xs
xsm
sm
md
lg

อลังการ “คิง เพาเวอร์” จับมือ “มหิดล” ประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ตั้งเป้า 10 ปี ผลักดันอุตสาหกรรมดนตรีไทยสู่ระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กระหึ่มโลก กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน “Thailand International Wind Symphony Competition 2019” การประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ประจำปี 2562 ภายใต้โครงการ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ทั่วโลกแห่ร่วมงาน ชิงรางวัลชนะเลิศ 4 ล้าน และครั้งแรกของ “บอดี้สแลม” กับการโชว์คอนเสิร์ตร่วมกับวงดุริยางค์เครื่องเป่า มหิดล Wind Orchestra

อลังการงานสร้างจริง ๆ สำหรับงาน “Thailand International Wind Symphony Competition 2019” การประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ประจำปี 2562 โดย กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้โครงการ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย งานยิ่งใหญ่ระดับโลกที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในปีนี้ได้รับการตอบรับจากทั่วโลกเดินทางเข้ามาร่วมประกวดอย่างมากมาย ผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลมูลค่าสูงกว่า 4 ล้านบาท โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นที่ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล



ภายในงานได้รับเกียรติจาก คุณกิติมา ปวเรศกุล รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการเงิน กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ศาสตราจารย์ นพ. บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ดร. ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนถึงศิษย์เก่า และประชาชนทั่วไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแข่งครั้งนี้

บรรยากาศของการแข่งขัน ขับเคี่ยวกันมาหลายวัน จนในที่สุดก็มาถึงวันสุดท้าย เมื่อพิธีกรของงานเริ่มประกาศชื่อของผู้ชนะเลิศใน Class D คือ ทีม Ektra Sax Quartet พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท, รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม ZapZest Saxophone Quartet พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท, รองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม Ektra Clarinet Quartet พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท ส่วน Popular ทีม ตกเป็นของ DSRU Woodwind Ensemble พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท

จากนั้นก็ถึงคิวของ Class C ซึ่งทีมที่ชนะเลิศได้แก่ ทีม HKAPA Winds Ensemble พร้อมเงินรางวัล 200,000 บาท, รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม Siam Saxophone Quartet (SSQ) พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท, รองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม Bangkok Saxophone Collective พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และ Popular ตกเป็นของทีม ZeroBrass พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาทตามลำดับ

บรรยากาศในฮอลล์เริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมาถึง Class B โดยทีมชนะเลิศคือทีมหญิงล้วน Suranaree Girls Wind Symphony เฉือนเอาชนะแชมป์เก่าไปพร้อมเงินรางวัล 500,000 บาท ส่วนแชมป์เก่าอย่าง Ratwinit Bangkaeo Wind Symphony คว้ารองชนะเลิศอันดับ 1 พร้อมเงินรางวัล 300,000 บาท และทีม Suthiwararam Concert & Marching Band คว้าไป 2 รางวัลทั้งรองชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัล Poppula ไปครองอีกด้วย

มาถึง Class A ที่มีทั้งเงินรางวัลที่สูงและมีนักดนตรีมืออาชีพร่วมทีมกันอย่างคับคั่ง โดย ทีม Million Wind Philharmonic คว้ารางวัลชนะเลิศไปครองพร้อมเงินรางวัล 1,000,000 บาท และยังได้รางวัล Popular ไปอีกด้วย ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม Thailand Wind Philharmonia รับเงินรางวัล 400,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม Zalymanian Wind Orchestra พร้อมเงินรางวัล 300,000 บาท

ดร. ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ เผยถึงความสำเร็จในการจัดงานครั้งนี้ว่า เป็นการแข่งขันที่มีมาตรฐานระดับโลก มีผู้เข้าแข่งขันที่มาจากหลากหลายประเทศ รวมไปถึงคุณภาพในตัวของผู้เข้าแข่งขันมีความสามารถสูงและพัฒนามากขึ้นว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นความร่วมมืออันดีจาก กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ อยากพัฒนาดนตรีดุริยางค์ให้เป็นดนตรีอุตสาหกรรม สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับประเทศไทย ให้เวทีนี้กลายเป็นโมเดลการแข่งขันเครื่องเป่าจนโลกต้องหันมามองที่ประเทศไทย

