xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปมลอยแพ "หมอนวด" แท้จริงเกิดเพราะใคร??

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ท่ามกลางปัญหาลอยแพ "หมอนวด" ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ไม่ยอมรับขึ้นทะเบียน จนกลายเป็นหมอนวดเถื่อน ไปจนถึงการตั้งข้อกล่าวหาสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย ทั้งขายแฟรนไชส์ ขายใบประกาศนียบัตรหมอนวด ทีมข่าว MGROnline มีโอกาสได้สัมภาษณ์ นายสุกษม อามระดิษ อดีตเลขานุการสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทยและเคยเป็นผู้นำรายชื่อหมอนวดกว่า 10,000 ราย เข้าร้องคัดค้านต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสนช. คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ปี 2559 ในช่วงที่กฎหมายเริ่มมีผลบังคับใช้ ที่ขอชี้แจงประเด็นทั้งหมดอย่างละเอียด

**เป็น "หมอนวดเถื่อน" ทั้งที่จบจากหน่วยงานรัฐ**

ไม่ใช่แค่หมอนวดที่จบจากสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทยเท่านั้นที่ สบส.ไม่ให้การรับรอง แต่ยังรวมถึงหมอนวดที่จบจากหน่วยงานรัฐต่างๆ เป็นผู้ให้การอบรมด้วย ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2559 ทั้งที่หน่วยงานรัฐต่างๆ สามารถสอนนวดได้

นายสุกษม กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ในส่วนของสาขาการแพทย์แผนไทย กำหนดให้หน่วยงานรัฐสามารถสอนนวดได้ หน่วยงานรัฐต่างๆ ที่ผ่านมาจึงมีการฝึกอาชีพสอนนวดให้แก่ประชาชน เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ กศน.ในพื้นที่ต่างๆ อาชีวศึกษา มัธยมศึกษา รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอีกหลากหลายหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งสอนกันมาอย่างยาวนาน และมีคุณภาพมาตรฐานอยู่แล้ว โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานที่มีการจัดสอบวัดมาตรฐานหมอนวดก่อนออกไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งทั่วโลกก็ยอมรับ ที่สำคัญสอนมาก่อนที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 และ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 เสียอีก

นายสุกษม กล่าวว่า ปัญหา คือ ผู้ถือครองประกาศนียบัตรอบรมหมอนวดจากหน่วยงานรัฐต่างๆ เหล่านี้ กลับกลายเป็นผู้ผิดกฎหมาย เพราะ สบส.ไม่ยอมรับรองประกาศนียบัตรหมอนวดของรัฐที่ออกก่อน พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ แม้แต่ใบสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานระดับ 1 ระดับ 2 จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สบส.ยังไม่ยอมรับเลย แบบนี้จึงเกิดปัญหาขึ้น แม้ สบส.จะบอกว่า ให้หน่วยงานของรัฐเหล่านี้ไปยื่นขอหลักสูตรใหม่ หากไม่ทำก็จะไม่ออกใบรับรองให้ แต่ปรากฏว่าพอหน่วยงานรัฐเหล่านี้มายื่น ก็ทำให้โครงสร้างหลักสูตรที่โอเวอร์มาก จนถึงขั้นต้องถอยกรูดกันเลย เพราะไม่สามารถทำได้ โครงสร้างหลักสูตรซับซ้อนมาก กรม สบส.ก็จะอ้างว่า ก็เปิดโอกาสให้มายื่นขอหลักสูตรแล้ว แต่ไม่มาขอ จึงไม่รับรอง

"ถ้าแบบนี้ กรม สบส.กล้าพูดหรือไม่ ว่าหน่วยงานรัฐที่อบรมเหล่านี้ไม่ได้มาตรฐาน เลยไม่รับรองก็พูดออกมาเลย แต่อย่าลืมว่า กระทรวงแรงงานอบรมนวดมีมาตรฐานจนทั่วโลกยอมรับ เพราะเป็นที่ประจักษ์ว่านวดไทย สปาไทย เป็นหนึ่ง เหมือนมวยไทย อาหารไทย ถามว่า สบส.มีมาตรฐานสูงกว่ากระทรวงแรงงานหรือหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ มีบุคลากรรู้เรื่องนวดมากกว่ากระทรวงแรงงานหรือ ถึงบอกเขาไม่มีมาตรฐานแล้วไม่ไปรับรองเขา ถึงบอกว่า สบส.คือต้นเหตุของปัญหา" นายสุกษม กล่าว

