xs
xsm
sm
md
lg

กลยุทธ์ใหม่ ศจย. ชี้ บ.ยาสูบข้ามชาติ เสนอลดเบี้ยประกันภัย พ่วงขายบุหรี่รูปแบบใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิชาการ ชี้ บ.บุหรี่ข้ามชาติ เสนอลดค่าเบี้ยประกันภัย พ่วงขายบุหรี่ไอคอสรูปแบบใหม่ อ้างก่อมะเร็งน้อยลง เผยเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด ชวนสูบเพิ่มขึ้น แต่อันตรายเหมือนเดิม เพราะมีสารนิโคตินเหมือนบุหรี่มวน

จากกรณีข่าวบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ของโลก ระบุว่าจะพัฒนาธุรกิจประกันภัย เพื่อสร้างธุรกิจที่ออกห่างบุหรี่มากขึ้น และมีการนำเสนอโปรโมชันว่า ผู้สูบบุหรี่จะได้รับส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัย หากหยุดสูบหรือเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ก่อมะเร็งน้อยลง เช่น หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า หรือ ไอคอส (IQOS)

วันนี้ (29 เม.ย.) ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีถ้าบริษัทบุหรี่มีเจตนาออกห่างจากธุรกิจบุหรี่มากขึ้น แต่การนำเสนอโปรโมชัน ส่วนลดเบี้ยประกันหากหยุดสูบหรือเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ก่อมะเร็งน้อยลง น่าคิดว่า เป็นการนำเสนอข่าวเพื่อส่งเสริมการขาย "ไอคอส" ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ของบริษัทให้สังคมรู้จักหรือไม่ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้จะผลิตละอองที่มีนิโคตินและสารเคมีต่างๆ เพื่อใช้สูบเข้าทางปากเลียนแบบการสูบบุหรี่ปกติ โดยจะใช้ความร้อนจากอุปกรณ์มากกว่า 300 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 600 องศาเซลเซียส เหมือนการเผาไหม้บุหรี่ทั่วไป ตัวผลิตภัณฑ์ต้องมีการชาร์จแบตเตอรีเพื่อใช้ในการทำความร้อน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ไฟฟ้าหรือไอคอส ล้วนมีอันตรายต่อสุขภาพทั้งสิ้น เนื่องจากมีสารนิโคติน เป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับการสูบ

“นับตั้งแต่ปี 2531 ทุกๆ องค์กรแกนนำด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ใหญ่, สถาบันชาติเรื่องการเสพติดของสหรัฐ, องค์การอนามัยโลก, มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และอีกหลายองค์กรของโลก ล้วนประกาศไปในทำนองเดียวกันว่า “นิโคติน” ก่อให้เกิดการเสพติด ซึ่งพิษของนิโคตินอาจส่งผลแบบเฉียบพลันต่อร่างกายทำให้ คลื่นไส้อาเจียน ชัก และนำอาจนำไปสู่ภาวะการหายใจล้มเหลว รวมทั้งระบบประสาทส่วนกลางด้วย ยิ่งในปัจจุบันสภาวะอากาศในเมืองไทยที่ร้อนเยี่ยงนี้ ยิ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต ซึ่งในทางจิตเวชเรียกว่า Tobacco use disorder” ผู้อำนวยการ ศจย. กล่าว

ศ.นพ.รณชัย กล่าวว่า ล่าสุดได้มีการวิจัยจาก วารสาร ERJ Open Research พบว่า “ควันของการสูบไอคอสเป็นพิษต่อเซลล์ปอดไม่ต่างกับการสูบบุหรี่แบบดั้งเดิม” ควันของไอคอสทำให้เกิดการอักเสบเกิดจากภาวะความไม่สมดุลของการเกิดอนุมูลอิสระ และผลกระทบอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อปอดและทางเดินหายใจ ในระยะยาว อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงที่มักพบในผู้สูบบุหรี่รวมถึงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และมะเร็งปอด นอกจากนี้ยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจนด้วยว่าไอคอสจะสามารถใช้เลิกบุหรี่ได้ และที่สำคัญมีเอกสารที่เปิดเผยโดยบริษัทบุหรี่เองที่เสนอต่อ องค์การอาหารและยาของสหรัฐว่า ควันจาก ไอคอส อาจเกี่ยวข้องกับความเป็นพิษต่อตับผู้สูบโดยไม่คาดคิดด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันไอคอสยังไม่ได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ เพื่อให้จำหน่ายในประเทศ เนื่องจากไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงว่าผลิตภัณฑ์นี้ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน ดังนั้น จะเป็นการดีถ้าสังคมไทยเลือกที่จะปฏิเสธการสูบผลิตภัณฑ์พวกนี้ ควรหันมารักสุขภาพปอดและร่างกายกันดีกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น