ข้อความที่ว่า “เด็กซนเป็นเด็กฉลาด” เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมาตลอด และมีคนทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับข้อความนี้ แต่ก่อนที่จะได้รู้ว่าความซนเกี่ยวข้องกับความฉลาดหรือไม่นั้น ก็ควรทำให้เข้าใจตรงกันเสียก่อนว่า “เด็กฉลาด” มีลักษณะเป็นอย่างไร
โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงความฉลาด เรามักนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า “ความฉลาดทางสติปัญญา” หรือ Intelligence Quotient (IQ) คือความสามารถในการคิด การเรียนรู้และการใช้เหตุผลต่อการทำกิจกรรมต่างๆเพื่อตอบสนองจุดมุ่งหมายอย่างได้ผล ซึ่งสามารถทำการทดสอบและวัดระดับเป็นค่าตัวเลขทางสถิติได้ ยิ่งได้ค่าตัวเลขมากยิ่งแสดงถึงศักยภาพทางเชาว์ปัญญาในการเรียนรู้และลงมือทำสิ่งต่างๆได้ดี
โดยพื้นฐานแล้วเชาว์ปัญญาเป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด การมี IQ มากหรือน้อยนั้นจึงถูกกำหนดมาทางพันธุกรรมของคุณพ่อคุณแม่เป็นสำคัญ มีการพัฒนาขึ้นบ้างตามช่วงวัยและปัจจัยสภาพแวดล้อมซึ่งสามารถช่วยส่งเสริมได้ในระดับหนึ่ง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเด็กที่มี IQ น้อยมาตั้งแต่เกิดจะไม่สามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองจนประสบความสำเร็จในชีวิตในด้านใดด้านหนึ่งได้เลย
ปัจจุบันมีการพิจารณา “ความฉลาดทางอารมณ์” หรือ Emotional Quotient (EQ) เป็นสิ่งควบคู่กันกับ IQ โดยให้ความสำคัญกับความสามารถในการรับรู้และเข้าใจสภาวะทางอารมณ์ของตัวเองและคนอื่น เข้าใจและยอมรับความเป็นไปของสิ่งต่างๆรอบตัว ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองซึ่งสะท้อนออกมาจากพฤติกรรมการแสดงออกในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างเหมาะสม
ความฉลาดทางอารมณ์สามารถปลูกฝังและส่งเสริมให้กับเด็กได้โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นผ่านกระบวนการเลี้ยงดูด้วยความรักและความใกล้ชิด ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาตัวเองผ่านการเรียนรู้จากสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวได้ดีและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตในด้านต่างๆได้เช่นเดียวกัน
แล้วความซนไปเกี่ยวกับความฉลาดของเด็กได้อย่างไร?
คุณพ่อคุณแม่ต่างก็ทราบกันดีว่าวัยเด็กคือช่วงเวลาสำคัญต่อการเรียนรู้ เนื่องจากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว หรือแม้แต่ตัวเองนั้นล้วนเป็นสิ่งใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจและไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิต เด็กส่วนมากใช้เวลาไปกับการพักผ่อน กิน แล้วก็เล่น จึงมีพลังงานเหลือเฟือที่จะค้นหา หยิบจับ วิ่งกระโดดโลดเต้น ประลองกำลัง และทำกิจกรรมต่างๆมากมายโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ใครมาพบเห็นก็คงนึกว่าเด็กคนนี้ซนจัง
จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายจะเข้าใจว่าการเล่นซนของเด็กก็เพื่อการเรียนรู้ เมื่อได้เรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัวมากเท่าไร ก็ยิ่งมีไหวพริบ สติปัญญา และความฉลาดทางอารมณ์ในการทำกิจกรรมต่างๆเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายอย่างได้ผลมากขึ้น จึงไม่ใช่ความเข้าใจที่ผิดแต่อย่างใดที่จะบอกว่าความซนช่วยให้เด็กฉลาด แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไปว่าเด็กซนทุกคนจะเป็นเด็กฉลาดหากความซนนั้นเกินขอบเขตที่เหมาะสม