**โครงสร้างหลักสูตรทำได้ยาก ต้นทุนสูง**

หน่วยงานรัฐต่างๆ ไม่สามารถยื่นขอหลักสูตรใหม่ เพื่อให้ สบส.รองรับใบประกาศนียบัตรหมอนวดที่ออกก่อนปี 2559 ได้ เพราะโครงสร้างหลักสูตรทำมาตรฐานไว้สูงเกินไป เรียกว่า เรียนนวดผ่อนคลายทั่วไป แต่ทำโครงสร้างหลักสูตรยิ่งกว่าการนวดรักษาเสียอีก

นายสุกษม กล่าวว่า สบส.จะอ้างว่า เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและผู้บริโภค ซึ่งการนวดรักษากับนวดผ่อนคลายเป็นคนละเรื่องกัน ถ้าเป็นนวดรักษาตนสนับสนุนให้ทำโครงสร้างหลักสูตรแบบนี้ เรียนแบบชั้นอุดมศึกษาเลย อย่างหลักสูตรนวดไทยที่มีใบประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทนวดไทย ที่ต้องเรียนสองปีครึ่ง เพราะเป็นนวดรักษาอย่างอัมพฤกษ์อัมพาต แต่นวดผ่อนคลายจะเอาอะไรหนักหนากับคนยากจนที่มาเรียน แล้วทำโครงสร้างหลักสูตรสูงส่ง ที่เรียกว่า ต้องจ้างแพทย์ พยาบาล คนจบปริญญาตรีมาสอน ซึ่งตรงนี้ทำให้ต้นทุนการอบรมสูง หน่วยงานต่างๆ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีงบประมาณ

"อย่างการสอนนวดหากต้องทำตามโครงสร้างหลักสูตรที่สูงส่งแบบนี้ ลองคิดดูว่า อย่าง กศน.ระดับตำบล กศน.ระดับอำเภอ จากเดิมที่สอนฟรี เพราะงบก็มีไม่มาก หรืออย่างอาชีวะ ที่สอนแล้วเก็บวันละ 1 บาท ซึ่งไม่ต่างจากสอนฟรีเท่าไรนัก หากต้องทำเช่นนี้ต้องไปจ้างคนมาสอน จะไปเอางบที่ไหนไปจ้างครู ไปจ้างอาจารย์มาสอน เขาก็ทำไม่ได้กัน ที่สำคัญ การขอหลักสูตรไม่ใช่ว่า กศน.จะขอแล้วใช้ได้ทั้งหมด แต่ กศน.แห่งไหนจะสอน หรืออาชีวะแห่งใดจะสอน หรือศูนย์ทดสอบฝีมือแรงงานแห่งใดที่จะสอน ก็ต้องมาขออนุญาตยื่นหลักสูตรเป็นแห่งๆ ไป" นายสุกษม กล่าว

** ปรับโครงสร้างหลักสูตรให้เหมาะสม**

นายสุกษม ระบุว่า โครงสร้างหลักสูตรที่บอกว่าทั้งภาครัฐและเอกชนทำได้ยาก เพราะต้นทุนในการจัดอบรมนั้นสูงมาก อย่างวิทยากรที่จะมาอบรมนั้นต้องเป็นผู้ที่จบปริญญาตรีแทบทั้งนั้น ต้องใช้วิทยากรครูฝึกสอนล้วนแล้วแต่มีวุฒิการศึกษาสูงเกินความจำเป็น

