จักษุแพทย์ รพ.จุฬาภรณ์ เตือนลืมตาไม่ขึ้นระหว่างวัน ทั้งที่ไม่ง่วงนอน อาจเป็นโรคภาวะเปลือกตาตกเฉียบพลัน เกิดจากกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หรือเส้นประสาทผิดปกติ ต้องรีบพบจักษุแพทย์ ย้ำคนเป็นเบาหวานควรตรวจจอประสาทตาทุกปี ป้องกันตาบอดในระยะยาว
นพ.ธัชปชา กะสีวัฒน์ จักษุแพทย์ รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวในเวทีเสวนา "ไขรหัสลับ...รักษ์สุขภาพตา" ภายใต้โครงการ "รักษ์นี้เพื่อตาและผิว" ในโอกาสครบรอบ 10 ปี รพ.จุฬาภรณ์ ว่า หากมองตากันตามปกติ จะเห็นเพียงตาขาวและตาดำ ซึ่งตาดำ คือ กระจกตาและม่านตา ซึ่งสีจะแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติ เช่น เอเชียจะเป็นสีดำ ฝรั่งอาจเป็นสีฟ้า เป็นต้น และหากส่องดีๆ ก็จะมองเห็นเลนส์ตาด้วย แต่จอประสาทตาไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เนื่องจากอยู่ลึกมาก ดังนั้น เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับจอประสาทตา จึงไม่สามารถสังเกตได้ ไม่มีอาการนำ มักพบเจอโรคทางจอประสาทตาเมื่อโรคเป็นมากแล้ว จนกระทบกับการมองเห็นเรื่อยๆ จนมองไม่เห็นในที่สุด ถือเป็นภัยเงียบ แม้จะรักษาได้ดีแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำให้ตามองเห็นดีดังเดิม 100%
นพ.ธัชปชา กล่าวว่า โรคทางจอประสาทตาที่พบบ่อย คือ โรคเบาหวานขึ้นตา ซึ่งจะไปทำลายเส้นเลือด ทำให้มีเลือดออกภายในดวงตา แต่เป็นคนละแบบกับที่เห็นเส้นเลือดฝอยที่ตาขาว และเกิดเส้นเลือดงอกผิดปกติภายในดวงตา ซึ่งต้องมาตรวจจึงจะเห็น คนป่วยเบาหวานจึงต้องมาตรวจจอประสาทตาทุกปี นอกจากนี้ ยังเกิดขึ้นได้จากจอตาเสื่อม และวุ้นตาเสื่อม โดยกลุ่มเสี่ยง คือ มีคนในครอบครัวเป็นโรคจอประสาทตา เพราะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ คนที่สายตาสั้นมากๆ เคยเกิดอุบัติเหตุทางตาจนต้องผ่าตัดมาก่อน ทั้งนี้ เรามักไม่รู้ว่าดวงตาผิดปกติ เพราะจะมีดวงตาอีกข้างช่วยให้การมองเห็นเป็นปกติอยู่ การตรวจเบื้องต้น คือ ให้เอามือปิดตาทีละข้างแล้วสังเกตการมองเห็นว่าผิดปกติหรือไม่ เพราะบางทีตาข้างหนึ่งอาจมีปัญหาอยู่ สำหรับการรักษาโรคจอประสาทตาขึ้นอยู่กับความรุนแรง เช่น เบาหวานทำให้จอตาบวมก็จะฉีดยา เส้นเลือดงอกผิดปกติอาจใช้การยิงเลดซอร์ หากจอตาลอกก็อาจต้องผ่าตัด
นพ.ทัศพล สิงคาลวณิช จักษุแพทย์ รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า โรคทางตาอีกโรคที่ควรรู้ คือ ภาวะเปลือกตาตก ซึ่งเปลือกตาเป็นอวัยวะช่วยปกป้องดวงตาผ่านการกระพริบตา แต่เมื่ออายุมากขึ้น เช่น เกิน 60 ปีขึ้นไป เปลือกตา หนังตา จะเริ่มหย่อนคล้อย จนเปลือกตา กล้ามเนื้อตาตก ตกลงมาปิดบังการมองเห็น โดยอาจรู้สึกว่าตาดำรูเล็กลง หรือต้องยกคิ้วเพื่อดึงเปลือกตา อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องของการเสื่อมตามวัยแล้ว ยังมีภาวะเปลือกตาตกแบบเฉียบพลันด้วย ซึ่งตามปกติอาจใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หรือ 1 ปี เปลือกตาจะค่อยๆ ตกตามอายุที่มากขึ้น แต่ถ้าเป็นทันทีเปลือกตาอาจตกลงมาต่างกันกับอีกข้าง สังเกตอาการได้จากการเห็นภาพซ้อน ตาเหล่หรือเขออก มีปากเบี้ยว ถือเป็นความผิดปกติที่ต้องมาตรวจ
"ไม่ใช่เพียงผู้สูงอายุเท่านั้น แต่คนทั่วไปก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ตอนเช้าอาการยังดี แต่ผ่านไปครึ่งวันช่วงบ่ายๆ อาจเกิดอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง จนเปลือกตาตกเฉียบพลัน ไม่สามารถลืมตาขึ้นได้ แต่ไม่ใช่การกินอิ่มแล้วง่วงแต่อย่างใด ตรงนี้ถือเป็นความผิดปกติที่ต้องมาตรวจว่ากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจากสารสื่อประสาทผิดปกติหรือไม่ เพราะเปลือกตามีเส้นประสาทในการควบคุมปิดเปิดตา และควบคุมการแสดงออกบนใบหน้า สำหรับการรักษาหากเป็นผู้สูงอายุที่เปลือกตาตกตามวัย ก็จะดูอาการว่าบดบังการมองเห็นมากน้อยแค่ไหน หากเป็นมาก อาจผ่าตัดยกกล้ามเนื้อตา เอากล้มเนื้อที่หย่อนคล้อยออก ซึ่งผ่าตัดเสร็จสามารถกลับบ้านได้ทันที และมาตัดไหมภายใน 7 วัน แต่หากเป็นลักษณะของเปลือกตาตกเฉียบพลัน ทั้งในผู้สูงอายุหรือคนธรรมดาที่เปลือกตาตกเฉียบพลันระหว่างวัน ต้องมาตรวจหาสาเหตุเพิ่มว่า เส้นประสาทผิดปกติหรือไม่อย่างไร เพื่อดำเนินการรักษาต่อไป" นพ.ทัศพล กล่าว