รพ.จุฬาฯ แถลงความสำเร็จ ใช้ "เซลล์นักฆ่า" รักษาผู้ป่วยกลับมาเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอิลอยด์ซ้ำ ติดตาม 1 ปี ยังไม่กลับมาเป็นอีก ส่วนเอามาใช้รักษาผู้ป่วยที่ยังไม่ผ่านการรักษายังต้องศึกษาต่อ เตือนอย่าหลงเชื่อโฆษณาการใช้เซลล์บำบัดรักษาโรคต่างๆ ยังไม่เป็นการรักษามาตรฐาน
วันนี้ (23 เม.ย.) ที่โรพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอู้อำนวยการ รพ.จุฬาฯ พร้อมด้วย ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รอง ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมแถลงข่าว “ก้าวแรกสู่ความสำเร็จ การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยเซลล์นักฆ่า”
นพ.กรมิษฐ์ กล่าวว่า เซลล์นักฆ่าเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งในร่างกาย แต่มีเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้น หน้าที่หลัก คือ ตระเวนหาเซลล์ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เมื่อพบแล้วจึงทำการฆ่าทำลายก่อนที่เซลล์นั้นจะกลายเป็นมะเร็ง ด้วยความสามารถดังกล่าวนักวิทยาศาสตร์จึงได้ศึกษานำเซลล์นักฆ่ามาใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ โดยนำเซลล์นักฆ่าออกมาเลี้ยงภายนอกร่างกายด้วยอาหารเลี้ยงเซลล์ชนิดพิเศษ เพื่อเพิ่มจำนวน จากนั้นทำการตรวจวิเคราะห์ประสิทธิภาพและความบริสุทธิ์ ก่อนใส่กลับเข้าไปยังผู้ป่วยผ่านทางหลอดเลือดดำ จากการทดลองทางคลินิก พบว่า ประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งชนิดก้อนยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรคและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำในมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ โดยเฉพาะการใช้เซลล์นักฆ่าจากพ่อแม่ พี่น้อง หรือลูกที่มีสารพันธุกรรมตรงกันเพียงครึ่งเดียว แต่ถ้าใช้เซลล์นักฆ่าของผู้ป่วยเองจะมีประสิทธิภาพไม่สูง
นพ.กรมิษฐ์ กล่าวว่า รพ.จุฬาฯ เริ่มวิจัยเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันได้มีการใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ ที่ผ่านการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันมาแล้ว กลับมาเป็นซ้ำ และไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน หรือเป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีโรคกลับเป็นซ้ำ แต่ไม่สามารถรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกได้ โดยแต่ละคนจะได้รับเซลล์นักฆ่าในจำนวนครั้งที่แตกต่างกัน ซึ่งรายแรกได้รับเซลล์นักฆ่าเพียงครั้งเดียว พอตรวจไขกระดูกก็ไม่พบเซลล์มะเร็งแล้ว ตอนนี้ติดตามจนพ้นระยะ 1 ปีก็ยังไม่พบเซลล์มะเร็งกลับมาอีก ส่วนผู้ป่วยอีก 4 รายบางรายได้รับ 2 ครั้งบ้าง 3 ครั้งบ้าง แล้วแต่คน ตอนนี้ยังไม่พ้นระยะ 1 ปี ส่วนผลข้างเคียง มีบ้างเล็กน้อย เช่น ไข้ หนาวสั่น เป็นต้น
เมื่อถามว่าต้องติดตามต่อเนื่องถึงเมื่อไร หรือต้องเพิ่มกลุ่มตัวอย่างอีกเท่าไร จึงมั่นใจว่าจะสามารถเป็นการรักษามาตรฐานได้ นพ.กรมิษฐ์ กล่าวว่า อย่างรายแรกต้องติดตามต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี ตามทฤษฎีการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง ส่วนกลุ่มตัวอย่างนั้น มีการวิจัยหลายเฟส ซึ่งจะเพิ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่างขึ้นไปอีก เป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลา ส่วนการจะให้เซลล์นักฆ่ากับผู้ป่วยที่ยังไม่ผ่านการรักษาด้วยวิธีการใดมาก่อนเป็นเพียงแนวคิด แต่มีปัญหาว่าคนกลุ่มนี้มีปัญหาสภาพร่างกายไม่แข็งแรง อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 จะเริ่มดำเนินโครงการต่อเนื่องเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่าในลำดับต่อไป