นายสุกษม กล่าวอีกว่า และหากจะให้ประชาชนเข้าถึงการนวด หน่วยงานรัฐซึ่งเป็นที่พึ่งก็ต้องทำงบประมาณมาสนับสนุน เพื่อให้ประชาชนที่ยากจน หรือด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงได้ แต่ลองดูว่า ค่าใช้จ่ายที่จะต้องสนับสนุนสูงเท่าใด ยกตัวอย่าง อบรมการนวด 150 ชั่วโมง แบบค่าเรียนขั้นต่ำ 8,000 บาท เรียนจำนวน 15 วัน บวกการเดินทางมาเรียนอีก 2 วันสำหรับต่างจังหวัด เรียน 1 หลักสูตร ค่ากินอาหารอย่างประหยัด 200 บาทต่อวัน ก็ประมาณ 3,400 บาท ค่าเดินทาง 100 บาทต่อวัน 1,500 บาท ค่าที่พักอย่างต่ำ 450-500 บาท ก็ประมาณ 7,650 บาท และค่าเสียโอกาสในการทำงานอีก สมมติหมอนวดวันนึงได้ 500 บาทรวมทิปด้วยก็ประมาณ 8,500 บาท รวมแล้วสูญเสียรายได้ราว 20,000 กว่าบาท ถามว่าคนที่จะเรียนนวด คนยากจนหาเงินจำนวนนี้ได้ง่ายหรือ รัฐทำงบประมาณอย่างนี้ได้หรือไม่

"โครงสร้างหลักสูตรใหม่นี้เปรียบเทียบหลักสูตรเก่า นี่แทบเพิ่มขึ้นมาเป็น 100 เท่า โครงสร้างหลักสูตรแบบนี้มันยาก ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนจะทำได้หรือไม่ ต่อให้ทำได้ก็ต้องหลบซ่อนทำแบบไม่ถูกเสียทีเดียว หากมีคณะอนุกรรมการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพชุดใหม่ ผมมองว่าจะต้องปรับโครงสร้างหลักสูตรให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ต้องลดโครงสร้างหลักสูตรลง เอาที่จำเป็นจริงๆ เพราะนี่คือนวดเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่การนวดรักษา แต่ถ้าพูดกันจริงๆ โครงสร้างหลักสูตรเดิมของหน่วยงานรัฐก็มีมาตรฐานอยู่แล้ว ก่อนที่กฎหมายออก ก็ใช้หลักสูตรเดิมไปก็ได้" นายสุกษม กล่าว

นายสุกษม กล่าวว่า ถ้าโครงสร้างหลักสูตรแบบใหม่นี้ มีแต่เศรษฐีถึงทำได้ เพราะแค่ขึ้นต้นมาก็ระบุแล้วว่าเป็นอาคารเอกเทศหรือกรณีเป็นอาคารร่วมต้องแยกเป็นสัดส่วนไม่ปะปนกับกิจการอื่นเป็นอาคารที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารจากทางราชการให้ใช้เป็นอาคารเรียนเพื่อการศึกษา โยธาก็ต้องรับรองว่าเป็นอาคารสถานศึกษาได้ ซึ่งปัจจุบันสร้างตึกหลังหนึ่งก็หลายล้านบาท ไม่ต้องมาพูดเรื่องห้องครูน้อย ครูใหญ่ ภาคทฤษฎี ปฏิบัติ ห้องสมุด การเขียนแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ทำงบดุลประจำปี และทำบัญชีอีก โครงสร้างหลักสูตรแบบนี้ ค่าเรียน 8,000 บาทยังน้อยไปยังเป็นไปได้ยาก