เมื่อใดก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกของตัวเองเล่นซนจนเกินที่จะสามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะเด็กที่ดูตื่นเต้นตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถรอคอยหรืออยู่นิ่งเพื่อทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้จนสำเร็จ ต้องวิ่งวนค้นหาสิ่งอื่นทำและเปลี่ยนไปเรื่อยๆเสมอ บางคนไม่มีสมาธิมากพอที่จะฟังและเข้าใจคำสั่งหรือคำแนะนำได้ บางคนเมื่อถูกกำหนดให้ทำสิ่งที่ไม่สนใจก็มักเหม่อลอยหรือใจลอยไปไม่อยู่กับตัว บางคนดื้อไม่ทำยอมตามและไม่รับฟังเหตุผล เมื่อถูกขัดใจหรือรู้สึกว่าไม่ได้อย่างใจก็จะหุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจที่จะแสดงอารมณ์ออกมา
การเล่นซนที่เกินขอบเขตความเหมาะสมจึงห่างไกลจากการพัฒนาความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) แสดงว่าเด็กๆไม่ได้กำลังพัฒนาความสามารถผ่านการเรียนรู้จากการเล่นซนที่จะช่วยพัฒนาให้เด็กสามารถควบคุมตัวเองและทำตัวสัมพันธ์กับสถานการณ์ต่างๆได้ แต่มีลักษณะที่ผิดแปลกหรือมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยด้วยอาการของ “โรคสมาธิสั้น” หรือ Attention-Deficit/Hyperactivity Disorder (ADHD) ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญและให้การดูแลอย่างใกล้ชิด
โรคสมาธิสั้นในเด็กนั้นเป็นผลจากการทำงานผิดปกติของสมอง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กไม่มีสมาธิมากพอที่จะสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวหรือจดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้นานนัก มีการแสดงออกในลักษณะหุนหันพลันแล่นจนดูเหมือนซุกซนเกินเหตุ รวมถึงมีสมาธิในการเก็บข้อมูลรายละเอียดจากการสื่อสารที่จำกัด ซึ่งมักทำให้เด็กประสบปัญหากับการปรับตัวทั้งในด้านอารมณ์และพฤติกรรมในการเข้าสังคม
อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถรักษาได้โดยคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องให้ความร่วมมือกับคุณหมออย่างใกล้ชิด ให้เด็กรับประทานยากระตุ้นการทำงานของสมองตามที่คุณหมอสั่ง ควบคู่ไปกับวิธีการปรับพฤติกรรมและกระตุ้นพัฒนาการของเด็กอย่างต่อเนื่อง โดยช่วยจัดตารางเวลาการทำกิจกรรมที่ให้เด็กได้พยายามทำตาม ตลอดจนการปรับสภาพแวดล้อมที่ช่วยเสริมสร้างสมาธิและบรรยากาศที่ทำให้เกิดการเรียนรู้
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ในเรื่องที่เด็กมีความสนใจเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ชอบและมีกำลังใจจากผลลัพธ์ที่ดี เป็นการสร้างแรงจูงใจที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นๆในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือให้ดี เพื่อให้ลูกๆหายจากอาการเจ็บป่วยและสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
อาจกล่าวได้ว่าความซนเป็นเรื่องธรรมชาติของเด็กๆที่พยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว ผลที่ได้คือประสบการณ์ ความรอบรู้และความฉลาดเฉลียว หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกของตัวเองซุกซนผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมดูแลได้ก็อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าเป็นเด็กดื้อที่ไม่เชื่อฟัง แต่อาจเป็นเพราะเด็กมีอาการเจ็บป่วยจนสร้างข้อจำกัดในการเรียนรู้ที่คุณพ่อคุณแม่ “จำเป็น”ที่จะต้องไม่ละเลย