จุฬาฯ เสวนา ย้ำ "กัญชา" ไม่ใช้ยารักษาทุกโรค การนำมาใช้รักษาต้องมีคุณภาพ ปลอดภัย มีผลชัดเจนทางวิชาการ และต้องใช้อย่างมีสติ เผยจุฬาฯ เดินหน้า 4 งานวิจัย พัฒนาสายพันธุ์กัญชา เล็งหาวิธีเอาสารสกัดกัญชาไปปลูกในต้นไม้ชนิดอื่น พ่วงวิจัยกฎระเบียบกัญชา หวังพัฒนานโยบายในอนาคต ส่วนวิจัยร่วม อ.เดชา ช่วยรู้รักษาโรคอะไรได้เพิ่มบ้าง
วันนี้ (2 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 19 "กัญชา เพื่อเยียวยาสุขภาพ" โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีด้านวิจัย จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมเกิดคำถามเกี่ยวกับ "กัญชา" ว่า รักษาทุกโรคจริงหรือไม่ ปลอดภัยหรือไม่ ทำให้เสพติด มีสารปนเปื้อน ที่จะทำให้แย่ลงหรือไม่ และคนไข้ที่จำเป็นต้องใช้จะได้ใช้เมื่อไร ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า สารสกัดจากกัญชาซีบีดี ที่ได้รับรองทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์มี 35 ประเทศ กฎหมายเปิดบางส่วน 18 ประเทศ ส่วนอีกหลายร้อยประเทศยังผิดกฎหมายอยู่ ก็ต้องมาคิดให้รอบคอบทั้งวิทยาศาสตร์ การแพทย์ สังคม กฎหมาย การจะรณรงค์เปิดกัญชาเสรีก็ต้องมาคิดร่วมกัน
"การนำกัญชามาใช้มี 4 ประเด็นที่ต้องถกกันชัดเจน คือ 1.โรคอะไรได้ผลชัดเจน 2.ความปลอดภัย เพราะแม้แต่พาราเซตามอล ก็ทำให้คนตายได้ 3.คุณภาพ สกัดถูกวิธี มีสารปนเปื้อนหรือไม่ และ 4.เข้าถึงได้อย่างไรให้เป็นระบบ ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ซึ่งตรงนี้จะช่วยกันขจัดความหลงเชื่องมงายในสังคม โดยเฉพาะการคิดว่ากัญชาสามารถรักษาได้ทุกโรค และต้องไม่สุดโต่ง เพราะเมื่อคนอยากจะใช้จะมีเรื่องการหลอกลวงการค้าเข้ามา ทั้งนี้ กัญชาเหมือนยาทุกชนิดที่ใช้รักษาโรค ทำอย่างไรให้คนไข้ที่จำเป็นเข้าถึงยาเร็วที่สุด ถูกต้องปลอดภัยที่สุด ต้องมุ่งเน้นหลักฐานเชิงประจักษ์ ประสิทธิภาพคุณภาพความปลอดภัย และใช้อย่างมีสติ" ศ.นพ.รุ่งเกียรติ กล่าว
ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะนี้จุฬาฯ มีงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาหลายชิ้น คือ 1.งานวิจัยร่วมหลายคณะของจุฬาฯ เช่น คณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ ทั้งในเรื่องของการปลูกพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ให้ได้สายพันธุ์ที่ดี มีคุณภาพ ได้สารสกัดที่ต้องการ และวิจัยให้สารสกัดกัญชาที่ต้องการไปเกิดในต้นไม้อื่น ให้ได้สารสกัดปริมาณเหมาะสม ซึ่งจะรวดเร็วกว่าการปลูกกัญชา การวิจัยความปลอดภัยของสารสกัด การวิจัยพัฒนาตำรับจากกัญชาที่เหมาะสมกับการใช้ในช่องทางต่างๆ เช่น ทางปาก การเหน็บ การพ่น รวมถึงวิจัยเรื่องความปลอดภัยในการใช้ในคนและมิติต่างๆ ไม่เกิดการติด หรือเอาไปใช้ในทางที่ผิด หรือผลข้างเคียงการใช้ยาต้องติดตามได้ ผลิตภัณฑ์ใช้แล้วได้ผลกับการรักษาใด เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นยาที่เอาไปใช้อย่างปลอดภัย
ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร กล่าวว่า 2.ยังมีงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น โดยได้รับทุนจาก สกว. เพื่อวิจัยภาพรวมเรื่องเกี่ยวกับกัญชาที่ยังไม่รู้ เพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ของประเทศ จะได้ไม่ต้องเริ่มนับศูนย์ใหม่ เช่น งานวิจัยโรดแมปกัญชา ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่รวมถึงการตลาด นโยบายกัญชา เพราะสุดท้ายแล้วหากจะมีนโยบายกัญชาอะไรออกมาก็จะเสนอแนะได้ 3.งานวิจัยประเมินกฎระเบียบต่างๆ ที่ออกมาเกี่ยวกับกัญชา ว่า มีความเหมาะสมระดับไหน มีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงหรือไม่ มีอุปสรรคมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ถ้าเอาไปปรับนโยบายต่างๆ
ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร์ กล่าวว่า และ 4.งานวิจัยร่วมกับนายเดชา ศิริภัทร หมอพื้นบ้าน และประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เพื่อดูการใช้กัญชาของหมอพื้นบ้าน หรือแพทย์แผนไทย ใช้ในโรคและอาการอะไรบ้าง มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลข้างเคียง และอาการไม่พึงประสงค์อะไรบ้าง ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ โดยเป็นงานวิจัยที่เกิดจากการใช้จริง เป็นโอกาสที่จะทราบว่า โรคอาการต่างๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน ใช้ได้ผลหรือไม่