**ไม่รับรองจนเกิดซื้อขายใบหมอนวด**

นายสุกษม เล่าอีกว่า หน่วยงานภาครัฐพอเจอแบบนี้ก็ถอยกรูดกันหมด ไม่มาขอ ไม่มายืนยัน สบส.เลยไม่รับรองใบประกาศที่หน่วยงานเหล่านี้เคยออกใบประกาศให้ คนที่ได้รับใบรับรองจากหน่วยงานรัฐก็ทำงานไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 กำหนดให้เวลายื่นขอใบอนุญาตสถานประกอบการหรือร้านนวด ร้านสปา ต้องประกอบด้วย ผู้ประกอบการ ผู้ดำเนินการ และผู้ให้บริการที่มีประกาศนียบัตรรับรองโดย สบส. แต่ "หมอนวด" เหล่านี้ไม่มีใบประกาศ ทั้งที่จบมาจากหน่วยงานรัฐ พอจะยื่นเอกสารขออนุญาตก็ไม่ผ่าน เลยเกิดกระบวนการร้านนวดเอย หมอนวดเอย วิ่งหาซื้อใบประกาศที่มีทั้งปลอมและจริงอุตลุดไปหมด ซึ่งไม่ใช่แค่ของสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย แต่มีการปลอมทั้งหมดของทุกหน่วยงานที่มีการสอนอบรมหมอนวด รวมถึงหน่วยงานราชการ แม้ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและในหลวงรัชกาลที่ ๙ เขาก็กล้าปลอม

"ต้องยอมรับว่า หมอนวดเองก็มีความรู้ทางกฎหมายไม่มากนัก พอมีใบประกาศของหน่วยงานรัฐ แต่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ไม่รับรอง เขาก็ถูกหลอกว่า ใบประกาศนี้ สสจ.เขารับรอง ก็ไม่รีรอ เพราะอยากประกอบอาชีพ ก็เลยเกิดการซื้อขายขึ้น ถามว่ากระบวนการอุบาทว์นี้เกิดขึ้นเพราะใคร ผมถึงเรียกร้องมาตลอดให้ สบส.รับรองประกาศนียบัตรของรัฐที่ออกก่อน พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 จะมีผลบังคับใช้ หากให้การรับรองตรงนี้ จะแก้ปัญหาได้มากกว่า 80% เพราะเดิมมีใบประกาศที่ออกโดยหน่วยงานรัฐ ก็จะเอาของรัฐไปขึ้นทะเบียน เรื่องก็จบ ใบประกาศที่ถูกหลอกซื้อขายก็จะถูกฉีกทิ้งทันที เพราะไม่มีความหมาย ใครๆ ก็อยากมีใบประกาศของรัฐทั้งนั้น ตรงนี้จะเป็นการช่วยแก้ปัญหา" นายสุกษม กล่าว

นายสุกษม กล่าวว่า เรื่องนี้เมื่อมีหมอนวดไปยื่นร้องนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านก็สั่งกำชับให้มาเยียวยา แต่วิธีการเยียวยาของ สบส. คือ ทำแบบลูบหน้าปะจมูก ดูไม่จริงใจ เปิดให้มาอบรมกับ สบส. ช่วงเช้า 300 คน ช่วงบ่าย 300 คน รวม 600 คนต่อวัน ซึ่งข้อกล่าวหาที่ สบส.ไม่รับรองขึ้นทะเบียน คือ ไม่ได้มาตรฐาน แต่ถามว่า มาอบรมกับ สบส. เริ่มลงทะเบียน 9 โมง กว่าจะเสร็จ 10-11 โมง อบรมชั่วโมงเดียวจะเก่งขึ้นทันตาหรือ ส่วนที่อ้างว่ามีการให้สอบ ถ้าทำได้ถึงให้ผ่าน ก็เป็นเอากระดาษมาโยนให้กา เส้นประธานสิบ ซึ่งหมอนวดทุกคนต้องรู้ ถ้าสอบแค่นั้นไม่พอจริงๆ ที่จะเรียกว่ามีมาตรฐาน หากจะเรียกว่ามีมาตรฐานต้องจัดสอบแบบที่ศูนย์ทดสอบฝีมือแรงงานจัด คือ มีทั้งข้อเขียนภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ซึ่งจะมีมาตรฐานในการสอบอยู่ ถ้าสอบแบบนี้ถึงจะเรียกว่ามีมาตรฐานจริง

