พัฒนานวัตกรรม เพื่อลดปัญหาและสร้างประโยชน์ในพื้นที่

“เครือฯ มีธุรกิจ 8 สายธุรกิจ เพราะฉะนั้นการไปดำเนินงานธุรกิจในประเทศใด ต้องไปทำประโยชน์ให้กับประเทศนั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำพูด แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำจริง “

การขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนทำคนเดียวไมได้ กระบวนการที่เครือฯ ทำคือ การสร้างการมีส่วนร่วมทั้งผู้บริหาร การมีที่ปรึกษา การมีส่วนร่วมของพนักงาน ที่มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนในระดับมาตรฐานโลก เครือฯ ได้ประกาศนโยบายจากท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ในการทำยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน พร้อมประกาศเป้าหมายความยั่งยืน 2563 โดยมีรากฐานที่สำคัญคือค่านิยม 3 ประโยชน์ รวมไปถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ระบบการบริหารซีพีสู่ความเป็นเลิศ เป้าหมาย 17 UN SDGs กฎระเบียบข้อบังคับและมาตรฐาน จนมาเป็นกรอบการทำงาน 3Hs คือ Heart –มุ่งมั่นทำธุรกิจด้วยใจที่ยั่งยืน Health – มุ่งมั่นสร้างสังคมที่ยั่งยืน Home – มุ่งมั่นเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ความยั่งยืน หากปล่อยมือแล้วจะต้องอยู่รอดได้

มุมมองความคิดจาก ดร.ธีระพล ผู้บริหารรุ่นใหม่มองว่า การขับเคลื่อนหลักความยั่งยืนของเครือซีพี คำนึงถึงการพัฒนาคนเป็นสำคัญ หากปล่อยมือแล้ว คนเหล่านั้นหรือสังคมนั้นต้องอยู่รอดได้ด้วยตนเอง

“การให้เงินตลอด เหมือนกับการให้ร่มเงาด้วยความสงสารให้กับต้นไม้เล็กใต้ต้นไม้ใหญ่ แต่นั่นทำให้ต้นไม้เล็กเหล่านั้นตาย เพราะไม่ดิ้นรนมาหาแสงอาทิตย์ด้วยตนเอง”

ยกตัวอย่าง หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเดิมที่ดินแปลงนี้เป็นพื้นที่ที่ทำการเกษตรไม่ได้มากนัก เกษตรกรยากจน และยังมีข้อจำกัดคือ ขาดที่ดินทำกิน ขาดความรู้ ขาดเงินทุน และขาดตลาด สิ่งที่เครือฯ เข้าไปช่วยในเรื่องข้อจำกัดดังกล่าว จนปัจจุบันหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าสามารถบริหารจัดการ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และพึ่งตนเองได้

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างพื้นที่ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน เช่น โครงการเกษตรสันติราษฎร์ โครงการส่งเสริมปลูกกาแฟที่หมู่บ้านสบขุ่น จ.น่าน เป็นต้น

“การขับเคลื่อนความยั่งยืนขององค์กร คือ ต้องทำให้ธุรกิจและสังคมเติบโตยั่งยืนไปพร้อมกัน กำไรไม่ใช่คำเลวร้าย ถ้าสร้างกำไรได้และทุกคนได้ประโยชน์ สิ่งนี้เรียกว่าความยั่งยืน”

เช่นในกรณีของหมู่บ้านเกษตรกรรมทันสมัย “ผิงกู่” ประเทศจีน ที่เป็นการผลิตไก่ไข่ครบวงจร ในรูปแบบ 4 ประสาน คือ เกษตรกร คนยากจน และผู้พิการ กว่า 5,000 คน ได้เป็นเจ้าของโครงการ โดยซีพีเข้าไปช่วยบริหารจัดการ เป็นการทำโมเดลที่ทุกคนได้รับประโยชน์

ความยั่งยืนหนีไม่พ้นเรื่องของ “คน”

การพัฒนาคน สิ่งสำคัญคือการให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว โดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเชิญจากภาครัฐให้เป็นกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ

ยกตัวอย่างสิ่งที่เครือฯ ได้ทำในภาคการศึกษา คือ โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (CONNEXT ED) การทำความร่วมมือกับโรงเรียน โดยภาคเอกชนเป็น Coaching ทางการศึกษาให้กับบุคลากรในโรงเรียน มีการพัฒนา สร้างการประเมินให้เกิดขึ้นในโรงเรียน เพื่อสร้างคุณภาพในระบบการศึกษา

“การศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะต้องช่วยกันพัฒนา ยกระดับการศึกษาไทย เพื่อสร้างความยั่งยืน ให้คนไทยมีศักยภาพที่เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง”


กำลังโหลดความคิดเห็น