xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก!! แพทย์อินเตอร์ สจล.ปั้น “หมอนักวิจัย”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทุกวันนี้คนไทยหันมาใส่ใจตนเองมากขึ้นทั้งการออกกำลังกาย รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ มีการค้นคว้าหาข้อมูลที่มีประโยชน์ ตลอดจนเลือกที่จะเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นนี้บทบาทของ “แพทย์” หรือ “หมอ” ที่เราเรียกกันจนติดปาก ในยุคนี้จึงต้องปรับเปลี่ยน การผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ไม่เพียงยังคงไว้ซึ่งความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังต้องเพิ่มทักษะ ศาสตร์ด้านอื่นๆ ด้วย

๐สจล.พัฒนาหลักสูตรแพทย์อินเตอร์

เข้าสู่ปีที่ 2 ของการเปิดตัวหลักสูตรแพทย์อินเตอร์ อยู่ระหว่างกระบวนการรับนักศึกษาแพทย์รุ่นที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2562 ศ.นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า คณะแพทย์ สจล.ได้เริ่มเปิดหลักสูตรแพทย์อินเตอร์ หรือเรียกชื่อทางการว่า “หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) ระดับปริญญาตรี ระยะเวลาเรียน 6 ปี จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เป็นหลักสูตรด้านวิชาชีพแบบก้าวหน้าที่มุ่งเน้นการศึกษาและดำเนินการวิจัยทางการแพทย์ และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันมีนักศึกษาแพทย์รุ่นแรก 27 คน จากผู้สมัครที่ให้การตอบรับอย่างดีกว่า 100 คน ขณะที่จำนวนรับที่แพทยสภาให้การรับรองอยู่ที่ 50 คน ส่วนปีการศึกษา 2562 ก็จะรับตามจำนวนที่มี ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ มีนักเรียนผ่านการคัดเลือกรอบแรกแล้ว 20 คน รอบ 2 อีก 18 คน ในจำนวนนี้มีนักเรียนต่างชาติจากประเทศนอร์เวย์ เข้าเรียนจำนวน 1 ราย ส่วนที่อยู่ระหว่างการรอยืนยันสิทธิ์ภายในสิ้นเดือนเม.ย.นี้

๐ไม่ใช่แค่ “หมอ” รักษาโรคแต่เป็น “หมอนักวิจัย”

ศ.นพ.อนันต์ บอกด้วยว่า สิ่งที่ทำให้หลักสูตรแพทย์อินเตอร์ของ สจล.จะต่างไปจากหลักสูตรของโรงเรียนแพทย์อื่นๆ เริ่มแต่แนวคิดการพัฒนาหลักสูตร ที่เรานำผลที่คาดหวังมาพัฒนาในหลักสูตร ภายใต้แนวคิด outcome based education คือการสร้างหลักสูตรโดยกำหนดไว้ผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้ล่วงหน้า จึงได้กำหนดคุณลักษณะบัณฑิตแพทยศาสตร์ไว้ 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ความเป็นแพทย์ จุดนี้เหมือนกับโรงเรียนแพทย์ทั่วไป ว่าแพทย์ที่จบใหม่ต้องมีความรู้ ความสามารถ คุณลักษณะของความเป็นแพทย์ตามที่แพทยสภากำหนด 2.ความสามารถด้านการวิจัย บัณฑิตแพทย์ของ สจล.จะต้องทำวิจัย 3.มีทักษะศตวรรษที่ 21 คือ การสื่อสาร การคิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดสร้างสรรค์ และ4.ความเป็นสากล ทั้งด้านการเรียนรู้ หลักสูตรการเรียนการสอน หลักเกณฑ์การประเมินเป็นไปตามมาตฐานระดับสากลของ สหพันธ์แพทยศาสตร์นานาชาติ และมีความเป็นสากลในเชิงวัฒนธรรม ประชากรโลก ตรงนี้จะเกิดประโยชน์ทำให้บัณฑิตสามารถไปทำงานที่ใดก็ได้โลกเพราะมีความเข้าใจในบริบทต่างๆ

“ในเวลานี้เราต้องการแพทย์ที่เป็นมากกว่าผู้รักษาโรค แต่สามารถคิดค้น ศึกษาต่อยอดพัฒนานวัตกรรมด้วยตนเอง มีความเป็นนักวิจัย เพราะเราเชื่อว่าการวิจัย การสร้างองค์ความรู้ เป็นเรื่องสำคัญหนึ่งในการพัฒนาการแพทย์ ซึ่งการส่งเสริมเรื่องการวิจัย เป็นเรื่องที่โรงเรียนแพทย์ต่างๆ พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น แต่ด้วยการเรียนการสอนหลักสูตรแพทย์ โดยปกติก็เรียนค่อนข้างหนักมาก ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำวิจัยเนื่องจากการทำวิจัยมีกระบวนการต่างๆ ต้องอาศัยเวลาในการทำ ดังนั้น เมื่อเราเพิ่มเรื่องการวิจัยเข้ามาในหลักสูตรแพทย์อินเตอร์ ก็ชัดเจนว่าทุกคนต้องทำและสอบวิทยานิพนธ์ด้วย”คณบดีคณะแพทย์ สจล. กล่าว

