3 มหาวิทยาลัย “จุฬา-ขอนแก่น-รังสิต” ร่วมทีมวิจัย “น้ำมันกัญชา” สูตร “อ.เดชา” จ่อยื่นอนุมัติโครงการจาก คกก.ยาเสพติดฯ ต้น พ.ค.นี้ ขอของกลางจาก ป.ป.ส.สกัดทำน้ำมันกัญชา พร้อมชงเป็นตำรับภูมิปัญญาดั้งเดิม เผยหากผ่านอนุญาตวิจัยในคน แจกยาผู้ป่วยเพื่อวิจัยได้ทันที ดึงผู้ป่วยเก่า อ.เดชา 5 พันคนร่วมวิจัย เพื่อไม่ให้ขาดยา หมอจุฬาฯ เสนอดึงกลุ่มใต้ดินขึ้นมาร่วมรักษาคนผ่านองค์กรกลาง หนุนผู้ป่วยรวมตัวเรียกร้องสิทธิเข้าถึงยากัญชาหลังพ้นนิรโทษ
วันนี้ (18 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่อาคารโอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการประชุมร่วมกันระหว่าง 11 องค์กร เพื่อหาแนวทางสนับสนุนการวิจัยน้ำมันกัญชาของนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี และไม่ให้กระทบกับผู้ป่วยที่มารับน้ำมันกัญชาจากนายเดชากว่า 5,000 คน ประกอบด้วย จุฬาฯ ม.ขอนแก่น ม.รังสิต กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี มูลนิธิข้าวขวัญ และภาคประชาสังคม โดยใช้เวลาประชุมนานเกือบ 3 ชั่วโมง
เมื่อเวลา 12.00 น. ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ แถลงข่าวภายหลังการหารือว่า ทั้งหมดเห็นตรงกันว่าจะร่วมกันขับเคลื่อนโครงการวิจัยน้ำมันกัญชาของ อ.เดชา โดยจะยื่นขออนุมัติโครงการจาก อย.ในช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้ และขออนุมัติคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ช่วงกลาง พ.ค. นอกจากนี้ จะเสนอคณะกรรมการการแพทย์แผนไทยพิจารณาให้น้ำมันกัญชาตำรับ อ.เดชา เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม สำหรับการผลิตน้ำมันกัญชาจะดำเนินการขอของกลางจาก ป.ป.ส. และจะประสานของบสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยความรู้ที่เกิดจากการวิจัยนี้จะมอบให้เป็นสมบัติสาธารณะ ส่วนในอนาคตจะเดินหน้าวิจัยองค์ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของสายพันธุ์กัญชา และสารออกฤทธิ์กัญชา
นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า จากนี้จะมีอีก 3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ อ.เดชา คือ 1. การพิจารณารับรองเป็นหมอพื้นบ้านของ สสจ.สุพรรณบุรี คาดว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์ 2. หลัง อ.เดชาเป็นหมอพื้นบ้าน จะเข้าอบรมหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์ของกรมฯ วันที่ 29-30 เม.ย.นี้ หากผ่านเกณฑ์การประเมิน ก็จะส่งเรื่องให้ อย.ออกใบอนุญาตเป็นหมอพื้นบ้านที่สั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์ได้ ตรงนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และ 3. หาก อ.เดชาจะใช้น้ำมันกัญชาสูตรของตนเอง ซึ่งนอกเหนือจากที่อนุญาตให้ใช้ 16 ตำรับ ก็ให้เอาสูตรมานำเสนอให้คณะกรรมการกรมการแพทย์แผนไทยฯ พิจารณาว่า เป็นไปตามภูมิปัญญาดั้งเดิมหรือไม่ ซึ่งไม่เกิน 2 สัปดาห์ หากเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมและงานวิจัยออกมาว่า ตำรับนี้ดี ก็สามารถเอามาขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณกับ อย.ได้
