xs
xsm
sm
md
lg

3 หน่วยงานปฏิรูป 197 ร.ร.ขนาดกลางพื้นที่ห่างไกล เพิ่มความสุขในชั้นเรียนลดช่องว่าง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"กฤษณพงศ์" ชี้ความท้าทายของการศึกษาไทย คือทำอย่างไรให้คนไทยมีความสามารถทำงานได้มากขึ้น ด้าน สกว. กสศ. สพฐ. จับมือร่วมปฏิรูป 197 โรงเรียนขนาดกลางพื้นที่ยากลำบาก พบนักเรียนมีความสุขในการเรียนรู้ ด้าน กสศ. จ่อขยายผลนำเครื่องมือจัดการศึกษา มาใช้ขยายผลในสถานศึกษาต้นแบบ 280 แห่งหวังลดเหลื่อมล้ำ

วันนี้ (29 เม.ย.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมวิชาการ “นวัตกรรมการจัดการโรงเรียนคุณภาพต่อเนื่องสู่การประกันคุณภาพ” ผลสำเร็จและบทเรียนจากโครงการวิจัยปฏิบัติการ “โรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง” (School Quality Improvement Program : sQip) โดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ประธานกรรมการนโยบาย สกว. และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ "คุณภาพโรงเรียนกับการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา" ตอนหนึ่งว่า ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ต้องให้มากกว่าความรู้ และไม่ใช่ผู้เรียนเข้าถึงโอกาสการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ เป็นการพัฒนาตลอดชีวิต และต้องเป็นไปตามบริบทแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งตอนนี้ระบบการสอนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เมื่อก่อนเวลาคิดเลขยังใช้ลูกคิด เรียนเทคโนโลยีต้องใช้ไม้บรรทัดคำนวณ แต่ตอนนี้มีเครื่องคิดเลขพกพา มีคอมพิวเตอร์ อนาคตมีคนวัยทำงาน คนสูงวัยมากขึ้น ขณะที่คนวัยเรียนลดลง ซึ่งถ้าจัดการศึกษาเพื่อคนวัยเรียน อนาคตจะไม่มีใครมาเรียนหนังสือ

ทั้งนี้ ในกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำกว่า 12 ปี แย่กว่าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เราจะขึ้นไปข้างบนไม่ได้ เพราะคนการศึกษาสูงมีน้อย และถ้าลงไปข้างล่างก็ไม่ได้ เพราะแรงงานค่าแรงสูง ซึ่งโจทย์การศึกษาต้องทำการศึกษาที่ไม่ใช่มุ่งเน้นวิชาการอย่างเดียว แต่ต้องให้การศึกษา 12 ปี บวกกับการเรียนสายอาชีพ หรือได้เรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) และได้ค่าตอบแทนสูงกว่าคนเรียนการศึกษาจบขั้นพื้นฐาน 12 ปีอย่างเดียว รวมถึงการศึกษาต้องทำให้คนมีความเอื้อเฟื้อ คิดถึงซึ่งกันและกัน การศึกษาอย่าไปเน้นเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องเน้นเรื่องสังคมด้วย

"ปัญหาความท้าทายของการศึกษาขณะนี้ คือ จะทำการศึกษาอย่างไร ที่ทำให้คนไทยมีความสามารถในการทำงานมากขึ้น ขณะเดียวกันทำให้คนสูงวัยอายุยืน และมีสุขภาพที่ดี อีกทั้งการศึกษาในยุคการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัย อาจารย์ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยไม่สามารถสอนคนในวัยทำงานได้ เพราะคนวัยทำงานมีประสบการณ์การทำงานจริงแต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยกลับเปิดตำราสอน นอกจากนั้น การศึกษาไม่เคยสอนเด็กเรื่องเนื้อหาเพื่อใช้ แต่เป็นการสอนเผื่อใช้ ขณะนี้ครูสอนคนทุกคนด้วยเรื่องเดียวกัน วิธีเดียวกัน ซึ่งตอนนี้สอนแบบนั้นไม่ได้ เพราะคนเรียนต้องการเรียนรู้ต่างกัน ดังนั้น ต้องมีระบบการศึกษาให้คนได้เรียนเมื่อไหร่ อย่างไร ตอบสนองความต้องการของแต่ละคน และการศึกษาที่มีความหมายต่อชีวิตการทำงาน จะกำหนดด้วยผู้เรียนและตลาด ไม่ได้ถูกกำหนดของรัฐอีกแล้ว"ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว

ด้าน นายนคร ตังคะภิภพ หัวหน้าโครงการวิจัยและปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องหรือ sQip กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ พุ่งเป้าไปที่ความร่วมมือของทุกฝ่ายเริ่มจากการตั้งเป้าหมายในการจัดการโรงเรียนของแต่ละแห่งที่ชัดเจนจากทุกฝ่าย เกือบ 2 ปีการศึกษา สกว. กสศ. และสพฐ. ได้จับมือกันร่วมวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและใช้ดำเนินการในโรงเรียนขยายโอกาสพื้นที่ยากลำบาก 197 แห่ง 14 จังหวัด ทั่วประเทศไทย มีครูร่วมโครงการมากกว่า 3,500 คน ส่งผลกระทบต่อนักเรียนราว 49,086 คน ทำให้ 197 โรงเรียน เกิดผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงจริงสอดคล้องกับดัชนีชี้วัดสำคัญของระบบรับรองคุณภาพระดับนานาชาติคือ Student engagement หรือ นักเรียนเพลิดเพลินกับการเรียนรู้

ขณะที่ นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุน กสศ.กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2562 กสศ. สกว.และสพฐ. พร้อมเดินหน้าขยายผลโรงเรียนขยายโอกาสจำนวน 280 แห่งรวม 17 จังหวัดทั่วประเทศ พัฒนาให้เป็นสถานศึกษาต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติคุณภาพโรงเรียนและครู และนําไปสู่การพัฒนาระบบรับรองคุณภาพ (Accreditation System) ที่เหมาะสมสําหรับบริบทโรงเรียนขนาดกลางที่มีจํานวนนักเรียน 200-500 คน ต่อโรงเรียน ในพื้นที่ยากลําบากของประเทศไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการเรียนการสอน โดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 10 แห่งที่อยู่ใกล้เคียง พัฒนากระบวนการเรียนการสอนและหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ กสศ.เตรียมได้นำเครื่องมือจัดการเรียนการสอนที่สามารถวัดทักษะการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนซึ่งเป็นทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่เราได้พัฒนาร่วมกับองค์การความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ OECD สำเร็จแล้วมาช่วยสนับสนุนการทำงานของครูและสถานศึกษาต้นแบบกลุ่มนี้ด้วย ทั้งหมดนี้ คือรูปธรรมของการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียนในชนบท ที่กำลังเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย" ผู้จัดการ กสศ.กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น