"ผมมองว่า รัฐต้องเชื่อใจในรัฐด้วยกัน เพราะหน่วยงานรัฐที่เปิดสอนก็ทำมานาน หลักสูตรก็มีคุณภาพ เป็นการทำตามกฎหมายและพันธกิจของแต่ละหน่วยงาน โดยเฉพาะเรื่องของการส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพ จึงอยากเรียกร้องให้รับรองประกาศนียบัตรของผู้ถือครองประกาศนียบัตรของรัฐ ส่วนที่จบจากภาคเอกชนก็จับมาสอบเลย แยกป็นสองส่วน ถ้ามองว่าเอกชนไม่ได้มาตรฐาน ก็ขอท้าเลย สมมติ สบส. และ สสจ. ทั่วประทศเปิดสอบ ก็ให้เอาใบประกาศอบรมหมอนวด 150 ชั่วโมงไปยื่นสอบ ถ้าของสมาคมฯ สอบผ่านไม่เกิน 50% ต้องถือว่า สมาคมหลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน ถ้าทำอย่างนี้ทุกองค์กรจะเร่งให้ลูกศิษย์ตัวเองมีคุณภาพแท้จริง มิเช่นนั้นจะถูกประจานตรงนี้ แต่สมาคมมั่นใจคุณภาพการอบรม ศักยภาพของลูกศิษย์ถึงได้ท้าสอบ ถ้าสอบได้ต่ำกว่า 40-50% ไม่ได้มาตรฐาน ปีแรกอาจตักเตือน ถ้าปีสองยังเหมือนเดิมก็ยกเลิกหลักสูตรได้เลย ถ้า สบส.ทำแบบนี้จะไม่มีใครว่า สมาคมก็ต้องสำเหนียกตัวเองว่าสอนไปก็ไม่ได้มาตรฐาน" นายสุกษม กล่าว

**สบส.ต้องไม่ลิดรอนสิทธิ ปชช.**

นายสุกษม ระบุว่า สบส.สามารถรองรับใบประกาศของหน่วยงานรัฐได้ โดยที่ไม่ต้องมาขอหลักสูตรใหม่ใดๆ รับรองไปก่อน รัฐก็ต้องเชื่อในรัฐ และอย่าลืมว่า ประกาศนียบัตรที่รัฐให้ประชาชนไปใช้ในการประกอบอาชีพ รัฐไม่สามารถลิดรอนกลับคืนมาได้ ซึ่ง สบส.ไม่ได้ลิดรอน แต่ไม่ยอมรับรองเลย แบบนี้ถือว่ากระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยกตัวอย่าง ใบขับขี่ซึ่งเดิมออกให้แบบตลอดชีพ แต่เมื่อกฎหมายใหม่ออกมา ให้ต่ออนุญาตใบขับขี่ทุก 2 ปี ถามว่าเขาไปลิดรอนคนที่ได้ใบขับขี่ตลอดชีพหรือก็ไม่ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ก็เช่นกัน เมื่อมาทีหลัง ก็ต้องให้การรองรับใบประกาศของรัฐที่ออกมาก่อนกฎหมายก่อน แล้วหลังปี 2559 ก็ค่อยมาว่ากัน ซึ่งประเด็นนี้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และทาง สบส.ไม่เคยตอบเลย

นายสุกษม กล่าวว่า ถึงแม้จะบอกว่าหลังปี 2559 ให้มายื่นขอหลักสูตรใหม่ แต่ก็เป็นไปได้ยาก เพราะอย่างที่บอกไปว่า พอให้มายื่นขอหลักสูตรใหม่ก็ทำหลักสูตรสูงจนทำไม่ได้ ซึ่งเอกชนจะทำได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะถึงทำได้ก็ต้องคิดราคาค่าเรียนแพงๆ แต่หน่วยงานรัฐควรที่จะต้องทำได้ เพื่อช่วยฝึกอาชีพและทำให้ประชาชนเข้าถึงการมีอาชีพ ซึ่งการนวดเป็นการลงทุนที่น้อยที่สุดแล้ว เพราะใช้เพียงแค่สองมือกับความขยัน และก็ต้องนวดให้ได้ดีมีมาตรฐาน เพราะถ้านวดไม่ดีไม่เป็น ลูกค้าก็ไม่อยากมานวดอีก แต่ลองดูการขับวินมอเตอร์ไซค์ ทั้งรถจักรยานยนต์ ค่าวิน ค่าเสื้อวิน ต้องลงทุนเท่าไร เป็นแสนๆ บาท