“หากยื่นตำรับของ อ.เดชา เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม ตามข้อกำหนดองค์การอนามัยโลก กำหนดว่า ภูมิปัญญาดั้งเดิมไม่ต้องผ่านการศึกษาวิจัยในระดับหลอดทดลอง และสัตว์ทดลองว่ามีสารอะไรบ้าง ก็จะเร่งพิจารณาตรงนี้ก่อน จากนั้นเมื่อยื่นคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ก็จะง่ายขึ้น” นพ.ปราโมทย์กล่าว
ภก.วชิระ อำพนธ์ ที่ปรึกษา อย.กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้ทางจุฬาฯ จะเป็นผู้ดำเนินการยื่นวัตถุประสงค์การวิจัยต่อคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ ซึ่งจะมีการประชุมทุกเดือน โดยอาจจะเป็นต้นเดือน พ.ค.นี้ แต่คาดว่าไม่น่ามีปัญหาในการอนุมัติดำเนินการ ส่วนข้อกังวลว่า หลังจากวันที่ 19 พ.ค.นี้ หรือหลังนิรโทษจะมีกัญชาใช้หรือไม่ โครงการศึกษาวิจัยนี้จะตอบโจทย์ 2 ทาง คือ ได้การศึกษาวิจัยด้วย และผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้และมาร่วมโครงการนี้ก็จะสามารถใช้กัญชาบำบัดรักษาตนเองได้
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย ม.รังสิต กล่าวว่า ตอนนี้คนสนใจว่าหลังวันที่ 19 พ.ค.หรือหลังพ้นช่วงนิรโทษกรรมจะมีโอกาสใช้น้ำมันกัญชาของ อ.เดชาหรือไม่ สิ่งที่ประชาชนจะมั่นใจประการหนึ่ง คือ จะมีการตรวจผลิตภัณฑ์ว่ามีความปลอดภัยและทุกคนใช้ได้ ก็จะเป็นหลักประกันให้ภาครัฐสบายใจมากขึ้นว่าการวิจัยในมนุษย์มีความปลอดภัย และสิ่งที่น่าสนใจ คือ เป็นพันธุ์พืชของไทยเป็นพันธุ์ไทย ภูมิปัญญาของไทย เป็นประโยชน์ต่อคนไข้ และการวิจัยเป็นช่องทางออกให้ทุกคนมีส่วนร่วมให้ปรากฏการณ์อ.เดชา ให้ดำเนินการต่อไปได้
นายปานเทพกล่าวว่า ส่วนเรื่องการแจ้งครอบครองกัญชากับ อย.กว่าพันคน จากการพูดคุยกับเครือข่ายต่างๆ พบว่า ตัวเลขของผู้ที่แอบใช้กัญชาใต้ดินอาจอยู่ที่ 8 แสนคนไปจนถึง 2 ล้านคน สะท้อนว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ไม่มีขั้นตอนทางออก คนส่วนใหญ่ก็จะยังใช้ใต้ดิน ซึ่งไม่สามารถตรวจคุณภาพ ความปลอดภัย และราคาผลิตภัณฑ์ได้เลย ดังนั้น ต้องมาวิเคราะห์ว่า เพราะอะไรประชาชนถึงไม่มาขึ้นทะเบียน สิ่งสำคัญรัฐต้องไปแก้กฎหมายให้ผู้ป่วยมีสิทธิเข้าถึงกัญชารักษาโรคได้ในระหว่างที่รัฐยังไม่สามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย
