xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แจง "ฌาปนกิจสงเคราะห์" ไม่ใช่ประกันชีวิต ค่าทำศพไม่เท่ากันทุกราย เผยเหตุคืนเงินค้างช้า หักเงินล่วงหน้าหลายสเต็ป

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้ช่วยปลัด สธ. แจงยิบระบบฌาปนกิจสงเคราะห์ เหมือนใส่ซองงานศพ ไม่ใช่ประกันชีวิต ยอดเงินช่วยเหลือจึงไม่เท่ากันทุกราย ขึ้นกับจำนวนสมาชิกและยอดร่วมจ่าย แจงคืนเงินค้าง ฌกส.ล่าช้า เหตุเพิ่งติดตั้งระบบเสร็จ หลังปรับระเบียบใหม่ ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไปจ่ายแค่ 1 สตางค์ต่อศพ มาแล้ว 1 ปี ลั่นจ่ายคืนทั้งหมดในวันนี้ รับหักเงินล่วงหน้ามีตั้งแต่ 500 - 1,500 บาทตามอายุ

วันนี้ (3 พ.ค.) นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือร่วมกับสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์กระทรวงสาธารณสุข (ฌกส.) ที่เรียกร้องให้ปฏิรูประบบใหม่ และอาจมีการบริหารเงินที่ไม่โปร่งใส ว่า เรื่องนี้เกิดจากปัญหาการสื่อสาร ซึ่งสมาชิกไม่เข้าใจว่า ระบบของฌาปนกิจสงเคราะห์เป็นอย่างไร ซึ่งบางคนเข้าใจว่า เหมือนกับเป็นสหกรณ์ที่เอาเงินเขามาเข้า แล้วเอาเงินเขาไปแล้วมีการบริหารจัดการอย่างไร แต่ความจริงไม่ใช่ ตนได้อธิบายในที่ประชุมแล้วว่า ฌกส.เป็นกิจการที่เหมือนกับสมาชิกร่วมกันใส่ซองงานศพ เป็นการสงเคราะห์แบบรายเดือน ซึ่งจะมีการแจ้งให้สมาชิกทราบว่า แต่ละเดือนมีสมาชิกเสียชีวิตจำนวนกี่ราย ยกตัวอย่าง พ.ค.นี้ มีสมาชิกเสียชีวิต 100 ราย สมาชิกคนอื่นก็จะออกค่าทำศพคนละ 2.10 บาทต่อศพ เดือนนี้ก็จะถูกหักเงิน 210 บาท ส่วนสมาชิกอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปออกคนละ 1 สตางค์ต่อศพ ก็จะหักแค่บาทเดียว เป็นต้น

"การจ่ายเงินสงเคราะห์ค่าทำศพให้แก่ทายาทของสมาชิกที่เสียชีวิต จึงไม่ใช่ว่าจะได้ 6 แสนบาททุกราย เพราะไม่ใช่แบบประกันชีวิตว่า เมื่อเสียชีวิตจะต้องได้เงินเท่ากันทุกราย ดังนั้น ที่สงสัยว่าเหตุใดยอดเงินช่วยเหลือถึงน้อยลง ก็เพราะยอดเงินขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกในขณะนั้นว่า มีมากน้อยเท่าใด และจำนวนเงินที่ร่วมจ่าย เพราะสมาชิกอายุไม่ถึง 60 ปี ใช้อัตรา 2.10 บาทต่อศพ แต่คนอายุมากกว่า 60 ปีใช้อัตรา 1 สตางค์ต่อศพ ดังนั้น หากคนอายุมากกว่า 60 ปีที่จ่ายน้อยกว่า มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ยอดเงินที่จะช่วยเหลือสมาชิกเสียชีวิตก็จะน้อยลงตามธรรมชาติ" นพ.พิทักษ์พล กล่าว

