xs
xsm
sm
md
lg

หน่วยงานอื่นจัดอบรมสั่งจ่าย "กัญชา" ได้ แต่ต้องส่งหลักสูตรให้พิจารณา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมการแพทย์ แจงหน่วยงานอื่นจัดอบรมการสั่งจ่าย "กัญชา" ทางการแพทย์ได้ แต่ต้องส่งหลักสูตรให้ คกก.รับรองหลักสูตรฯ พิจารณา ถึงขอใบอนุญาตสั่งจ่ายจาก อย.ได้ ระบุโรคทางจิต แพ้สารที่ใช้ในการสกัดกัญชา โรคหัวใจ โรคตับรุนแรง ยังไม่ควรใช้กัญชารักษา

วันนี้ (24 เม.ย.) นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวถึงหลักสูตรอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์ของกรมการแพทย์ ว่า มีงานวิจัยและวิชาการว่า กัญชามีประโยชน์ในการรักษาโรคผู้ป่วย แต่กัญชาไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่รักษาได้ทุกโรค มีทั้งข้อดีและข้อระวัง การอบรมจะทำให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยในระดับหนึ่งว่า สิ่งใดที่ควรระมัดระวัง และมีความรู้เพื่ออธิบายให้ความรู้กับผู้ป่วยได้ เบื้องต้นปีงบประมาณ 2652 จะอบรม 6 รุ่น รุ่นแรก คือ วันที่ 29-30 เม.ย. รุ่นที่ 2 วันที่ 23-24 พ.ค. ซึ่งเปิดรับสมัครวันที่ 10 พ.ค. ทางออนไลน์ ส่วนรุ่นต่อไปยังไม่ได้กำหนด แต่จะสิ้นสุดใน ก.ย. หากมีความต้องการเพิ่มก็จะดำเนินการต่อ

นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า รายละเอียดหลักสูตร ประกอบด้วย 1.นโยบายการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ สิ่งที่คาดหวังและทิศทางการใช้กัญชา 2.ข้อมูลพื้นฐานของกัญชา เช่น สารสกัดจากกัญชา สายพันธุ์กัญชา สารออกฤทธิ์จากกัญชา ระยะเวลาออกฤทธิ์ รวมถึงระบบของร่างกายที่จะตอบรับกับการใช้กัญชา 3.เรื่องของกฎหมายในการใช้กัญชาทิศทางและการกำกับดูแล 4.การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์เป็นอย่างไรบ้าง โรคใดที่สามารถใช้กัญชาได้ 5.รู้จักวิธีการเริ่มใช้กัญชา การพิจารณาการจ่ายยากับผู้ป่วยว่ารายใดควรได้รับสารสกัดจากกัญชาร่วมกับการดูประวัติว่าสามารถใช้กัญชาได้หรือไม่ โดยประเมินความเสี่ยงและประโยชน์และ 6.กัญชายังมีขอบเขตเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ต้องระวังถูกนำไปใช้เพื่อสันทนาการ ระวังอย่าให้ถูกนำไม่ใช้ผิดวัตถุประสงค์ เป็นต้น

"การอบรมทำภายใต้คณะกรรมการพิจารณาและรับรองหลักสูตรการนำกัญชาไปใช้ทางการแพทย์ ซึ่งมีตัวแทนจากหลายภาคส่วน ทั้งราชวิทยาลัยและสมาคมต่างๆ ซึ่งหน่วยงานใดอยากจัดหลักสูตรก็ส่งข้อมูลหลักสูตรมาให้คณะกรรมการฯ พิจารณาได้ หากเห็นชอบก็จัดอบรมได้ ถือเป้นหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขยอมรับ และสามารถขอรับใบอนุญาตสั่งใช้หรือจ่ายสารสกัดกัญชาได้" นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าว

นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่จะได้รับกัญชา เช่น โรคลมชัก ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้เป็นโรคปวดประสาท และโรคบางโรคซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายๆ ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ควรใช้ เช่น กลุ่มที่มีประวัติโรคทางจิต ผู้ที่แพ้สารที่ใช้ในการสกัดกัญชา โรคหัวใจที่มีอาการ โรคตับรุนแรง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในไทยยังไม่มีการใช้ตัวยาจากสารสกัดกัญชา จะมีแค่ในต่างประเทศที่ใช้รักษาโรคลมชัก และรักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยที่เป็นโรคปลอกประสาทหดเกร็ง ดังนั้น ในไทยหากได้สารสกัดจากกัญชาจะเป็นผลิตภัณฑ์ยังไม่ใช่ยา ซึ่งขณะนี้จะมีขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่จะมีการสกัดและได้ผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชามาให้ใช้ก่อนใน ก.ค. ส่วนใช้ในโรคใดอยู่ที่การพิจารณาของ อภ.


กำลังโหลดความคิดเห็น