**ออกกฎควบคุม แต่ไม่เคยสนับสนุน**

นายสุกษม กล่าวว่า สิ่งที่สมาคมฯ โต้แย้ง เป็นเรื่องการช่วยเหลือหมอนวด เราแทบไม่พูดอะไรถึงสมาคมฯ เลย ซึ่งอะไรดีๆ ที่เป็นการสนับสนุนส่งเสริม สบส.ไม่เคยทำ แต่ออกกฎระเบียบมาควบคุมจนเกิดปัญหา และมาเพ่งโทษเลือกปฏิบัติ อย่างเรื่องสมาคมฯ สอนนวดเกิน 7 คน สบส.กลับหยิบมาเหมือนเราแบบทำผิดกฎหมายมาก แบบค้ายาเสพติด ซึ่งต้องชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีใครพูดถึงเลยเรื่องห้ามสอนเกิน 7 คน ทุกคนก็เพิ่งรู้เมื่อปี 2560 เหมือนตอนนั้นเรื่องนั่งท้ายรถกระบะถูกจับ ซึ่งกฎหมายมีมานาน แต่ไม่มีใครเข้มงวดใช้ ไม่มีใครรู้ แล้วกฎหมายเรื่องไม่ใช่โรงเรียนห้ามสอนเกิน 7 คน เป็นกฎหมายของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) แต่เวลาขอหลักสูตรเรามาขอที่ สบส. ก็มาดูกฎระเบียบกฎหมายที่นี่ สบส.ไม่เคยพูดสักคำว่าห้ามสอนเกิน 7 คน

"ยอมรับว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้ แต่ในเมื่อขอหลักสูตรที่ สบส. ก็มาดูกฎที่ สบส.ใครจะไปดู สช.ที่กระทรวงศึกษาธิการ และ สบส.ไม่เคยพูดมาก่อน ตอนมาบรรยายที่สมาคมก็ไม่เคยพูด พอจะฆ่าสมาคมฯ ก็หยิบเรื่อง 7 คนขึ้นมา เป็นการใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติหรือไม่ แล้วทำให้อย่างไร ก็ อบจ.มีงบคราวละ 40 คนให้ไปสอนต่างจังหวัดตาม อบต. เทศบาล หรือเขาไปสอนเรือนจำที่ไม่ได้เข้าไปได้ง่ายๆ และเข้าไปบ่อยๆ แต่เราเข้าไปช่วยสร้างอาชีพให้คนที่จะออกมาไม่ต้องกลับไปเป็นอาชญากรซ้ำ แบบนี้ผิดมากหรือ หรืออย่างศูนย์ทดสอบฝีมือแรงงานก็ไม่ใช่สถานศึกษา ก็สอนเกิน 7 คนไม่ได้ แต่สอนเกินกันหมด เพราะไม่มีใครรู้จริงๆ" นายสุกษม กล่าว

นายสุกษม กล่าวว่า เรื่องข้อกล่าวหาต่างๆ สิ่งที่พูดมาอันไหนไม่จริง เราก็จะร้องต่อศาล ให้เป็นกระบวนการศาลไป แต่ที่อยากได้ที่สุด คือ กระบวนการช่วยเหลือประชาชน แค่รับรองประกาศนียบัตรของรัฐ 80% ของรัฐผ่าน ที่เหลือเอกชน 20% ก็จัดสอบ เมื่อก่อนเสนอ ถ้าสอบผ่านแจกใบตรามือนวดของ สบส.เหมือนผ่าน มอก. ร้านนี้ Clean Food Good Taste ของกรมอนามัย โดย สบส.จัดสอบเอง แต่ที่ทำมาไม่มีนโยบายอะไรที่สนับสนุนดังชื่อกรมเลย มีแต่เน้นการควบคุม ออกกฎเกณฑ์ ไม่มีอันไหนส่งเสริมสนับสนุนเลย

