"อ.เดชา" คุณสมบัติผ่านขึ้นทะเบียน "หมอพื้นบ้าน" ยื่นเอกสารแล้ว รอ สสจ.สุพรรณบุรีพิจารณา เตรียมเข้าอบรมวันที่ 29-30 เม.ย.นี้ เพื่อสั่งจ่ายยากัญชาแผนไทยได้ พร้อมดันเป็นนักวิจัยกัญชา จ่อประชุมใหญ่ร่วม 11 องค์กร ทั้งม.รัฐ-เอกชน อย. ป.ป.ส. กรมแพทย์แผนไทยฯ วันที่ 18 เม.ย. หารูปแบบขับเคลื่อนงานวิจัย ให้ผู้ป่วยกว่า 5,000 คนไม่ต้องขาดยา
วันนี้ (17 เม.ย.) เมื่อเวลา 08.30 น. ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี พร้อมด้วย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย ม.รังสิต น.ส.รสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และ นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย เข้าหารือร่วมกับ นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ โดยใช้เวลาในการหารือนานเกือบ 3 ชั่วโมง
นพ.มรุต กล่าวภายหลังหารือว่า การเป็นหมอพื้นบ้านหรือไม่นั้น จากการพูดคุย อ.เดชา มีส่วนในการดูแลผู้ป่วยบริเวณโดยรอบพื้นที่ เป็นการรักษาแบบพื้นบ้านมาก่อนนานแล้ว ส่วนกัญชานำมาใช้ภายหลัง ดังนั้น การรับรองหมอพื้นบ้านของ อ.เดชา จึงเป็นการรับรองโดยการใช้สมุนไพรอื่น ไม่ใช่กัญชา ซึ่งจากหลักเกณฑ์ 8 ข้อของการเป็นหมอพื้นบ้าน คุณสมบัติของ อ.เดชาก็น่าจะสอดคล้อง คือ 1.มีผู้มารับบริการสม่ำเสมอต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ปี 2.สืบทอดความรู้จากบรรพบุรุษหรือองค์ความรู้จากท้องถิ่น 3.มีความสามารถในการบำบัดรักษาโรค 4.ไม่หวงวิชา 5.มีการถ่ายทอดความรู้ 6.ไม่เรียกร้องค่ารักษามากเกินควร 7.เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน และ 8.มีคุณธรรม อย่างไรก็ตาม กระบวนการพิจารณาหมอพื้นบ้านได้มอบอำนาจให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สุพรรณบุรี ซึ่งคาดว่าใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1-2 สัปดาห์
นพ.มรุต กล่าวว่า สำหรับการดูแลผู้ป่วยที่ใช้น้ำมันกัญชาของ อ.เดชา หลักการ คือ ต้องคุ้มครองผู้บริโภค ต้องได้รับน้ำมันกัญชาที่ไม่มีจุลินทรีย์ ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา รวมถึงไม่มียาฆ่าแมลงและสารปนเปื้อนโลหะหนักต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์ทราบต่อไป ส่วนผู้ป่วยที่ใช้ไปแล้วเกิดประโยชน์หรือได้ผลอย่างไร ต้องมีการวิจัยทดลอง โดยจะมีการหาทางออกในการประชุมคณะทำงานชุดใหญ่ วันที่ 18 เม.ย. 2562 ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลา 09.00 น. ทั้งนี้ ของกลางที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ตรวจยึดไปนั้น กรมฯ จะทำหนังสือขอใช้ประโยชน์ โดยมีการตรวจสอบการปนเปื้อนจุลชีพ ยาฆ่าแมลง สารตกค้างต่างๆ
นายเดชา กล่าวว่า ตนทำหน้าที่เป็นหมอพื้นบ้านมานานมากกว่า 10 ปีตามเงื่อนไข โดยเฉพาะการใช้สมุนไพร "รางจืด" ในการดูแลสุขภาพเกษตรกรที่ได้รับสารพิษจากยาฆ่าแมลง โดยทำมาตั้งแต่ปี 2530 กว่าๆ ส่วนกัญชามาเริ่มเมื่อปี 2556 โดยย้ำว่าทำในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับมูลนิธิข้าวขวัญ เพราะกลัวจะเป็นมะเร็งเสียชีวิตแบบมารดา จึงยอมทำเรื่องผิดกฎหมายมากกว่าตาย แต่เมื่อทำส่วนตัวแล้วพบว่าได้ผล จึงนำมาทำประโยชน์ต่อผู้อื่นโดยการแจก อย่างไรก็ตาม แม้จะผิดกฎหมาย แต่กฎหมายเปลี่ยนได้ โดยต้องทำให้คนเห็นความสำคัญและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย
นายเดชา กล่าวว่า ตนเป็นห่วงคนไข้ที่เคยได้รับน้ำมันกัญชากว่า 5,000 รายจะขาดยา การจะให้ได้ยาอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายปัจจุบัน โดยตนจะต้องเป็นหมอพื้นบ้าน ซึ่งขณะนี้ก็ส่งทีมงานไปยื่นเรื่องแล้ว อยู่ระหว่างรอการพิจารณา และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำวิจัยในคนไข้จริง เพื่อที่จะสามารถแจกน้ำมันกัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป แต่ขณะนี้ต้องระงับการแจกไปก่อน ต้องรอการหารือในวันที่ 18 เม.ย.นี้ว่า จะขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร ซึ่งหลักการคือหลังด้รับอนุญาตให้ดำเนินการอย่างถูกกฎหมาย กระบวนการคร่าวๆ น่าจะอยู่ที่ 2-3 สัปดาห์ จึงจะสามารถแจกยาและวิจัยได้ โดยกัญชาจะนำมาจาก ป.ป.ส. โดยมีการคัดเกรดที่ไม่มีการปนเปื้อน ส่วนการสกัดจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงเป็นการตรวจสอบน้ำมันกัญชาว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง จึงจะสามารถแจกให้ผู้ป่วยและเข้าสู่กระบวนการวิจัยเก็บข้อมูลได้ อย่างไรก็ตาม จากการแจกน้ำมันกัญชาแก่ผู้ป่วยทั้ง 5,000 คน เบื้องต้นที่มีการเก็บข้อมูลพบว่า ให้ผลที่ดีมากและมีความปลอดภัย เช่น โรคตาต่างๆ พาร์กินสัน ไมเกรน
นายปานเทพ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการตอนนี้ คือ ทำให้ อ.เดชาเป็นหมอพื้นบ้าน และเข้ามาร่วมในกระบวนการวิจัยกัญชา ซึ่งจะถือว่าเป็นผู้วิจัยหนึ่งทำให้ได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ซึ่งในการหารือวันที่ 18 เม.ย. ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ จะเป็นการหารือร่วมระหว่าง 11 องค์กร ซึ่งมีทั้งภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ป.ป.ส. กรมแพทย์แผนไทยฯ มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน ซึ่งมีการสอนแพทย์และเภสัชศาสตร์ ทั้ง จุฬาฯ ม.ขอนแก่น ม.รังสิต และภาคประชาสังคมต่างๆ ว่าแต่ละส่วนจะเข้ามาร่วมขับเคลื่อนสนับสนุน อ.เดชาอย่างไร ซึ่งในส่วนของการดำเนินการวิจัยนั้นก็จะต้องยื่นเรื่องขออนุญาตให้ถูกกฎหมาย ทั้ง อย. และคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์
"การทำน้ำมันกัญชาของ อ.เดชา ถือว่าสอดคล้องกับหลักการแพทย์แผนไทย คือ ปริมาณที่ใช้ไม่มากเกินไปจนเกิดอาการมึนเมา เน้นความสมดุลของร่างกายและจิตใจ การสกัดน้ำมันกัญชาก็ต่ำกว่า 3% มีความปลอดภัย แต่หลังจากนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนการวิจัยแล้ว กัญชาที่จะนำมาสกัดนั้น ในส่วนของของกลางที่ ป.ป.ส.ยึดมานั้นมีหลายเกรด ซึ่งเกรดระดับทางการแพทย์ก็มี ต้องไปคัดเลือก และเมื่อสกัดแล้วก่อนนำมาใช้จะต้องตรวจสอบว่ามีความปลอดภัยจริงจากสารโลหะหนัก ยาฆ่าแมลงต่างๆ เชื้อโรคต่างๆ ด้วย" นายปานเทพ กล่าว
นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า นอกจากขึ้นทะเบียนเป็นหมอพื้นบ้านแล้ว การจะสั่งจ่ายยากัญชาจำเป็นที่จะต้องผ่านการอบรม เพื่อไปขออนุญาตสั่งจ่ายยากัญชาจาก อย. ดังนั้น อ.เดชา ก็จะมาอบรมหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทยของกรมแพทย์แผนไทยฯ ด้วย ซึ่งจะมีการอบรมรุ่นแรกวันที่ 29-30 เม.ย.นี้ ที่โรงแรมทีเคพาเลซ จำนวน 150 คน ซึ่งเป็นการอบรมครู ก เพื่อไปเป็นวิทยากรอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทยตามภูมิภาคต่อไป ส่วนสูตรตำรับยาที่มีกัญชาผสมที่สั่งจ่ายได้นั้น นอกจาก 16 ตำรับยาแผนไทย ซึ่งกำลังออกประกาศมานั้น จะต้องมีกรรมการพิจารณา ซึ่งหากได้ประโยชน์ก็จะอนุญาตให้ใช้ในแบบการวิจัยได้ สำหรับผู้ป่วย 5,000 คนนั้น เชื่อว่าส่วนหนึ่งมีน้ำมันกัญชาที่ได้รับแจกอยู่ที่จะใช้ไปก่อนได้ แต่หากไม่มียาและจำเป็นต้องใช้ อ.เดชา สามารถเสนอรายชื่อผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเฉพาะรายต่อคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ ที่จะมีการประชุมกันทุกเดือนอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถใช้ได้