“ปีนี้เป็นปีที่ถือว่าดีมากครับ ได้รับการตอบรับแบบคับคั่งมาก และกรรมการเองก็เอ่ยปากเลยว่า ไม่เคยไปงานการแข่งขันที่ไหนแล้วมีเสียงเชียร์ล้นหลามขนาดนี้ เป็นการแข่งขันที่มีคุณภาพสูง และเป็นการแข่งขันที่มีความเป็นกันเอง เพราะปกติบรรยากาศมักจะเครียด จึงทำให้กรรมการเครียดตาม แต่พอมาตัดสินการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติที่ประเทศไทย เรียกว่าเป็นการแข่งขั้นที่เปรียบเสมือนเป็นสังคมของคนรักดนตรีจริง ๆ ที่ไม่ใช่เพียงจะมาแค่แข่งขันเท่านั้นครับ”

“ส่วนเรื่องรางวัลก็สำคัญเช่นกัน แต่ไม่ใช่ที่สิ้นสุดของการประกวด เพราะวงเล็กของประเทศไทยที่ลงแข่งขันใน class C และ class B ปีนี้ค่อนข้างที่จะเตรียมตัวมาพร้อมมาก ถ้าเทียบกับปีที่แล้วต่างชาติจะเป็นคนชนะเกือบหมดผู้เข้าแข่งขันมีมาตรฐานสูงมาก มาปีนี้จึงต้องซ้อมให้หนักขึ้น แต่ละคนพยายามตั้งเป้าว่าปีหน้าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้นกว่าเดิม”

“การสนับสนุนของคิง เพาเวอร์ เป็นการจุดประกายความฝันของหลายๆ คน เพราะปีนี้บางวงอาจจะพลาดไป ปีหน้าเขาก็ตั้งใจมาใหม่ และหากได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี เท่ากับว่า มีโอกาสใหม่เสมอ ซึ่งความท้าทายตรงนี้ก็คือจะทำยังไงให้มาตรฐานของตัวเองสูงขึ้นและดีขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้ประเทศเรามีการพัฒนาดนตรีแบบก้าวกระโดด อีกอย่างคือเวทีนี้มาตรฐานสูง และอย่างที่สองคือมียุติธรรมแน่นอน กรรมการที่เราคัดสรรมาร่วมในการตัดสินล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียง และมีความเป็นมืออาชีพในวงการนี้ จึงเป็นการตัดสินด้วยความสามารถโดยแท้จริง”

“แม้วันนี้ประเทศเราส่วนใหญ่จะยังมองดนตรีว่า เป็นเพียงเรื่องของความบันเทิงหรืองานอดิเรก แต่ถ้าเราเริ่มต้นคิดว่า ดนตรีเป็นอุตสาหกรรมได้ เราผลิตนักดนตรีมืออาชีพที่มีคุณภาพได้และสร้างรายได้ นั่นจะเป็นการยกระดับดนตรีไปอีกขั้นอย่างแท้จริง”

“ในเวทีนี้เราไม่ได้มองแค่ผู้ชนะ แต่เราจะมองคนแพ้ด้วย และจะทำยังไงให้เราดูแลผู้แพ้จนในที่สุดเขาเป็นผู้ชนะในวันหนึ่งได้ อันนี้เป็นเรื่องภารกิจหลักที่ทางมหิดลและคิงเพาเวอร์คอยช่วยเหลืออยู่ และผมรู้สึกว่าศักยภาพของคนไทยมีเยอะมาก ในแง่ของดนตรีเรามีศักยภาพและความสามารถเทียบเท่าในระดับโลก เพียงแต่เรายังต้องมีคนสนับสนุนให้เขาค่อย ๆ โตขึ้นมาในแบบที่เขาเป็น” ดร. ณรงค์กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน จิ๊บ กัลยาณี พงศธร ครูสอนดนตรีอายุ 35 ปี หนึ่งในสมาชิกทีม Million Wind Philharmonic ที่คว้ารางวัลชนะเลิศและรางวัลป๊อปปูล่าโหวตไปครองใน Class A ได้เล่าถึงเบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ว่า เป็นการรวมตัวของรุ่นพี่รุ่นน้องที่เป็นนักดนตรีมืออาชีพระดับอาจารย์ มาร่วมวงกันกว่า 70 คน ต่างได้มาแชร์ประสบการณ์จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง และที่มากไปกว่านั้นก็คือความภาคภูมิใจ รอยยิ้มของคนดูคือความสุขของนักดนตรีที่แท้จริง