**ยันไม่เคยขายแฟรนไชส์สอนนวด**

นอกจากเรื่องสอนเกิน 7 คน ยังมีปัญหาการนำชื่อสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย ไปใช้ในการฝึกอบรมหมอนวด จนเหมือนกับเป็นการขายแฟรนไชส์ ที่ สบส.พยายามเอาผิดนั้น นายสุกษม กล่าวชัดเจนว่า ไม่มีแน่นอน ไม่มีการซื้อขายชื่อสมาคมฯ ในราคาแสน-สองแสนบาท เรามีแต่ให้เอาชื่อสมาคมฯ ไปใช้ฟรีๆ หรือบางคนอาจบริจาคช่วยเหลือสมาคมฯ ซึ่งคนที่นำชื่อสมาคมฯ ไปใช้ไปตั้ง ก็คือคนที่เรียนจบจากสมาคมฯ เพราะเขารู้สึกภูมิใจในชื่อเสียงของสมาคมฯ บางคนก็นำไปใช้เปิดร้านในการให้บริการนวด บางส่วนก็นำไปใช้สอนนวด ซึ่งการนำเอาโลโก้สมาคมฯ สามารถนำไปใช้ได้ เพราะเหมือนเป็นการการันตีในคุณภาพ เพียงแต่อยู่ที่คนนำไปใช้ ก็ต้องไปดำเนินการให้ถูกต้อง คือ จะต้องไปขออนุญาตให้ถูกต้อง หากไม่ทำ สบส.ก็ต้องไปเอาผิดกับร้านเหล่านี้

"ยอมรับว่ามีทั้งคนที่ไปขออนุญาต และไม่ได้ไปขออนุญาตอย่างถูกต้อง แต่ถามว่าเราต้องไปเอาเรื่องเองหรือ ยกตัวอย่าง การไปตั้งชื่อคลินิกหมอจุฬาฯ คลินิกหมอรามาฯ รพ.จุฬาฯ รพ.รามาฯ ก็ต้องลงไปจับสิ ถ้าเราขายแฟรนไชส์เราถึงต้องจับเขาเพราะละเมิดลิขสิทธิ์ แต่นี่ขอใช้โลโก้สมาคมฯ เพราะแค่อยากเป็นการการันตีเท่านั้น" นายสุกษม กล่าวและว่า เรื่องที่ สบส.จะให้สมาคมฯ ชี้แจง ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำเอกสาร และจะชี้แจงเป็นเอกสารภายในสัปดาห์นี้

**จ่อฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ เหตุไม่ทำตามกฎหมาย**

ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่าย เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

นายสุกษม กล่าวว่า จากการออก พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ตนมองว่าทำให้เกิดปัญหาความวุ่นวายและสร้างภาระให้แก่ประชาชนหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องของการขึ้นทะเบียนหมอนวด ที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ รวมถึงการขึ้นทะเบียนร้านนวด เพราะเดิมต้องขออนุญาตกระทรวงมหาดไทย ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 จนเกิดปัญหาว่าต้องขึ้นทะเบียนกับใคร เพราะต่างฝ่ายต่างยืนยันว่า ต้องขึ้นทะเบียนหากไม่ขึ้นถูกจับ ต่างคนต่างแย่ง ทำให้เกิดส่วยร้านนวด เพราะไม่รู้ไปขออย่างไร จึงได้ไปคัดค้านร้องเรียน ขอให้ระบุชัดๆ ว่า เสียภาษีที่ไหน อย่าให้เสียภาษีซ้ำซ้อน เพราะสร้างภาระประชาชน ซึ่ง สธ.รับปากจะหารือ สบส. ปรากฏว่ากว่าจะได้กินเวลา 2-3 ปี เสียภาษีซ้ำซ้อนไม่รู้เท่าไร