นายเดชากล่าวว่า ความตั้งใจหลักของตน คือ ให้ผู้ป่วยได้รับยาเร็วที่สุดและมากที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยเก่าของตนกว่า 5 พันคนที่กำลังรอยาอยู่ และผู้ป่วยใหม่ที่จะมารอรับยา ซึ่งจะให้ตนทำอะไรก็ทำ เพื่อให้ถูกกฎหมายและเข้ากระบวนการได้ ทั้งเป็นหมอพื้นบ้าน เข้าอบรม เป็นนักวิจัยก็จะทำ ไม่ใช่เพื่อใครแต่เพื่อผู้ป่วย ส่วนหลังจากพ้นเรื่องแจกยาให้ผู้ป่วยได้แล้ว สิ่งที่ตนจะทำเพิ่มคือผลักดันให้กฎหมายเกี่ยวกับกัญชาดีขึ้น ไม่เป็นอุปสรรคอย่างที่ผ่านมา ทั้งนี้ ของกลางที่จะขอ ป.ป.ส.มาใช้ คงใช้ของกางที่ยึดจากมูลนิธิข้าวขวัญไม่ได้ เพราะเป็นต้นกัญชา หากจะปลูกใหม่ก็ต้องรอออกดอกถึง พ.ย. คงต้องนำของกลางที่ ป.ป.ส.มีอยู่หลายเกรดมาตรวจก่อนว่ามีสารอะไรปนเปื้อนหรือไม่ หากไม่มีก็เข้าสู่กระบวนการวิจัย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการทำน้ำมันกัญชาก็เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็ให้ผู้ป่วยและจดบันทึกว่าอาการอะไรดีขึ้นบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นไมเกรน ปวดเนื้อปวดตัว ภูมิคุ้มกันดีขึ้น หรือการดูแลดวงตา เป็นต้น
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หลังพ้นวันนิรโทษคือวันที่ 19 พ.ค. ปัญหาคือ ผู้ป่วยที่ใช้ยาที่มีส่วนประกอบของกัญชาจะทำอย่างไร เมื่อไม่พอใช้ หรือหาไม่ได้ เพราะเชื่อว่ารัฐไม่สามารถตอบสนองตรงจุดนี้ได้เพียงพอ เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ ทางผู้ป่วยทุกคนต้องช่วยกันออกมาเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงการรักษา ขณะเดียวกัน ต้องเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ใต้ดิน หรือผู้ที่มีความรู้ในการใช้กัญชารักษาโรคที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาบนดิน เพื่อให้มาช่วยเหลือในการใช้กัญชารักษาโรค เพราะเขามีองค์ความรู้ เพื่อมาช่วยหรือเสริมแพทย์แผนปัจจุบันที่จะอบรมการใช้กัญชารักษาโรคจำนวน 200 คน ซึ่งไม่มีทางพอและไม่อาจยังไม่มั่นใจกับการใช้กัญชา เท่าที่หารือเสนอว่าจะมีสถาบันหนึ่งเป็นองค์กรกลาง ประสานกลุ่มคนใต้ดินเหล่านี้ขึ้นมา ให้มั่นใจว่าจะไม่มีโทษ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาด้วยกัญชาให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการใช้แบบแอบๆ ซ่อนๆ เช่นเดิม จึงต้องรีบเตรียมพร้อมก่อนจะพ้นกำหนด 90 วันนิรโทษครอบครองกัญชา
รศ.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า ม.ขอนแก่นจะเป็นทีมวิจัยร่วม และเน้นเรื่องการติดตามการใช้น้ำมันกัญชาจากงานวิจัยที่จะเก็บข้อมูลไปข้างหน้า ส่วนเรื่องของการผลิตและการเตรียมสารสกัดน้ำมันกัญชาจะใช้องค์ความรู้ของ อ.เดชา
ภญ.สุรางค์ ลีละวัฒน์ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า ม.รังสิตจะเป็นหน่วยร่วมวิจัย สนับสนุนเรื่องการดูแลผลิตภัณฑ์ ควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบัญชีเงินบริจาคที่ทางมูลนิธิข้าวขวัญ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิสุขภาพไทย ได้เปิดบริจาคเพื่อช่วยทางคดีต่ออาจารย์เดชานั้น ขณะนี้ได้ปิดบัญชีและได้มอบให้อาจารย์เดชา เป็นจำนวนเงิน 1,299,893.76 บาท