“จุดเริ่มต้นคือ เป็นความคิดของรุ่นพี่คนหนึ่งที่เป็นนักดนตรีว่า จะมาร่วมประกวดรายการนี้ เป็นการรวมเอารุ่นพี่รุ่นน้องที่รู้จักกันมารวมตัวกันกว่า 70 คน ซึ่งจะว่าง่ายก็ไม่ง่าย แต่จะว่ายากก็ไม่ยาก เพราะว่าทุกคนเป็นนักดนตรีมืออาชีพเป็นอาจารย์ แต่พอตัดสินใจมาร่วมงานนี้แล้ว ทุกคนอยากจะทำร่วมกัน ทุกคนก็เสียสละมาจัดตารางเวลาให้ และมาตั้งเป้าหมายกันว่าเราต้องพิชิตเงินล้านให้ได้ (หัวเราะ) ซึ่งเป็นเป้าหมายแรกที่เราคุยกัน”

“แต่เป้าหมายที่มากกว่านั้นคือ การที่เราเป็นนักดนตรีจากหลากหลายวงมารวมตัวกัน อยู่เป็นครอบครัวเป็นพี่เป็นน้องมีอะไรก็แชร์กัน และใช้ความสามารถได้เต็มที่ อาจจะเหนื่อยในการจัดเวลาแต่ก็คิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ในท้ายที่สุดแล้วถ้าเราอยากจะสร้างผลงานดี ๆ เราก็จะต้องก้าวข้ามสิ่งพวกนี้ไปได้เอง”

“รู้สึกดีใจมากที่ได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของวงเพราะไม่เคยได้เข้ามาแข่งขันวงขนาดใหญ่แบบนี้มาก่อน ถือว่าเป็นครั้งแรกในชีวิต วันนี้พูดได้เต็มปากว่าภูมิใจมาก เพราะการแสดงในแต่ละครั้งเบื้องหลังคือ การซ้อมไม่รู้กี่ร้อยครั้ง แต่โมเม้นต์ของคนที่อยู่บนเวทีรับบทเป็นนักแสดง และสายตาของคนดูจ้องมาที่เรา ทำให้เราเห็นว่า เขาชอบในสิ่งที่เรากำลังแสดงอยู่ เขามีความสุขกับดนตรีที่เราแสดงออกไป อันนั้นคือที่สุดของนักดนตรี มันคือความภาคภูมิใจที่สุดมากกว่าเงินรางวัลที่ได้รับ”

Suranaree Girls Wind Symphony แชมป์ใน Class B วงดนตรีผู้หญิงล้วน ความอดทนและตั้งมั่นคือสิ่งที่ “ครูอภิวุฒิ มินาลัย” ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะสารดนตรีสากล โรงเรียนสุรนารีวิทยา จังหวัดนครราชสีมา หล่อหลอมและผลักดันเด็ก ๆ ให้ประสบความสำเร็จแม้จะเป็นวงที่มาจากต่างจังหวัด และได้พิสูจน์ให้ทุกคนได้รู้แล้วว่าศิลปินกำเนิดได้ทุกที่