นพ.พิทักษ์พล กล่าวว่า ส่วนเรื่องการคืนเงิน ฌกส. ต้องอธิบายว่า เดิมระเบียบ ฌกส.ปี 2521 สมาชิกอายุมากกว่า 60 ปีไม่ต้องจ่ายเงิน แต่หลังจากมี พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ออกมา กำหนดให้สมาชิกทุกคนต้องจ่ายไม่มียกเว้น สธ.จึงต้องปรับระเบียบใหม่ ให้ผู้อายุมากกว่า 60 ปีร่วมจ่ายด้วย ในอัตรา 2.10 บาทเท่ากัน แต่เมื่อมีข้อเรียกร้อง เพราะเดิมทีเกษียณแล้วไม่ต้องจ่าย คณะกรรมการฯ จึงมีการประชุมหารือ และออกมาเป็นระเบียบใหม่เมื่อปี 2561 โดยผู้อายุมากกว่า 60 ปีจ่ายในอัตรา 1 สตางค์ต่อศพ แต่ความเป็นจริงเมื่อต้องช่วยเหลือค่าทำศพก็ตกอยู่ที่เดือนละประมาณไม่กี่บาท เช่น เดือนหนึ่งมี 100 ศพก็แค่บาทเดียว ก็ไม่คุ้มกับค่าโอนเงิน จึงมีมาตรการหักเงินล่วงหน้าให้ ซึ่งกำหนดขั้นต่ำ 500 บาท แต่ไม่เกิน 1,500 บาท

"การหักเงินล่วงหน้า จึงให้คนที่เพิ่งเกษียณหักประมาณ 1,500 บาท เพื่อที่จะได้ครอบคลุมไปจนถึงอายุ 80-90 ปี ไม่ต้องมาจ่ายทุกเดือนอีก ส่วนคนอายุมากหน่อย เช่น อายุ 80 ปีก็จ่ายล่วงหน้าประมาณ 500 บาท จึงทำให้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าไม่เท่ากัน ส่วนการคืนเงินนั้น เนื่องจากคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีการจ่ายในอัตรา 2.10 บาทต่อศพมาก่อนหน้านั้น ถือว่าถูกเก็บมาแล้ว เป็นเงินค้างเก่า ซึ่งแต่ละคนไม่เท่ากัน เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3-5 พันบาท เมื่อต้องมีการหักเงินล่วงหน้า ก็หักจากยอดที่ต้องจ่ายคืน แต่ที่ดำเนินการล่าช้า เพราะต้องมีการทำหนังสือสอบถามไปยังสมาชิกว่า แต่ละรายต้องคืนเงินเท่าไร และให้ธนาคารโอนเงินคืนให้ ธนาคารจะโอนคืนได้วันละ 200 ราย แต่สมาชิกที่ต้องคืนมีถึง 6 หมื่นราย เห็นว่าอาจล่าช้าเกินไป จึงหาวิธีติดตั้งระบบ E-Payment เพื่อให้จ่ายได้ทั้งหมดพร้อมกัน โดยระบบเพิ่งติดตั้งเสร็จสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเพิ่งทยอยโอนเงินให้ได้เมื่อวันที่ผ่านมา ซึ่งจะโอนให้เสร็จในวันนี้ทั้งหมด" นพ.พิทักษ์พล กล่าว

นพ.พิทักษ์พล กล่าวว่า ส่วนการหักเงิน 4% จากเงินสงเคราะห์เป็นค่าดำเนินการและบริหารจัดการ ก็มีการทำบัญชี ตรวจสอบบัญชีและชี้แจงงบประมาณเป็นประจำทุกปี แต่เมื่อมีข้อเรียกร้องให้มีการรายงานทุก 3 เดือน ก็ยินดีที่จะเสนอให้ทำสำนักงาน ฌกส.ทดลอง และพร้อมที่จะปรับปรุงเรื่องของการสื่อสารไปยังสมาชิกให้ดีขึ้น ซึ่งเข้าใจว่าสมาชิกที่เกษียณไปแล้ว เมื่อก่อนยังได้รับทราบข่าวจากหน่วยงานราชการที่ทำอยู่ แต่พอเกษียณก็ไม่ได้รับข่าวสาร และเกิดการพูดต่อๆ กันไป จนเข้าใจผิดได้ และจะปรับปรุงระบบการรับสารคอลเซนเตอร์ให้ดีขึ้นตามที่มีการเรียกร้องมา






กำลังโหลดความคิดเห็น