xs
xsm
sm
md
lg

ชมรม ผอ.รพ.สต.ยื่น 18 ข้อเสนอ โอนย้ายภารกิจ รพ.สต.ไป อบจ.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชมรม ผอ.รพ.สต.ยื่น 18 ช้อเสนอกรณีโอนย้ายภารกิจ รพ.สต.จาก สธ.ไป อบจ. เชื่อมีโอกาสก้าวหน้ามากกว่าไปท้องถิ่น เหตุมีงบ มีตำแหน่ง ไม่กระทบระบบการส่งต่อ

วันนี้ (16 เม.ย.) นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ผอ.รพ.สต.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.ไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ว่า ขณะนี้ รพ.สต.กว่า 9,800 แห่ง ต่างต้องเตรียมความพร้อมในการถ่ายโอนภารกิจ คล้ายกับการย้ายบ้าน จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปยังท้องถิ่น ซึ่งเดิมถูกถ่ายโอนไปแล้ว 51 แห่ง ไปเทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ครั้งนี้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(กก.ถ.) ได้มีการประชุมและจัดทำเป็นแผน 3 เตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อตั้งคณะทำงานเตรียมการถ่ายโอน รพ.สต.ไปยัง อบจ.แทน ซึ่งจะทำให้มีความก้าวหน้าในการทำงานมากขึ้น

“การอยู่ในเทศบาล หลายแห่งก็มีศักยภาพ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการสนับสนุนงบประมาณ ค่าตอบแทน บุคลากร เนื่องจากงบส่วนนี้ของท้องถิ่นจะจำกัดประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ หากไปอยู่ใน อบจ. ยังมีเม็ดเงินมากพอในการสนับสนุนทั้งการเติมเงิน เติมของ ความก้าวหน้าในสายงาน อย่างโอกาสขึ้นเป็นชำนาญการพิเศษระดับ 8 ก็จะมีขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายให้ขึ้นได้ แต่ปัจจุบันด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ติดอยู่ที่ระดับ 7 เท่านั้น ดังนั้น หากเปลี่ยนผ่านไปอยู่ อบจ.ย่อมมีโอกาสมากกว่า” นายสมศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายคนกังวลว่า หากถ่ายโอนไปอบจ. ในลักษณะพวงบริการ คืออะไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เดิมการถ่ายโอนจะไปแบบ รพ.สต.เดี่ยวๆ ไปยังท้องถิ่นนั้นๆ แต่รูปแบบ อบจ. จะดูแลทั้งจังหวัด ซึ่ง รพ.สต.ที่ไปก็จะต้องผ่านการประเมินก่อน ทั้งตัวรพ.สต. และบุคลากร ซึ่งในกรณีนี้ หากบุคลากรไม่พร้อม ไม่ผ่านการประเมิน ก็ไปเฉพาะรพ.สต. และค่อยจัดหาบุคลากรมาเติม ซึ่งจะใช้งบของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแทน

เมื่อถามว่า การไปสังกัดอื่นจะส่งผลกระทบต่อการส่งต่อผู้ป่วยไปยังรพ.ในสังกัด สธ.หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องมีการหารือร่วมกัน เพราะจากของเดิมที่ถ่ายโอนไป 51 แห่งก็ยังยึดโยงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองอยู่ มีการประสานกับทางโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปของ สธ.อยู่ แต่ในอนาคต อบจ.อาจจะมีการตั้งรพ.ของตนเองขึ้น คล้ายรูปแบบโรงเรียนแพทย์ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างต้องยึดประชาชนเป็นหลัก เพื่อการบริการที่ดีต่อประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชมรม ผอ.รพ.สต. ได้จัดทำข้อเสนอแก่ อบจ. ระบุว่า เพื่อให้การถ่ายโอนภารกิจเป็นไปอย่างเรียบร้อย ชมรมผอ.รพ.สต. ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มข้าราชการ ลูกจ้าง ที่ปฏิบัติงานใน รพ.สต. 9,863 แห่ง เป็นกลุ่มข้าราชการ ลูกจ้าง ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการถ่ายโอนภารกิจ จึงขอเสนอปรับปรุง แก้ไขกฎหมาย ระเบียบ มติ ของคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.) และคณะกรรมการข้าราชการ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.อบจ.) เพื่อประโยชน์ในการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ได้โปรด พิจารณามีมติเห็นชอบ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

1. ให้คณะกรรมการฯ ผู้มีอำนาจ พิจารณาให้ความเห็นชอบ และอนุมัติการจัดตั้งกองสาธารณสุขใน องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มีความประสงค์รับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. 2. ให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) เร่งรัดให้ผู้ว่าราชการ จังหวัดทุกแห่ง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการถ่ายโอนภารกิจสาธารณสุข ให้แก่องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นระดับจังหวัด 3. ให้คณะกรรมการฯ ผู้มีอำนาจพิจารณาเทียบเคียงตำแหน่งข้าราชการพลเรือน ตามพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 กับข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.... และหรือกฎหมายระเบียบการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ให้ตำแหน่ง ผู้อำนวยการ รพ.สต. เทียบเคียงกับตำแหน่งนักบริหารงานสาธารณสุขฯ

