xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ปลื้มผลคะแนน NT ป.3 เฉลี่ยรวมทุกด้านเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สพฐ.ปลื้มผล NT ป.3 ภาพรวมเพิ่มขึ้น เฉพาะด้านคำนวณ ทำคะแนนเฉลี่ยได้ ร้อยละ 47.89 สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศอยู่ที่ร้อยละ 47.19 เตรียมวิเคราะห์รายพื้นที่วางแผนยกระดับคุณภาพ พร้อมคัด 450 โรงเรียนนำร่องอบรมสอนพระพุทธศาสนา เริ่มสอนเทอม 1 ปีการศึกษา 2562 นี้

วันนี้ (30 เม.ย.) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการทดสอบความสามารถพื้นฐานผู้เรียนระดับชาติ หรือ NT (National Test) ประจำปีการศึกษา 2561 ซึ่งเป็นทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนด้านภาษา (Literacy) ด้านการคิดคำนวณ (Numeracy) และด้านเหตุผล (Reasoning Abilities) ของผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ทุกสังกัดทั่วประเทศ โดยปีการศึกษา 2561 มีโรงเรียนเข้าสอบ 30,701 โรง นักเรียนเข้าสอบ 733,770 คน ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 26,960 โรง นักเรียนเข้าสอบ 497,718 คน

ทั้งนี้ เมื่อดูคะแนนเฉลี่ยรวมทั้ง 3 ด้านในระดับประเทศ อยู่ที่ร้อยละ 49.48 ขณะที่ สพฐ.คะแนนเฉลี่ย ร้อยละ 49.39 ขณะที่จำแนกในแต่ละด้าน พบว่า ด้านภาษา ระดับประเทศคะแนนเฉลี่ย ร้อยละ 53.18 สพฐ.คะแนนเฉลี่ย ร้อยละ 52.73 ด้านการคิดคำนวณ ระดับประเทศคะแนนเฉลี่ย ร้อยละ 47.19 สพฐ. คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 47.89 ซึ่งถือว่าสูงกว่า และด้านเหตุผล ระดับประเทศคะแนนเฉลี่ย ร้อยละ 48.07 สพฐ.คะแนนเฉลี่ย อยู่ที่ร้อยละ 47.57 อย่างไรก็ตาม ภาพรวมโรงเรียนของ สพฐ.ทำคะแนนเฉลี่ยรวมดีขึ้น ซึ่งเมื่อเปรียบกับคะแนนเฉลี่ยรวม 3 ด้าน ของปีการศึกษา 2560 อยู่ที่ร้อยละ 45.10 พบว่า ปีการศึกษา 2561 คะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.29

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบ 3 ปีการศึกษาย้อนหลัง ปี 2559-2561 ก็พบว่าทุกด้านคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เฉพาะด้านเหตุผล เนื่องจากการทดสอบเป็นข้อสอบอัตนัยที่ให้เด็กเขียนตอบและเน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ แม้คะแนนเฉลี่ยอาจจะไม่สูงมากนัก แต่จากที่ สพฐ.ส่งเสริมพัฒนามาต่อเนื่องก็พบว่าส่งผลให้คะแนนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากนี้ สพฐ.จะไปดำเนินการวิเคราะห์คะแนน NT และคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET โดยแยกรายกลุ่มเป้าหมาย เช่น ในเขตพื้นที่สูง พื้นที่เกาะแก่ง กลุ่มโรงเรียนประชารัฐ โรงเรียนแข่งขันสูง โรงเรียนร่วมพัฒนา เป็นต้น เพื่อจะได้เห็นภาพการยกระดับคุณภาพชัดเจน

ดร.บุญรักษ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าในการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาตามนโยบายของ ศธ.ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาขึ้น ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขเนื้อหาหลักสูตร แต่เน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ ที่ไม่ใช่การท่องจำ แต่เข้าใจถึงหลักธรรมผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ กิจกรรมเสริมการปฏิบัติ และขณะนี้ได้คัดเลือกโรงเรียนต้นแบบระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 450 แห่ง โดยจะมีการอบรมการจัดการเรียนรู้แก่ครู และศึกษานิเทศก์ รวมถึงครูพระผู้สอนพระพุทธศาสนา ระหว่างวันที่ 7-10 พ.ค.นี้ จำนวน 2 รุ่นประมาณ 1,800 คน เพื่อให้พร้อมจัดการเรียนการสอนเมื่อเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 และเป็นบุคลากรต้นแบบที่จะขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่นๆในพื้นที่ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น