"ขอย้ำว่า ทุกอย่างต้องทำภายใต้ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะด้านโลหิตวิทยา อย่าไปหลงเชื่อโฆษณาที่อ้างใช้เซลล์นักฆ่ารักษาได้หลายโรค ซึ่งปัจจุบันเซลล์บำบัดทุกชนิดยังไม่เป็นการรักษาที่มาตรฐาน น่าเป็นห่วงมากที่ได้ยินมามีการโฆษณาให้คนไปตรวจการทำงานของเซลล์นักฆ่า หากมีน้อยหรืออ่อนแอก็ให้ไปรับเซลล์เพิ่มเพื่อเป็นการบูทเซลล์ ขอเรียนว่าเซลล์นักฆ่าเมื่อนำกลับเข้าร่างกายก็จะมีอายุเพียงประมาณ 2-4 สัปดาห์เท่านั้น" นพ.กรมิษฐ์ กล่าว
ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ เป็น 1 ใน 4 ชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว และเป็นหนึ่งใน 10 โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ป่วยชาวไทย การรักษามาตรฐาน คือ ยาเคมีบำบัด และปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่โรคกลับเป็นซ้ำ ทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้ แต่มีส่วนหนึ่งกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งเมื่อเป็นซ้ำอีก โอกาสรอดชีวิตเกิน 1 ปีถือว่าน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย แต่จากการศึกษาทางคลินิกในต่างประเทศ โดยให้เซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคมีโอกาสควบคุมโรคได้ 40-80% และช่วยลดโอกาสการเป็นซ้ำ สำหรับกลุ่มตัวอย่างรายแรกที่ รพ.จุฬาฯ รักษาโดยให้เซลล์นักฆ่า เป็นหญิงอายุ 52 ปี ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคดังกล่าวเมื่อปี 2560 รักษาด้วยเคมีบำบัด 3 สูตรที่แรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ในไขกระดูก แพทย์จึงปลูกถ่ายไขกระดูกจากพี่สาวให้ แต่จากนั้น 3 เดือน กลับเป็นซ้ำอีก แพทย์ประเมินว่ามีโอกาสตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานต่ำ จึงให้เข้าร่วมโครงการให้เซลล์นักฆ่า โดยใช้เซลล์นักฆ่าของพี่สาว
“วิธีการเริ่มจากการเจาะเลือดผู้บริจาค นำไปแยกเซลล์นักฆ่าและนำไปกระตุ้นเพิ่มจำนวนในห้องปฏิบัติการ 2 สัปดาห์ จากนั้นก็ให้ยากดภูมิคุ้มกันผู้ป่วย 3-6 วัน แล้วค่อยนำเซลล์นักฆ่าฉีดให้หลังหยุดยากดภูมิ 1-2 วัน และเฝ้าดูอาการ 24 ชั่วโมง หากไม่พบผลข้างเคียงใดๆ ก็กลับบ้านได้ และติดตามการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ซึ่งผู้ป่วยรายแรกขณะนี้หยุดรักษาประมาณ 1 ปีแล้ว ไม่มีอาการแสดงของโรคกลับเป็นซ้ำ ขณะที่อาการต่อต้านหลังรับเซลล์นักฆ่ามีเพียงแผลบริเวณเยื่อบุช่องปาก ซึ่งสามารถควบคุมอาการได้ด้วยการใช้ยากดภูมิชนิดบ้วนปากเท่านั้น” ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว
ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเตือน คือ ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการโฆษณาชวนเชื่อ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และมีการเสนอบริการด้านเซลล์บำบัดในการรักษาโรคต่างๆ ผ่านสื่อต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความเข้าใจผิด คลาดเคลื่อน เกิดความคาดหวังที่สูงเกินความเป็นจริง นอกจากเสียทรัพย์สินแล้วบางรายยังเสียชีวิตด้วย โดยมีรายงานว่าพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อหลังรับเซลล์นักฆ่าที่คลินิกเสริมความงามในฮ่องกง 1 ราย และ อีก 3 รายต้องแอดมิทใน รพ.