“เราจะสอนเด็ก ๆ เสมอว่า ไม่ได้ต้องการเอาชนะ แต่ให้เล่นดนตรีเพื่อดนตรี ถ้าได้รางวัลก็ถือว่าดีแต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะเราทำให้ดีที่สุดในทุก ๆ ครั้งก็พอแล้ว เราเป็นวงที่มาจากต่างจังหวัดได้มาร่วมประกวดในเวทีระดับโลกขนาดนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก ถ้าเด็ก ๆ ไม่ได้มาเห็นบรรยากาศจริง ๆ ในวันนี้เขาก็จะไม่มีแรงบันดาลใจ”

“โดยเริ่มจากการที่เราอธิบายให้เด็กและโรงเรียนฟังว่า บางครั้งเรามาประกวด เราอาจจะไม่ชนะ เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลาเด็ก ๆ ต้องพัฒนา ซึ่งโชคดีที่โรงเรียนเข้าใจ อย่างปีแรกแค่ได้เข้ารอบเพื่อให้เด็กได้มาเห็นบรรยากาศเราก็ดีใจมากแล้ว ส่วนปีที่ 2 เราตั้งเป้าว่าต้องเข้ารอบ 5 ทีม ซึ่งเราก็ได้อันดับที่ 3 และที่ผ่านมา ก็บอกเด็ก ๆ ว่า ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพื่อนเขาอาจจะเก่งกว่า เราก็แค่เรียนรู้แล้วกลับไปฝึกฝนมาใหม่ แต่ถ้าตกรอบแสดงว่าพวกเธอไม่ตั้งใจ แต่อยากให้ทุกคนเต็มที่ก่อน และยิ่งเป็นเด็กผู้หญิงยิ่งเครียด เพราะเด็กผู้หญิงจะมีอารมณ์คืองอนง่าย เจ้าอารมณ์ มีรายละเอียดเยอะมากกว่าเด็กผู้ชาย แต่เด็กผู้หญิงจะมีพลังมาก แล้วยิ่งถ้าไปดูถูกว่าได้แค่นี้เหรอ เด็ก ๆ พวกนี้คือซ้อมสู้ตาย ซึ่งวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ศิลปินก็สามารถกำเนิดเกิดได้ เด็ก ๆ ก็จะรู้เลยว่าจะเอาสิ่งเหล่านี้ไปพัฒนาต่อได้ การเล่นดนตรีประเภทเครื่องเป่าแต่ละเสียงยากมาก ไม่มีทางลัด ต้องอาศัยวิธีการซ้อมแบบซ้ำ ๆ”

ด้าน “ราชวินิต บางแก้ว” แม้จะพลาดตำแหน่งแชมป์ไปในปีนี้ แต่ น็อต ภานุวัตร พงษ์สะฟัง ประธานวงโยธาวาทิตทีม Ratwinit Bangkaeo Wind Symphony เผยถึงความหลงใหลในเสียงของเครื่องเป่าตั้งแต่ ป. 4 และวันนี้เขาได้ทำสำเร็จตามความฝันที่สามารถทำให้ทุกคนเพลิดเพลินไปกับเสียงดนตรีของเขา รวมไปถึงการเล่นดนตรียังทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปอีกด้วย

“ย้อนกลับไปวันที่ผมตัดสินใจเข้ามาเล่นดนตรี เมื่อตอน ป. 4 ผมไปเห็นวงดนตรีวงหนึ่ง เขาเล่นกันเป็นวง เราก็คิดว่าเราอยากจะเป็นหนึ่งในนั้น เราอยากจะเป็นคนสร้างเสียงดนตรีดี ๆ ให้คนอื่นฟัง เป็นจุดที่ทำให้ผมตัดสินใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเล่นดนตรีครั้งนี้ วันนี้ผมทำเต็มที่แล้ว ผมประสบความสำเร็จในสิ่งที่ผมตั้งใจแล้ว การเล่นดนตรีทำให้ชีวิตผมดีขึ้น และทำให้การเรียนของผมดีขึ้นด้วยครับ ขอบคุณคิง เพาเวอร์ ที่เห็นความสำคัญของดนตรี และช่วยสนับสนุนให้เยาวชนได้แสดงออกในสิ่งดี ๆ ครับ”



กำลังโหลดความคิดเห็น