xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ใช้แรงงาน 17 องค์กรเดินขบวนยื่นข้อเรียกร้องนายกฯ ปรับฐานรับเงินบำนาญ คุ้มครองลูกจ้างเหมาช่วง ตั้งสหกรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


17 องค์กรผู้ใช้แรงงาน เดินขบวนวันแรงงานแห่งชาติ จากสนามกีฬากองทัพบก ไปยังอาคารกีฬาเวสน์ 2 พร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ทั้งฐานเงินบำนาญ การคุ้มครองลูกจ้าง จัดตั้งสหกรณ์ เผยปี 62 เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้างหลายอย่าง

วันนี้ (1 พ.ค.) ที่สโมสรทหารบก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีสงฆ์ ทำบุญถวายภัตตาหาร เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ จากนั้นได้จัดตั้งริ้วขบวนของกระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย วงดุริยางค์ รถเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และริ้วขบวนของกระทรวงแรงงาน และริ้วขบวนของผู้ใช้แรงงานจำนวน 17 องค์กร บริเวณสนามกีฬากองทัพบก โดยเวลา 08.45 น. ได้เคลื่อนริ้วขบวนดังกล่าวไปยังบริเวณอาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง โดยมีผู้ร่วมขบวนหลายพันคน

โดยเวลา 11.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานเปิดพิธีวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2562 ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 โดยนายทวี เตชะธีราวัฒน์ ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงาน ได้ยื่นข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติทั้ง 10 ข้อ แก่นายกฯ ประกอบด้วย 1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 2.ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่อง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านมาประชาพิจารณ์มาแล้ว เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภาฯ โดยเร่งด่วน 3.ให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยการกำหนดเกษียณอายุของลูกจ้างอยู่ที่ 60 ปี ในกรณีลูกจ้างมีอายุ 55 ปี ประสงค์จะลาออกจากการเป็นลูกจ้าง ให้นายจ้างอนุญาตให้ลาออกได้ โดยได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับลูกจ้างที่เกษียณทุกประการ และให้กระทรวงแรงงานดำเนินการหามาตรการให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ตามมาตรา 11/1 อย่างเคร่งครัด

4.ให้รัฐบาล ปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับประกันสังคม ดังนี้ ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท กรณีผู้ประกันตนเกษียณอายุและรับบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้มีสิทธิรับเงินรับบำนาญต่อไป และหรือผู้ประกันตนที่รับบำนาญชราภาพ ให้คงสิทธิไว้ 3 กรณี ได้แก่ การรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ และค่าทำศพ เหมือนเดิม กรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และประกันตนต่อตามมาตรา 39 การคำนวณ เดิมค่าจ้าง 60 เดือน เป็นค่าทดแทนต่าง ๆ ขอให้ใช้ฐานค่าจ้างจากมาตรา 33 , เพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลผู้ประกันตน มาตรา 40 เหมือนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 , ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15 – 60 ปี ขยายเป็น 15 - 70 ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อสร้างจูงใจและลดความเหลื่อมล้ำให้รวมทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกเดียวกัน

5.ให้รัฐบาลรวมกองทุนเงินทดแทนกับกองความปลอดภัยแรงงาน และยกระดับเป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน 6.ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาต่อรัฐสภา โดยเร่งด่วน เพื่อเป็นกองทุนของลูกจ้าง ให้รัฐบาลส่งเสริมการออมของลูกจ้างในรูปแบบสหกรณ์ออมทรัพย์ ในทุกสถานประกอบกิจการ 7.ให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบและมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้ 8.ให้รัฐบาลจัดระบบสวัสดิการ หรือกองทุนสวัสดิภาพของรัฐวิสาหกิจให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งที่ยังมีสถานภาพเป็นพนักงาน และที่พ้นสภาพความเป็นพนักงาน ให้ได้รับไม้น้อยกว่าลูกจ้างภาคเอกชนที่ได้รับตามระบบประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 9.ให้กระทรวงแรงงานปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 74 รัฐพึงจัดให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ และ 10.ให้ รมว.แรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2562

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปี 2562 สปส.จัดเพิ่มสิทธิประโยชน์ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตเพื่อผู้ประกันตน โดยคืนสิทธิผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 20 เม.ย. 2561 - 19 เม.ย. 2562 มีตัวเลขผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพกลับเข้าสู่ระบบแล้วทั้งสิ้น 384,086 คน เร่งผลักดันแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยจูงใจแรงงานนอกระบบถึง 3 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือก 1 ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท/เดือน คุ้มครองเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยต้องหยุดงาน เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ และตาย

ทางเลือก 2 ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท/เดือน เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยต้องหยุดงาน และเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ตาย และกรณีชราภาพให้ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล และทางเลือก 3 ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท/เดือน เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยต้องหยุดงาน และเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ตาย กรณีชราภาพได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล และกรณีสงเคราะห์บุตร ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพให้แก่ลูกจ้างผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ทำให้ลูกจ้างได้รับความสะดวก ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยผู้ประกันตนใช้บัตรประชาชนยื่นตรวจสุขภาพได้ที่ รพ.ตามสิทธิประกันสังคม หรือ รพ.ที่เข้าร่วมโครงการกับประกันสังคม ให้ได้รับการตรวจสุขภาพตามเกณฑ์อายุ เช่น ตรวจเต้านมเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม ตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจน้ำตาลในเลือด ตรวจการทำงานของไต เอกซเรย์ปอด ตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น

ส่วนของกองทุนเงินทดแทน ได้แก้ไข พ.ร.บ.เงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ทำให้ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ ตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงานได้รับสิทธิประโยชน์มากยิ่งขึ้น ทายาทหรือตัวลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนเพียงพอต่อการดำรงชีพ ปรับลดเงินเพิ่มเหลือร้อยละ 2 ต่อเดือน กรณีประสบภัยพิบัติ ขยายความคุ้มครองไปยังลูกจ้างส่วนราชการ กว่า 1 ล้านคน เพิ่มเงินทดแทนให้ลูกจ้างเป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทน ในกรณีลูกจ้างทุพพลภาพ และกรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายได้รับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลจากเดิมสูงสุด 2 ล้านบาท จนสิ้นสุดการรักษา เพิ่มค่าทดแทนการขาดรายได้กรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป เพิ่มค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพเป็นไม่น้อยกว่า 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุดขอให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมั่นใจในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ว่าจะดูแลผู้ประกันตนในระบบให้ได้รับสวัสดิการที่ดีและมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำและมีความเท่าเทียมกัน อันจะส่งผลให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดี









กำลังโหลดความคิดเห็น