xs
xsm
sm
md
lg

อย.เผย ม.รังสิต-กรมแพทย์แผนไทย อยู่ระหว่างขอปลูก "กัญชา" อภ.อาจผลิตล็อตเร่งด่วนบางส่วน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อย.เผย ม.รังสิต-กรมแพทย์แผนไทย อยู่ระหว่างขออนุญาตปลูก-ผลิตกัญชา ด้าน อภ.อาจทำน้ำมันกัญชาล็อตเร่งด่วนได้แค่บางส่วน เหตุวัตถุดิบมีประมาณหนึ่ง ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน พร้อมหนุน ม.นเรศวรวิจัย

วันนี้ (25 เม.ย.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการขออนุญาตปลูกและผลิตกัญชาทางการแพทย์ ว่า ขณะนี้มีหน่วยงานรัฐที่ขอมา คือ 1.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ขอนุญาตในการปลูกและผลิตน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ 2. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กำลังดำเนินการขออนุญาต และ 3.มหาวิทยาลัยรังสิต อยู่ระหว่างดำเนินการขอ นอกจากนี้ ยังมีหลายแห่งสนใจด้วย เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นการขอของกลางไปทำการวิจัย ซึ่งทราบว่าจะขออนุญาตปลูกอยู่เช่นกัน

“ขณะนี้ อย.กำลังสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้สามารถนำกัญชาที่มีอยู่มาขออนุญาต และใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ได้ภายใต้กฎหมาย เช่น กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มหาวิทยาลัยต่างๆ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และสภาเกษตรกรแห่งประเทศไทย ซึ่งในวันที่ 26 เม.ย.นี้ อย.จะจัดงานในรูปแบบความร่วมมือดังกล่าวขึ้น ที่ อย.โดยเราจะทำการจับคู่ความร่วมมือ เรียกว่าเป็นการดึงกลุ่มคนจิตอาสาที่มีองค์ความรู้ในการใช้กัญชาทางการแพทย์ กลุ่มผู้ป่วยที่ได้ใช้เข้ามาสู่กระบวนการวิจัย เพื่อให้ได้ทั้งองค์ความรู้ และการดูแลรักษาต่อเนื่อง” นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.อภ. กล่าวถึงกรณี อย.เตรียมส่งข้อมูลตัวเลขผู้แจ้งครอบครองกัญชาหลังครบกำหนดนิรโทษวันที่ 19 พ.ค. เพื่อให้ อภ.ผลิตน้ำมันกัญชาล็อตเร่งด่วน ว่า อภ.พร้อมสนับสนุนได้ในบางส่วน เนื่องจากมีวัตถุดิบในมือประมาณหนึ่ง ที่จะตอบโจทย์พี่น้องประชาชนที่จำเป็นต้องใช้ แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องเกิดความร่วมมือกันของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา อภ. กล่าวว่า ขณะนี้ อภ.ยังให้การสนับสนุน ม.นเรศวร ในการวิจัยแยกสารและจัดทำสารมาตรฐาน เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์และคำนวณ เพื่อให้ทราบปริมาณสารสำคัญของผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง ทั้งวัตถุดิบกัญชาแห้ง สารสกัดกัญชา ผลิตภัณฑ์จากกัญชา เป็นต้น ซึ่งการวิจัยครั้งนี้เป็นการทำคู่ขนาน เพราะปัจจุบัน อภ.มีสารมาตรฐานจากการนำเข้า แต่หากงานวิจัยนี้สำเร็จจะทำให้ไม่ต้องนำเข้า และใช้ผลงานวิจัยจากนักวิจัยไทยของเราเอง เป็นการสนับสนุนงานวิจัยของไทย ซึ่งตรงนี้เป็นการทำงานในลักษณะเครือข่ายร่วมกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น