นายสุกษม กล่าวว่า หรือการออกกฎนักโทษที่พ้นโทษแล้ว จะมายื่นขอเป็นหมอนวดได้ต้องรอ 1 ปี ถามว่าเวลา 1 ปีจะให้เขาไปทำอะไร ทั้งที่เราเข้าไปฝึกอาชีพจนมีความสามารถเราออกใบประกาศให้ แต่ไม่สามารถมาขึ้นทะเบียนได้ ซึ่งหากหากไม่มีอาชีพก็มีโอกาสกลับไปก่ออาชญากรรมซ้ำอีก แบบนี้ถูกต้องหรือไม่ ก็สร้างภาระให้คนที่จะประกอบอาชีพหรือไม่

นายสุกษม กล่าวว่า หรืออย่างเรื่องของเจตนารมณ์กฎหมายฉบับนี้ เพื่อขจัดนวดแอบแฝง แต่หลังกฎหมายออกมา ก็ยังมีร้านนาบอยู่ดี เจตนารมณ์นี้จึงใช้ไม่ได้ การปฏิบัติไม่เห็นผล หากไปร้านนวดจริงๆ ลักษณะร้านนวดจะอยู่ในห้องแถวหรือศูนย์การค้า มักวางเบาะเตียงเรียงกัน หรือเป็นเบาะปูพื้นยกสูง ม่านมีบ้างไม่มีบ้างตามฐานะ ลักษณะแบบนั้นจะแอบแฝงค้าประเวณีได้หรือไม่ ไม่มีทางเลย นอกจากนี้ ลักษณะร้านนวดจะเป็นประกอบอาชีพในครอบครัว พ่อแม่ลูกญาติพี่น้อง ร้านเล็กมีลักษณะแบบนี้ กฎหมายกำหนดให้การขออนุญาตร้านต้องมีผู้ดำเนินการด้วย ซึ่งเดิมทีกำหนดแค่ร้านสปาต้องมี แต่ถามว่าผู้ดำเนินการต้องจบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์ความงามและสุขภาพ ถึงมีสิทธิสอบ ถามว่าคณะนี้มีสอนกี่แห่ง และเพิ่มภาระให้ร้านเล็กๆ แบบนี้หรือไม่ ที่จะต้องจ้างคนจบปริญญาตรีขั้นต่ำอีก 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งหากเป็นร้านใหญ่เกิน 10 เตียงขึ้นที่ทำในเชิงธุรกิจจะไม่ว่าเลย แต่ลักษณะเล็กแบบนี้จะงดเว้นได้หรือไม่ ซึ่งหากมีอนุกรรมการฯ ชุดใหม่ จะต้องแก้ไขในเรื่องนี้ เพราะกฎเกณฑ์ที่สร้างภาระเกินความจำเป็น ต้องยกเลิกโดยไม่ชักช้า

นายสุกษม กล่าวว่า เช่นกันกับเรื่องออกกฎหมายต้องสอบถามความคิดเห็น ถามว่าเคยมาสอบถามหมอนวดหรือไม่ ก็ไม่เคย แต่ต้องประเมินสัมฤทธิ์ผล ซึ่งกฎหมายออกมาปี 2559 ตอนนี้ปี 2562 ใช้มาประมาณ 2 ปีแล้ว ได้ฤกษ์หรือยังกลับมาทบทวนใหม่ เคยประเมินหรือไม่ว่า กฎหมายสร้างภาระให้ประชาชนเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า สมาคมฯ จะร้องศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ เพราะ สบส.ไม่สนใจการทำตามรัฐธรรมนูญเลย ในประเด็นมาตรา 77 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทำเอกสารเพื่อร้อง

"ล่าสุด แม้จะมีการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ที่ให้นักโทษที่พ้นโทษแล้ว ไม่ต้องรอ 1 ปี ถึงมาขออนุญาตขึ้นทะเบียนเป็นหมอนวดได้ ก็เพราะทางสมาคมฯ มีการเรียกร้องให้แก้ไขอย่างหนักมานาน แต่กว่าจะแก้ไขได้ก็ใช้เวลาเกือบ 3 ปี ที่สำคัญการแก้ไขก็เป็นการแก้ไขเพียงมาตราเดียวเท่านั้น ปัญหาอื่นๆ ที่มีผลกระทบยังไม่ได้มีการแก้ไขเลย" นายสุกษม กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น