4.ให้คณะกรรมการฯ ผู้มีอำนาจพิจารณายกเว้นระเบียบฯ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ระยะเวลา การถือครองตำแหน่ง และหรือการสอบ เพื่อประโยชน์ในการรับโอน บรรจุ แต่งตั้ง 5. ให้คณะกรรมการฯ ผู้มีอำนาจพิจารณา อนุมัติให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ใช้โครงสร้าง กรอบอัตรากำลัง รพ.สต. ของกระทรวงสาธารณสุข ตามขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ที่ผ่านมติ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข 6. ให้คณะกรรมการฯ ผู้มีอำนาจพิจารณาให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ที่เคยปฏิบัติงานใน รพ.สต. ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ถ่ายโอนตามกฎหมายการกระจายอำนาจ ได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูง (เงินเดือนเลื่อนไหล) เหมือนสิทธิที่เคยได้รับจากสิทธิของข้าราชการพลเรือนสามัญ

7.ให้คณะกรรมการฯ ผู้มีอำนาจพิจารณาให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ที่เคยปฏิบัติงานใน รพ.สต. ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ถ่ายโอนตามกฎหมายการกระจายอำนาจ มี สิทธิได้รับเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่ไม่ต่ำกว่าเดิม 8. ให้คณะกรรมการฯ ผู้มีอำนาจพิจารณาให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ลูกจ้าง ที่เคยปฏิบัติงานใน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนตามกฎหมายการกระจาย อำนาจ ให้ได้รับค่าตอบแทนวิชาชีพ เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานให้บริการด้าน การแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรรม พยาบาล เทคนิคการแพทย์ รังสีการแพทย์และกายภาพ (เงิน พตส.) ค่าตอบแทนการปฏิบัติงาน ตามระเบียบฯ ของกระทรวงสาธารณสุข (ฉ.5, ฉ.10, ฉ11) และค่าตอบแทนอื่นที่ พึงได้รับมาแต่เดิม

9. ให้คณะกรรมการฯ ผู้มีอำนาจพิจารณาให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ลูกจ้าง ที่เคยปฏิบัติงานในรพ.สต. ที่ถ่ายโอนตามกฎหมายการกระจาย อำนาจมีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลเหมือนสิทธิที่เคยได้รับจากสิทธิของข้าราชการพลเรือนสามัญ 10. ให้คณะกรรมการฯ ผู้มีอำนาจ พิจารณาให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ที่เคยปฏิบัติงานใน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนตามกฎหมายการกระจายอำนาจ มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการเหมือนเดิม และในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเดิม 11. ให้คณะกรรมการฯ ผู้มีอำนาจพิจารณาให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ลูกจ้าง ที่เคยปฏิบัติงานใน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนตามกฎหมายการกระจายอำนาจ คงสภาพสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ตนเป็นสมาชิก และคงสิทธิเงินฝาก เงินกู้ ตามกฎหมายสหกรณ์ทุกประการ

12. ให้คณะกรรมการฯ ผู้มีอำนาจพิจารณาให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ลูกจ้าง ที่เคยปฏิบัติงานใน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนตามกฎหมายการกระจาย อำนาจ ให้ได้รับเงินโบนัส เหมือนข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น 13. ให้คณะกรรมการฯ พิจารณาให้มีการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ทั้งคน เงิน ของ ทรัพย์สิน (รวมลูกจ้างทุกประเภทที่ รพ.สต.จ้างไว้แล้ว) 14. ให้คณะกรรมการฯ จัดสรรเงินโครงการหลักประกันสุขภาพ ด้วยวิธีการโอน ตรงเป็นค่าบริหารจัดการด้านการสาธารณสุข (Fixed Cost) ให้แก่ รพ.สต. และให้มีการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพ และระบบการสาธารณสุข ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การ ส่งส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เชื่อมโยงกับระบบ สุขภาพปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และระบบการส่งต่อกับกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่กระทบความเสียหายแก่ ราชการ และเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

15. ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาสนับสนุนเงินเพื่อการพัฒนาการสาธารณสุข ให้แก่รพ.สต. ปีละ 1 ล้าน/แห่ง/ปี หรือมากกว่า เหมือนที่เคยสนับสนุน ให้แก่รพ.สต. ที่เคยถ่ายโอนมาแล้ว 16. ให้คณะกรรมการฯ พิจารณารับถ่ายโอนคน เงิน ของ และทรัพย์สินทุกอย่างของ รพ. สต. (รวมลูกจ้างทุกประเภทที่ รพ.สต.จ้างไว้แล้ว) 17. ให้คณะกรรมการฯ แต่งตั้งให้ผู้อำนวยการรพ.สต. / ผู้อ านวยการสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ ลูกจ้างในหน่วยงาน โดยให้มีฐานะ เทียบเท่ากอง เหมือนที่กระทรวงสาธารณสุขมอบหมาย และมอบอำนาจในการก่อหนี้ผูกพันตามกฎหมายว่า ด้วยการพัสดุ และ18. ให้คณะกรรมการฯ บริหารจัดการให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เชื่อมประสานการทำงานด้านสุขภาพและการสาธารณสุขภาคประชาชน เพื่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน เหมือนกับตอน ขณะที่ รพ.สต. อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข


กำลังโหลดความคิดเห็น