๐จัดสรรลงตัว 6 ปีเรียนวิชาแพทย์-ทำวิจัย

เพราะเมื่อเพิ่มเรื่องการเป็นนักวิจัยกอปรกับระยะเวลาเรียน 6 ปีเท่ากับหลักสูตรแพทย์ปกติ คณะแพทย์ตระหนักดีว่าต้องกำหนดกรอบหลักสูตร ระยะเวลาให้ชัดเจน ซึ่งในแต่ละชั้นปีก็จะมีการสอดแทรกเรื่องวิจัยเข้าการหาวิชาเลือกที่เหมาะสมกับการวิจัยของผู้เรียน ซึ่งระยะเวลา 6 ปีหรือ 12 ภาคเรียน จำนวน 246 หน่วยกิต ซึ่งในชั้นปีที่ 1 การศึกษาทั่วไป ที่มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเป็นหมอมากขึ้น ปีที่ 2 - 3 จะเน้นการเรียนที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือที่เรียนกันในกลุ่มโรงเรียนแพทย์ว่าพรีคลินิก ปีที่ 4 ส่วนใหญ่จะเป็นการทำวิจัย ปีที่ 5-6 จะเน้นการปฏิบัติทางคลินิก การดูแลคนไข้

ศ.นพ.อนันต์ บอกอีกว่า “หลักสูตรแพทย์อินเตอร์ของ สจล.ได้จัดช่วงเวลาทำวิจัย ถือเป็นจุดเด่นโดยได้พยายามสร้างช่วงเวลาให้นักศึกษาได้เลือกเรียนวิชาที่เขาสนใจได้เพิ่มขึ้น เกือบ 1 ใน 4 ที่จะเลือกวิชาที่สนใจ ใช้เวลาเรียนเท่ากัน และสอดแทรกกระบวนการคิด การพัฒนาแนวคิดวิจัยแต่ปี 1 พอเข้าสู่ชั้นปีที่ 3 จะเริ่มทำการวิจัยนำร่อง และทำเต็มตัวในปีที่ 4 ขณะเดียวกัน ทุกคนจะได้เรียนในหลากหลายวิชาที่น่าสนใจและต่างจากที่อื่นๆ เช่น วิชา Creative thinking and innovation เป็นการบูรณาการศาสตร์ทางด้านการออกแบบสู่วิชาแพทย์เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม วิชา Arts and sciences of clinical diagnosis การศึกษาศาสตร์และศิลป์ในการวินิจฉัยโรค ปรัชญาทางการแพทย์ และกลยุทธ์การวินิจฉัยโรคอย่างมีประสิทธิภาพ วิชา Principles of biomedical engineering วิศวกรรมชีวการแพทย์เป็นการบูรณาการศาสตร์ด้านวิศวกรรมศาสตร์และการแพทย์ เพื่อพัฒนาการประดิษฐ์อุปกรณ์ทางการแพทย์และอวัยวะเทียม เป็นต้น

๐เฟ้น “ว่าที่หมอ” เข้มข้นทุกขั้นตอน

จะเห็นได้ว่าในปีการศึกษา 2561 แม้จะมีผู้สมัครกว่า 100 รายแต่ก็คัดเลือกเพียง 27 คน เพราะมีการคัดเลือกที่เข้มข้น คณะแพทย์ สจล.มีการประกาศหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ และการกระบวนการคัดเลือกไว้ชัดเจน โดยเป็นนักเรียนที่จบการศึกษาชั้นปีที่ 6 หรือเทียบเท่าตามระบบการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ หรือระดับGrade 12 ตามระบบการศึกษาแบบอเมริกัน หรือ ระดับ Year 13 ตามระบบการศึกษาแบบอังกฤษ ต้องมีผลการทดสอบวัดความสามารถทางวิชาการ ซึ่งให้เลือกยื่นด้านใดด้านหนี่ง ได้แก่ กรณียื่น SAT Subject test (SAT II) ทั้ง 3 วิชา คือ ชีววิทยา เคมี และคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์(เลือกวิชาใดวิชาหนึ่ง) แต่ละรายวิชาต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 600 คะแนน และกรณียื่น BioMedical Admissions Test (BMAT) Section 1 และ 2 คะแนนแต่ละส่วนไม่ต่ำกว่า 4.0 และSection – 3 คะแนนไม่ต่ำกว่า 2.5C และต้องมีผลการสอบวัดความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ TOEFL หรือ IETS ที่สำคัญนักเรียนจะต้องเขียนหนังสือแนะนำตัว (Personal Statement) มาว่าทำไมเขาถึงคิดว่าตนเองเหมาะจะเป็นแพทย์ และความคาดหวัง
เมื่อตรวจสอบเอกสารประกาศสอบสมภาษณ์ จะคัดเลือกเข้ามาสัมภาษณ์ 2 เท่าของจำนวนรับ โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบ Multiple Mini Interview แบ่งเป็น 5 สถานี แต่ละสถานีใช้เวลา 8 นาที ประกอบด้วย การคิดอย่างมีวิจารณญาณ, แรงจูงใจความเป็นแทพย์, ทักษะสื่อสาร ,เหตุการณ์ปัจจุบันหรือประเด็นทางสังคม (Social Issues) และการตัดสินใจเชิงจริยธรรม โดยทุกสถานีจะมีอาจารย์ 2-3 คนเป็นผู้สัมภาษณ์พิจารณาและให้คะแนน ส่วนค่าธรรมเนียมการศึกษาแบบเหมาจ่าย ภาคการศึกษาละ 495,000 บาท.








กำลังโหลดความคิดเห็น